KEF LS50 Meta และ KEF KC62 ผสานความลงตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน โจทย์ที่ว่า ถ้ามีลำโพงสองทางขนาดเล็กหรือขนาดกลาง แล้วต้องการอัพคุณภาพมากยิ่งขึ้น สมควรเปลี่ยนเป็นลำโพงตั้งพื้นหรือเสริมแอคทีฟซับวูฟเฟอร์? นี่ก็คือคำตอบที่น่าสนใจ ถ้าคุณยังต้องการให้ลำโพงวางขาตั้งหลัก แบบ Bookshelf แต่เดิมนั้น คงสถานะไว้ ไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับตัวอย่างการจัดเซ็ตครั้งนี้ ลำโพงหลักของผมคือ KEF LS50 Meta ในแง่การออกแบบจัดว่าล้ำสมัยที่สุดคู่หนึ่ง ลำโพงรุ่น LS50 Meta ได้พัฒนามาหลายเวอร์ชั่น และล่าสุดก็คือ LS50 Meta เป็นลำโพงที่เน้นย้ำเรื่องความแม่นยำสูงและให้คุณภาพเสียงด้วยบุคลิกดึงดูดอารมณ์ ซึ่งสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีอะคูสติก ระดับ “ปฏิวัติวงการ” ลำโพงขนาดกะทัดรัด ที่แข็งแรงทนทานรุ่นนี้ ได้รับการออกแบบโดยใช้ไดรเวอร์อาร์เรย์ Uni-Q เวอร์ชั่น 12 ที่มีเทคโนโลยีการดูดซับ Metamaterial ที่ควบคุมโครงสร้างอันซับซ้อนมากคล้ายเขาวงกตที่สามารถดูดซับเสียงที่ไม่ต้องการจากด้านหลังของไดรเวอร์ได้ 99% เป็นเทคนิคช่วยขจัดความบิดเบือนที่เกิดขึ้นและให้เสียงที่บริสุทธิ์เป็นธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้น Uni-Q รุ่นที่ 12 พร้อม MAT ได้ทำงานร่วมกันภายใต้โครงสร้างที่ยอดเยี่ยม ในท่ามกลางความบิดเบือนที่น้อยลงที่สุดในระบบลำโพง และสนองตอบเสียงที่โปร่งใสสมจริงมากกว่าที่เคยเป็น เท่าที่ได้ทดสอบใช้งาน จุดเด่นลำโพงคู่นี้ คือความมีพลังในการกระจายเสียงได้สม่ำเสมอทั่วทั้งห้องได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งที่มีขนาดย่อมๆ เท่านั้น ไดรเวอร์ Uni-Q ที่ประกอบอยู่บนพื้นผิวโค้งมนของแบบเฟิลหน้า ช่วยแผ่เสียงออกไปโดยไม่มีการรบกวนจากขอบแข็งซึ่งทำให้เกิดการ ”เลี้ยวเบน“ หรือ Diffraction ของเสียง ผลลัพธ์ที่ได้คือเสียงที่สะอาดและแม่นยำ ไม่ใช่แค่ลำโพงที่ใช้งานได้ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังเป็นประติมากรรมที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับชีวิตของผู้ฟังอีกด้วย ปัจจุบัน LS50 Meta มีตัวเลือกสีให้ถึง 4 สี ได้แก่ Carbon Black, Titanium Grey, Mineral White และ Royal Blue Special Edition LS50 Meta ได้รับการออกแบบโดย Simon Davies และ KEF Industrial Design Team ซึ่งมีแง่มุมทางด้านเทคนิคหลายอย่างที่น่าสนใจ หากมีโอกาส ผมจะนำเอาแนวคิดและวิธีการออกแบบของ Simon Davies มาให้ได้อ่านกันในเร็วๆ นี้ครับ มีผู้รักลำโพง KEF LS 50 สอบถามเข้ามาบ่อยครั้งว่า พวกเขายังคงพึงพอใจในน้ำเสียง LS50 Meta แต่หากจะขยับเป็นลำโพงตั้งพื้นของ KEF ก็ออกจะเสียดายคุณสมบัติเสียงเดิมๆ ของลำโพงคู่โปรด ที่กลางแหลม และมิดเบสสวยงามมากๆ ทางเลือกที่ทำให้ลำโพง มีความทรงพลังโอ่อาแม่นยำและย่านความถี่ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ใกล้เคียงกับลำโพงตั้งพื้น แต่ไม่อยากเปลี่ยนเป็นลำโพง Floor Standing ทำอย่างไรดี? คำตอบที่ผมได้มาคือ ให้เสริม KEF KC 62 เข้าไป 1-2 ตู้ละก็ คุณก็จะเห็นความแตกต่างที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และเท่าที่ผมนำมาจัดชุดทดสอบให้ฟังใน Live เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ชมจะเห็นว่า KEF LS50 Meta และ KC62 ได้ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่รู้สึกเลยว่า Active Sub-Woofer เป็นส่วนเกินในระบบ แต่กลับเสียงดีขึ้น และความสวยงามของตัวตู้ขนาดลูกเต๋า ก็เป็นที่ติดตาต้องใจยิ่งนัก แม้ว่าปัจจุบันจะมีการให้ความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวางในเรื่องของการเสริม Sub-Woofer เข้าไปในระบบ ทุกสิ่งอย่างที่เป็นระบบเครื่องเสียงนั้น เราต้องยอมรับว่ามีหลายวิธีทางที่เราจะไปสู่จุดหมายของเราได้ ส่วนได้ ส่วนเสีย ส่วนผิด หรือส่วนถูก ขึ้นอยู่กับเรานำเอา Sub-Woofer มาใช้ด้วยเหตุผลใด และปรับให้สมดุลได้อย่างไร นั่นเอง ซึ่งผมเคยได้อธิบายและแสดงเหตุผลเอาไว้หลายสิบประการแล้ว คงไม่จำเป็นต้องย้อนกลับมาพูดถึงอีก ประโยชน์ย่อมขึ้นอยู่กับผู้ที่ใช้ว่า ใช้เป็น หรือไม่เป็น เข้าใจอรรถประโยชน์ที่พึงได้หรือไม่เพียงไร สำหรับ KEF LS50 Meta และ KC62 ที่ผมได้ทดลอง Matching ใช้งานด้วยกันมาแล้ว ส่วนตัวคิดว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เมื่อไม่อยากก้าวกระโดดขึ้นไปเล่นลำโพงตั้งพื้น อาจจะด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ห้อง หรือเหตุผลอื่นๆ KEF KC62 เป็นคำตอบที่น่าสนใจจาก ซัพวูฟเฟอร์จิ๋วที่น่าอัศจรรย์ ตู้นี้ แนวทางการออกแบบซับวูฟเฟอร์ KC62 ของ KEF คือ เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้พลังเสียงเบสที่หนักแน่นสมจริงเท่าที่จะเป็นไปได้เช่นเดียวกัน KC62 เป็นซับวูฟเฟอร์ขนาดกะทัดรัดเหลือเชื่อ สามารถมอบพลังและความมหัศจรรย์ของเสียงเบสที่ทุ้มลึกและแม่นยำ เพื่อประสบการณ์การฟังเพลง หรือชมภาพยนตร์ และเล่นเกมที่เต็มอิ่มและน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก จุดเด่นคือ KC62 มีขนาดเท่าลูกฟุตบอล สร้างขึ้นโดยใช้วิศวกรรมชั้นยอดของ KEF ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี Uni-Core ที่ล้ำสมัย ใช้ตัวไดรเวอร์ขนาด 6.5 นิ้ว จำนวน 2 หน่วย ทำงานคล้ายลูกสูบช่วงชักยาวให้การผลักอากาศได้ปริมาณมหาศาล ใช้การขับเคลื่อนด้วยแอมปลิไฟร์กำลังขับ 1,000W RMS Class D ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อขับความถี่ต่ำ นี่คือการจับคู่ระหว่าง ลำโพง Book Shelf ขนาดย่อม กับ Active Sub-Woofer ขนาดจิ๋ว แบรนด์เดียวกัน ซึ่งออกแบบมาบนพื้นฐานเดียวกันด้วยครับ • ผลลัพธ์ที่ได้จากภาคปฏิบัติ KEF LS50 Meta และ KEF KC62 ทดสอบจริงในห้องฟังขนาด 3.5x4.5 เมตร การปรับถือว่าง่ายมาก เพราะมี EQ หรืออีควอไลเซชั่นด้วย DSP อัตโนมัติถึง 5 ตำแหน่ง (Room, Wall, Corner, Cabinet, Apartment) ให้เราเลือกโหมดไปตามจุดตำแหน่งที่วางในสภาพแวดล้อมของห้องก่อน แล้วปรับระดับความดัง ความถี่จุดตัด และเฟสตามมา ข้อแนะนำ ควรหาจุดตั้ง KEF KC62 ในแนวระนาบเดียวกับ LS50 Meta ซึ่งเป็นจุดดีที่สุด หรือจะเป็น เสมอด้านหน้า หรือถอยหลังลึกกว่าลำโพงหลักก็ได้ ไม่ควรให้ตู้ซับ KEF KC62 วางล้ำหน้า หรือถอยหลังมากเกินไป ควรอยู่ห่าง LS50 Meta ในระยะไม่เกิน 1 ฟุต หรือใกล้กว่า เพราะจะปรับได้กลมกลืนง่ายขึ้น ให้ปรับค่าจุดตัดต่ำสุดของซับวูฟเฟอร์ ปรับระดับความดัง Level ทีละเล็กละน้อยแล้วค่อยๆ ขยับขึ้นมา ในจุดที่เสียงเชื่อมต่อกันราบรื่นที่สุด สำหรับในการทดสอบของผม ที่ได้ผลดีที่สุดคือ ให้ตั้งค่าความถี่จุดตัดของ KC62 ไว้ที่ประมาณ 45Hz เพราะนั่นคือจุดที่เบสของ LS50 Meta เส้นเคิร์ฟจะเริ่มลาดลงมา ถ้าถามว่า จุดที่ 45 Hz ของ KC62 อยู่ตรงไหน ก็ให้ดูที่ปุ่มปรับ Crossover ของ KC62 ซึ่งจะอยู่กึ่งกลางระหว่าง 40 และ 50Hz ครับ อันที่จริงเราสามารถยกจุดตัดความถี่ให้สูงขึ้นได้ ประมาณ 100Hz แต่การทำงานร่วมกับ LS50 Meta อาจจะไม่ได้ผลดีและกลมกลืน ได้เท่ากับจุดตัด 45-50Hz นี้ วิธีฟังคือ การปรับให้เบสและเสียงต่ำต้องไม่โด่งขึ้นมากเกินจริง ยึด Tonal Balance เป็นหลัก ในการหาจุดสมดุล – ใช้วิธีปรับด้วยการหาจุด 2 จุดคือ จุดที่ทำให้เราได้ยินเสียงต่ำชัดเจนที่สุด (อาจจะล้นๆ นิดนึงก็ได้) จากนั้นปรับให้ได้ยินเสียงซับวูฟเฟอร์เบาที่สุด หรือแทบไม่ได้ยินเลย หลังจากนั้นให้หาจุดกึ่งกลาง ระหว่างสองจุดตำแหน่งนี้ โดยอ้างอิงจากเพลงหรืออัลบั้มที่คุ้นเคยและมีย่านความถี่ค่อนข้างครบ ไม่ใช่แค่นำแผ่นหรือใช้เพลงที่เน้นเสียงกลอง หรือเสียงต่ำตูมตามมาปรับ เป็นหลักนะครับ สรุป จุดที่ดีมากๆ ของ LS50 Meta และ KC62 คือแนวทางการออกแบบนั้นเป็นแบรนด์เดียวกัน การปรับจึงกลมกลืนกันง่าย และใช้เวลาไม่นาน คุณจะปรับเป็นลำโพงซิสเต็มเดียวกันได้อย่างลงตัว • หมายเหตุ ทั้ง KEF LS50 Meta และ KEF KC62 ควรถูกเบิร์น เกิน 80-120 ชั่วโมงแล้ว จะให้ผลอย่างเต็มที่ครับ บทสรุป จากการใช้ KEF KC62 ร่วมกับ KEF LS50 Meta 1. ให้เวทีเสียงด้านกว้างลึกดีขึ้น 2. เครื่องดนตรีเสียงต่ำชิ้นหลัก อย่างดับเบิ้ลเบส กลอง มีมวล และพละกำลังเต็มอิ่มขึ้นอย่างน่าพึงพอใจมาก เรียกว่าสร้างความชัดเจนมีสัดส่วนของดนตรีเพิ่มขึ้น 3. น้ำหนักเสียงของชิ้นดนตรี มีมิติเป็นชิ้นเป็นอัน ให้สเกลเสียงสมจริง 4. มีผลด้านเสียงร้องที่อิ่มลึกขึ้น เสียงลงลำคอจะดูเป็นจริงมากกว่าเดิม 5. อิมเมจ จุดตำแหน่งเสียง ให้ความมีสัดส่วน ทรวดทรงดนตรี ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม 6. ช่วยให้เสียงต่ำทอดยาว มีน้ำหนัก มีผลดีกับเพลงแจ๊ส ร็อค และคลาสสิก จำพวกวงออเคสตร้า 7. มวลรวมของการฟังดนตรีที่มีจำนวนชิ้นมากๆ อย่างเพลงจากวงออเคสตร้า มีไดเมนชั่นเสมือนเสียงสามมิติเพิ่มขึ้น รูปวงขยายเต็มอัตราส่วน นี่คือการรวมระบบลำโพง KEF LS50 Meta และ KEF KC62 ที่เสมือนหยิบลำโพงทรงลูกเต๋ามาผสมผสานกัน ทั้งลำโพงหลักและซับวูฟเฟอร์ ด้วยการส่งพลังเสียงโดดเด่น โอ่อ่าเทียบเคียงลำโพงตั้งพื้นระดับแสนได้อย่างสบายๆ และอาจจะมีข้อดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ไม่เปลืองพื้นที่ห้องฟัง นั่นเอง KEF LS50 Meta ราคาคู่ละ 49,900.- บาท KEF KC62 ราคาตู้ละ 69,900.- บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ทดลองฟังได้ที่ ร้านจำหน่ายเครื่องเสียงชั้นนำทั่วไป หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เลขที่ 9/7 ซ. รัชดาภิเษก 18 ถ. รัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร 02-692-5216 https://www.vgadz.com/kef/ https://www.facebook.com/KEFaudiothailand
KEF Q11 META ความลงตัวพอดี กับดนตรีทุกสไตล์ ลำโพง KEF Q11 META รุ่นใหม่ล่าสุด ถือเป็นผลรวมของเทคโนโลยีลำโพงที่นำมาจากรุ่นซูเปอร์ไฮเอ็นด์ Blade และ The Reference Series ถ่ายทอด DNA มาสู่ Q Series ได้เหมาะเจาะลงตัว ด้วยลำโพงรูปทรงทาวเวอร์ที่มีส่วนสูงหนึ่งเมตรเศษ หรือ 41.8 นิ้ว หน้ากว้าง 8.3 นิ้ว แต่ลึกถึง 15 นิ้ว ดีไซน์ มีฐานรองยื่นออกมาสี่มุม สำหรับประกอบจับยึดกับตัวตู้ พร้อมสไปก์ยาง ที่ปรับระดับได้ ตู้ระบบท่อเปิด Bass Reflex ออกด้านหลัง มีฟองน้ำสำหรับปิดท่อมาให้ลำโพงเป็นตู้ปิดได้ หากต้องเซ็ตอัพในพื้นที่ห้องที่มีข้อจำกัด หรือผนังด้านหลังชิดลำโพง สิ่งที่แปลกและเบสิกอย่างยิ่งคือ KEF ใช้ขั้วลำโพง Single Wired โดยมีนัยยะว่า ลำโพงตั้งพื้น Q11 META เหมาะกับการขับเสียงแบบราบรื่นด้วยแอมป์และสายต่อเพียงชุดเดียวพอเพียงแล้ว นี่เป็น Q Series ที่ออกแบบให้เป็นระบบลำโพงตั้งพื้น 3 ทาง (รุ่นเรือธง) เพื่อประสิทธิภาพที่ดื่มด่ำในห้องขนาดใหญ่และโฮมเธียเตอร์ มาพร้อมไดรเวอร์ Uni-Q เจเนอเรชั่นที่ 12 ซึ่งพัฒนาถึงขีดสุด พร้อมเทคโนโลยี MAT ใช้ไดรเวอร์ขับเสียงเบสอะลูมิเนียมไฮบริดขนาด 6.5 นิ้ว จำนวน ถึง 3 ตัว เรียงกันในแนวดิ่งช่วยให้ถ่ายทอดเพลงและภาพยนตร์ด้วยรายละเอียดที่ประณีต เบสที่ทรงพลัง และความลึกอิ่มกับเพลงทุกสไตล์ที่เราชื่นชอบ อย่างไร้ขีดจำกัด นอกจากใช้ Uni-Q เจเนอเรชั่นที่ 12 ร่วมกับเทคโนโลยี MATแล้ว นี่ยังเป็นโครงสร้างตู้แบบ Flexible Decoupling ช่วยลดการส่งผ่านการสั่นสะเทือนที่เป็นส่วนเกินได้เป็นอย่างดี ดังที่ผมเรียนไว้ในคลิปวิดีโอก่อนหน้านี้ KEF แก้ปัญหาที่ไดรเวอร์มักจะขับเสียงโดยมีมุมกระจายเสียงปะทะหน้าตู้ตัวเอง ด้วยการเพิ่ม Shadow Flare เปรียบเสมือนวงแหวนท่อนำเสียงรอบๆ Uni-Q อีกชั้นหนึ่ง ป้องกัน ดิฟเฟรคชั่น หรือการเลี้ยวเบนทางเสียง KEF พัฒนาครอสโอเวอร์ใหม่เน้นการตอบสนองทั้ง on-axis และ off-axis ที่มีการทดสอบนับพันๆ ครั้ง เพื่อให้จุดตัดความถี่มีความแม่นยำและทำให้ตัวขับเสียงทุกตัว สามารถผลักอากาศได้อย่างสมูท และเป็นเสมือนหน่วยเดียวกัน ซึ่งจะมีผลต่อโทนัล บาลานซ์ที่ดีเลิศ เป็นลำโพงที่ทางผู้ผลิตแจ้งผลการตอบสนองความถี่ไว้ที่ 44Hz - 20kHz และมีความไวอยู่ที่ 89dB SPL อีกทั้งเป็นลำโพงไม่กี่คู่ในแวดวงไฮไฟ ที่ระบุค่าความเพี้ยนโดยรวมต่ำกว่า 1% ตลอดย่านความถี่ตอบสนอง นับว่ามีความสมบูรณ์แบบอย่างมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรทราบก็คือ ลำโพงนั้นมีค่าความต้านทานเฉลี่ยอยู่ที่ 4 โอห์ม จึงไม่เหมาะที่จะนำลำโพงคู่นี้ไปต่อขนานหรือพ่วงกันกับลำโพงคู่อื่นๆ ข้อดีคือ เป็นลำโพงที่ไม่ได้กินกำลังขับอย่างที่คาดเอาไว้แต่อย่างใด ทำให้พลังเสียงออกมาได้อย่างเต็มที่ แม้แอมปลิไฟร์นั้นจะมีกำลังขับแค่ปานกลางโดยทั่วไปก็ตาม จากการทดสอบฟังในระยะหนึ่งสัปดาห์ โดยใช้เวลาในการเบิร์นก่อนหน้า 5-6 วัน เพื่อให้ครบ 150 ชั่วโมง พบว่าเป็นลำโพงที่มีองค์ประกอบประณีต มีบุคลิกของความนุ่มนวล ทรงพลัง ให้เวทีเสียงกว้างลึกดีมาก เปรียบเทียบงบประมาณราคา 95,900.- บาท/คู่แล้ว นับว่าคุ้มค่ามาก สำหรับผู้ที่ฟังเพลงอย่างหลากสไตล์ หรือนำไปใช้เป็นคู่หน้าในระบบ Home Theater KEF Q11 META ลำโพงมีให้เลือกผิวตู้ สามสี คือ ขาว ดำ และ ผิววอลนัต พร้อมกริลล์แบบตะแกรงโลหะอ่อนแมตช์กับสีตู้ เนื่องจาก KEF Q11 META ได้รับการทดสอบ หรือรีวิวจากสื่อหลายสำนักทั้งในประเทศ ต่างประเทศ มีความน่าสนใจและได้รับคอมเมนท์ชื่นชมมากมาย ซึ่งทุกท่านสามารถหาอ่านได้ในสื่อโซเชียล สำหรับการทดสอบของผมนั้น ให้ถือเป็นอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ใช้ทั้งเครื่องสตรีมเมอร์ เครื่องเล่นแผ่นเสียง ซีดีเพลย์เยอร์ สำหรับสรุปผลการทดสอบในทางปฏิบัติ ซึ่งมีซิสเต็มอ้างอิงดังต่อไปนี้ - NAD C3050 + NAD M23 Power - Audio Innovation 500 series - FMj 300 B - Hattor Audio Ultimate Preamplifier - Hattor Audio Ultimate Mono Power Amp - Aurender A1000 Streamer DAC - Denon DCD 2500NE SACD - NAD C588 Turntable - Life Audio LD5 MK II Review ก่อนถึงบทสรุปทดสอบในเรื่องคุณภาพเสียงที่ผมจะแสดงไว้เป็นข้อๆ เพื่อความกระชับเข้าใจง่าย ขอกล่าวถึงจุดเด่นในแนวทางการออกแบบที่ KEF พัฒนา Q Series มาจนถึงความสมบูรณ์สูงสุดในปัจจุบัน ที่ผมรู้สึกประทับใจ กับผลของเสียงที่สมบูรณ์ก็คือ แรกสุดมาจากการใช้ตัวขับเสียงหลัก Uni-Q Generation ที่ 12 ที่ก่อกำเนิดเสียงช่วงแหลมและมิดเร้นจ์จากแหล่งกำเนิดเสียงเดียวกัน ตัดปัญหาเรื่องเฟส และไทม์อะไลน์เม้นท์ ทำให้มีโทนัล บาลานซ์ของเสียงดีเยี่ยมกว่าตัวขับเสียงโดยทั่วไป เป็นตัวขับที่พัฒนาได้อย่างทรงประสิทธิภาพอย่างมาก อีกทั้งเทคโนโลยีแผ่นเมมเบรน Metamaterial Absorption Technology (MAT) ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการอย่างแท้จริง ในการจัดการ กับอคูสติกภายในตู้ลำโพงของ KEF ด้วยโครงสร้างซับซ้อนคล้ายเขาวงกตช่วยขจัดเสียงที่ไม่ต้องการจากด้านหลังของไดรเวอร์ ได้ถึง 99% ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานบริสุทธิ์และเป็นธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงเทคนิคการออกแบบอื่นๆ ที่ประกอบกันอย่างลงตัว รูปแบบตัวตู้ทาวเวอร์ทรงลึกเป็นพิเศษ ทำให้ Q11 METAสามารถใช้งานได้อย่างคล่องตัวกับห้องที่มีพื้นที่เล็ก ถึงห้องขนาดใหญ่ จาก 12-30 ตารางเมตรโดยปราศจากปัญหา หลังจากเบิร์นได้ตามลำดับชั่วโมงที่ผมตั้งใจไว้ จะพบว่าการผลักอากาศของตัวขับเสียงดูคล่องตัว มีทั้งความคล้องจองกันของเบสไดรเวอร์ทั้ง 3 และความรู้สึกที่เปิดโปร่งอิสระมากยิ่งขึ้นกับ Uni-Q เจเนอเรชั่นนี้ แม้ลำโพงคู่ที่ผมนำมาทดสอบ อาจจะผ่านการใช้งานมาบ้างเล็กน้อย แต่แรกสุดที่แกะกล่อง และนำมาเบิร์น พบว่าช่วงเสียงต่ำจะยังดูทึบๆ หนักๆ ไม่ปลดปล่อยอยู่บ้าง ดังนั้นท่านใดที่เป็นเจ้าของ KEF Q11 META ลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่คู่นี้ ควรใหัระยะเวลานับแต่เปิดกล่อง เบิร์นอินไปจนถึงการฟังระยะแรกๆ ไปสัก 2-3 สัปดาห์ครับ เพื่อให้ความสดใหม่ของลำโพง ได้ “กายบริหาร” ให้คล่องตัว เพราะหลังจากทุกอย่างพร้อม คุณจะได้คุณสมบัติเยี่ยมๆ จากเสียงดนตรีที่สมจริงอบอุ่นนุ่มนวลน่าหลงใหลเลยทีเดียว 1. ระยะการวางทั่วไป Setup ได้ลงตัวที่สุด (ในห้องฟังของผมประมาณ 3.5x4.5 เมตร) ลำโพงวางห่างกัน จากศูนย์กลาง ถึงศูนย์กลางที่ 2.10 เมตร ห่างผนังหลังประมาณ 1 เมตร (วัดถึงท่อพอร์ตด้านหลัง) และห่างผนังข้างประมาณ 70 เซนติเมตร 2. ฟังที่ความดังเฉลี่ยทั่วไป 55-65 เดซิเบล มีอัตราพีคสูงสุดบางครั้งกับเพลงคลาสสิกคัล วงออเคสตร้าวงใหญ่ ที่ 85 เดซิเบล 3. ไม่ต้องโทอินลำโพง แต่การผสานกันของเวทีเสียง ของลำโพงซ้ายและขวาเสมอสมานกันได้สนิทเป็นหนึ่งเดียว ทำให้รู้สึกได้ถึงความโอ่อ่า เวทีเสียง Soundstage ว่า KEF Q11 META ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ผมชอบความลึกเวทีดนตรีที่เหนือลำโพงตั้งพื้นหลายคู่ที่เคยฟังมา (On the Beautiful Blue Danube Waltz, Op.31- Ein Straussfest) 4. ฟังเพลงได้อย่างหลากหลายสไตล์มาก ตั้งแต่ พ็อพ แจ็ส คันทรี ไปจนถึงคลาสสิก และเพลงร็อคในตำนานที่สนองความถี่ได้เต็มสเกล โดยเฉพาะความถี่ต่ำลึกแบบลึกอิ่มมีพลังชนิดไม่ต้องพึ่งซับวูฟเฟอร์ Q11 META ก็สนองตอบได้อย่างอิ่มอารมณ์มาก (Turn of The Tide -Barclay James Harvest) อิทธิพลของการวางตัวขับเบสสามตัวเรียงแนวดิ่งทำงานประสานกันได้ราวกับฟังเสียงจากวูฟเฟอร์ 15 นิ้วเลยครับ‼️ 5. ความเรียบสะอาดของเสียงร้อง ที่ดูหลุดลอย และได้อิมเมจจุดตำแหน่งแม่นดีแท้ครับ บางอัลบั้มนี่เล่นเอาผมประหลาดใจเลยว่า KEF Q11 META นี่ให้ผลลัพธ์เหมือนฟังดนตรีและศิลปินมาขับร้องอยู่แถวหน้าเลยด้วยซ้ำ (Amanda McBroom -Voices) 6. ดีเทล รายละเอียด ของ Q11 META นับว่าครบถ้วนดีทีเดียว ผมเคยฟัง KEF R5 และ Reference 1 มาก่อน นับว่าปลายเสียงของ Q11 META แจกแจงรายละเอียดได้ในแนวทางเดียวกัน คืออิ่มฉ่ำสุภาพ ละเมียดละไม ชัดเจน ในยามพีคของเครื่องดนตรี ไม่แผดกล้าผิดเพี้ยน การทำงานไดรเวอร์แม่นยำ ผลจากเทคโนโลยี MAT น่าจะเป็นคำตอบของคุณภาพเสียงได้เป็นอย่างดี (Breaking Silence: Janis Ian) 7. การฟังเพลงจากแผ่นเสียง KEF Q11 METAให้คำตอบของน้ำหนักเสียงหรือค่าไดนามิคของเสียงได้เป็นอย่างดี นี่คือลำโพงตั้งพื้นที่ดูจะแสดงพลัง หรือ Energy ของดนตรีอย่างมีลำดับความดัง-เบา ด้วยสัดส่วนสมจริง และค่าทรานเชียนต์หรือเสียงที่ฉับพลันได้ชนิดครบถ้วน แม่นยำ 8. KEF Q11 META มีข้อดีอย่างมากก็คือ เป็นลำโพงที่สนองตอบเพลงได้ไม่จำกัดสไตล์ ทำให้ผมได้ฟังลำโพงคู่นี้ในแต่ละวัน หลายชั่วโมง หลายหลากสไตล์ติดต่อกัน เต็มไปด้วยความสุข จะว่าไปก็คือแทบลืมสรรพสิ่งและโลกภายนอกไปเลย เป็นลำโพงที่ฟังแล้วได้ความเข้าถึงง่าย และพร้อมจะเป็นทุกสิ่งที่คุณอยากอยากให้เป็น 9. สรุปสุดท้าย KEF Q11 META เป็นลำโพงที่มีราคาไม่ถึงคู่ละแสนบาท ที่ให้ความสุขผู้ฟังได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถฟังทุกเสียงทุกแนวดนตรีอย่างเต็มอิ่ม ไม่เกี่ยงแอมป์ ไม่กินกำลังขับจากภาคขยาย ขับได้แม้แอมป์หลอด 9 วัตต์ ไปจนถึงแอมป์คลาส D ที่ 400 วัตต์ ถือว่าเร้นจ์กว้างมาก ยิ่งการฟังแผ่นเสียงจะเข้าถึงส่วนลึกของ พลังและน้ำหนักเสียงได้เป็นอย่างดี และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ KEF ออกแบบเป็นลำโพงแบบขั้วลำโพงแบบเดี่ยว Single Wired ที่สร้างพลังเสียงเต็มอิ่มพร้อมความสมดุลของเสียงได้อย่างน่าประทับใจ KEF Q11 META ลงตัวได้พอดีกับดนตรีทุกสไตล์ครับ KEF Q11 META ราคาคู่ละ 95,900.- บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ทดลองฟังได้ที่ ร้านจำหน่ายเครื่องเสียงชั้นนำทั่วไป หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เลขที่ 9/7 ซ. รัชดาภิเษก 18 ถ. รัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร 02-692-5216 https://www.vgadz.com/kef/ https://www.facebook.com/KEFaudiothailand
KEF KUBE 12 MIE เสริมความถี่ต่ำให้อิ่มสมจริงและสมดุล ท่ามกลางกระแสวิพากษ์อย่างกว้างขวางในการนำแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ มาเสริมในลำโพงหลัก มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มีทั้งคนพร้อมเปิดใจรับ กับผู้ที่ “หัวเด็ดตีนขาด” ก็ไม่เอา วิวาทะทั้งหลายในกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ทั้งสองฝั่งฟากแนวคิดนั้น ผมก็มีมุมมองของตัวเองเช่นกันคือ 1. ไม่ได้เห็นด้วยว่า การจัดชุดซิสเต็มฟังเพลงสองแชนแนล ชุดเล็ก-ชุดใหญ่ ชุดไหนๆ ก็ต้องพ่วง Sub-Woofer เสมอไป 2. และก็ไม่ได้เห็นด้วยว่า ถ้าจัดชุดเครื่องเสียงฟังเพลง 2 แชนแนล ห้าม Sub-Woofer มาปรากฏกายในชุดเด็ดขาด ถือเป็นข้อต้องห้าม (ของใครไม่ทราบเหมือนกัน?) ทุกอย่างควรขึ้นกับ หลักการ เหตุผล ในเรื่องของห้อง ซิสเต็ม ความต้องการของผู้ฟัง สไตล์เพลง ที่ออดิโอไฟล์แต่ละท่านย่อมมีข้อจำกัดอันแตกต่างกันไป ***ได้แสดงทัศนะไปหลายครั้งแล้วในเพจแห่งนี้ ซึ่งผมจะมีลิ้งก์บางส่วนมาแปะไว้ท้ายบททดสอบ KEF KUBE 12 MIE ดังนี้นะครับ*** https://www.facebook.com/share/19hTvJ8DcG/?mibextid=wwXIfr https://www.facebook.com/share/14iLfWiC1K/?mibextid=wwXIfr https://www.facebook.com/share/12EY4Ypys58/?mibextid=wwXIfr https://www.facebook.com/share/1A3TRMvdGt/?mibextid=wwXIfr https://www.facebook.com/share/p/14xjoKZyRe/?mibextid=wwXIfr https://www.facebook.com/share/p/14yFmR4uz4/?mibextid=wwXIfr ความเห็นส่วนตัว การใช้หรือไม่ใช้ ผมยึดหลัก High Fidelity คือ ความเสมือนจริง และการย่อสเกลดนตรีจริงมาไว้ในห้องฟัง ถ้าผู้ฟังรู้สึกได้ถึงความพอดีแล้ว ก็ไม่ต้องไปเติมอะไร แต่ถ้าสียงย่านความถี่ต่ำไม่พอ ก็สามารถจะเสริมให้มัน “พอดี” ยิ่งขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เติมให้มันเกินจากเสียงดนตรีจริง หรือเกินกว่าสิ่งที่ Studio เขาบันทึกมา อันนี้ย่อมไม่ใช่แนวทาง และจุดประสงค์ การใช้ Sub-Woofer ของผมครับ จากนี้ไปคือผลการทดสอบใช้งาน KEF KUBE 12 MIE ที่มีบทสรุปน่าสนใจ บันทึกเอาไว้ให้พิจารณากัน • การพัฒนาของบริษัทลำโพงระดับโลก อย่าง KEF นั้น มีรากฐานมายาวนานนับแต่กำเนิดในปี 1961 (63ปี) การออกแบบสินค้าใดขึ้นมาใหม่ จะมีเหตุและผลรองรับ โดยเฉพาะความก้าวหน้าในเทคโนโลยี ที่ดีขึ้นและเอื้อประโยชน์กับผู้ใช้งานจริงๆ ส่วนตัวผมก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้สินค้าของ KEF อย่างเช่น KEF BBC Monitor LS3/5 A ได้จัดเอา KEF KC62 มาเสริมความถี่ต่ำ สลับกับ Rogers AB1 (Passive Sub-Woofer) เพราะเมื่อฟังดนตรีบางประเภทเช่น วงแจ๊ส บิ๊กแบนด์ ซอฟท์ร็อค และคลาสสิกคัล มันมีความจำเป็นตามสมควรสำหรับผม หรือลำโพง BBC Monitor Rogers LS3/5 A ผมตัดสินใจซื้อแอคทีฟซับ Rogers AB3a มาใช้งานร่วมกันเป็นเซ็ต เพราะลำโพงหลักในตระกูลนี้ ลงความถี่ต่ำลึกได้เพียง 70Hz เท่านั้น ดังนั้น เหตุและผล จึงเป็นไปตามความต้องการของตนเองเป็นหลัก • KEF KUBE MIE นั้น เป็นความพยายามพัฒนาแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ ที่ดีไซน์แต่เดิมใช้งานเฉพาะสำหรับโฮมเธียเตอร์ ให้เพิ่มความสามารถตอบสนองการฟังเพลงด้วย พัฒนาถึงจุดที่ มีการใช้ระบบ DSP (Digital Signal Processor) ที่คิดค้นเองมาช่วยควบคุมการทำงานระบบ SUB ให้สนองตอบการฟังด้วยกันทั้งสองรูปแบบ และแอคทีฟซับวูเฟอร์ KEF รุ่นที่ผมเลือกมาทดลองใช้งานคือ KUBE 12 MIE ที่สามารถลงความถี่ต่ำได้ลึกถึง 22Hz ต้องการให้มาเสริมช่วงต่ำกว่า 48Hz ของลำโพงหลัก KEF Q Concerto META ความหมายระบบ DSP ที่อัพเกรดให้เหมาะกับการฟังเพลง MIE : Music Integrity Engine เป็นระบบ Digital Signal Processor ซึ่ง KEF ค้นคว้า วิจัยพัฒนาขึ้นมาด้วยตนเองอย่างยาวนานหลายปี เพื่อการควบคุม แอคทีฟซับวูฟเฟอร์ ให้ผลักอากาศได้แม่นยำ ฉับไว เสียงบริสุทธิ์ ความเพี้ยนต่ำ สามารถให้ความกลมกลืนลำโพงหลักได้ง่าย จุดตัดความถี่สูงสุด KEF จงใจออกแบบให้อยู่ไม่เกิน140Hz และปรับค่าลงไปได้ต่ำสุดที่40Hz KUBE 12 MIE มีโครงสร้างตู้เป็นตู้ปิดทึบ Acoustic Suspension ตัวขับเสียงขนาด 12 นิ้วยิงเสียงออกด้านหน้า ช่วยให้ง่ายต่อการจัดวาง และยิงเสียงไปในทิศทางเดียวกันกับลำโพงหลัก คุณสมบัติอีกส่วนหนึ่ง IBX หรือ Intelligence Bass Extension โดยในส่วนนี้ จะทำหน้าที่คำนวณสัญญาณเสียงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เบสความสมจริงลงลึก และคงไว้ซึ่งไดนามิคหรือพลังตลอดระดับความดังของเสียง KUBE 12 MIE มี Room Position EQ สามตำแหน่งให้เลือกวาง และปรับใช้ในสภาพความเป็นจริงในห้องคือ • In Room วางในห้องทั่วไป • Corner วางเข้ามุมห้องที่เป็นมุมชนกัน 90 องศา • Wall / Cabinet วางชิดผนังด้านใดด้านหนึ่ง มี Power Mode เลือกเปิดตลอดเวลา หรือเปิดเมื่อมีสัญญาความถี่ต่ำเข้า และใช้งานแบบ12 V trigger KEF ดีไซน์ แอคทีฟซับวูฟเฟอร์ KUBE MIE ทั้งหมด4 รุ่นคือ KUBE 15 MIE, KUBE 12 MIE, KUBE 10 MIE และ KUBE 8 MIE ตัวขับเสียงเป็นแบบเดี่ยว ยิงแบบ Front Firing ขนาดวูฟเฟอร์ ให้ดูที่รหัสรุ่นได้เลย คือ 15-12-10 และ 8 นิ้วตามลำดับครับ การเลือก KEF KUBE 12 MIE มาทดสอบ เพราะเป็นรุ่นกลาง พอเคราะห์แล้ว เหมาะกับ KEF Q Concerto META และเพื่อการบาลานซ์ที่ดีผมนำมาใช้ 2 ตู้ ทั้งแชนแนลซ้าย และขวา สำหรับกำลังขับในตัวตู้ของ KEF KUBE 12 MIE คือ 300 วัตต์ คลาส D ขนาดตู้ 410 x 393 x 410 มิลลิเมตร ตอบสนองความถี่ 22Hz - 140Hz (±3dB) ตัวขับเสียงขนาด 12 นิ้ว ยิงเสียงออกด้านหน้า • ผลจากการเซ็ตอัพ KEF KUBE 12 MIE ภายในห้องของผมที่มีพื้นที่ ขนาด 3.5 x 4.5 เมตร KEF KUBE 12 MIE เลือกต่อสัญญาณ ได้ทั้งแบบ High (พ่วงสายลำโพง) และช่อง Smart Connect LFE แต่ผมเลือกต่อจากช่อง Smart Connect LFE ที่ช่อง RCA หลังจากทดสอบ Setup ก็ได้ระยะการวางที่เหมาะสมคือ 1. วางตู้ซับให้อยู่ริมด้านนอกลำโพงหลัก 2. ให้แนวระนาบด้านหน้าของ KEF KUBE 12 MIE อยู่เสมอกับลำโพงหลัก 3. ระยะห่างผนังหลัง อยู่ที่ 90 เซ็นติเมตร 4. ระยะห่างผนังด้านข้างประมาณหนึ่งฟุต หรือ 30 เซนติเมตร 5. เลือกจุดตัดความถี่ต่ำ หรือ Cross over point ที่ 50Hz 6. เลื่อนระดับโวลุ่มไปที่ประมาณ บ่าย 13.00 น. (Phase เฟส 0) 7. เลือกโหมดการใช้งานที่ Always 8. เลือกโหมด EQ ที่ In-roomก่อนปรับเซ็ตเสียง ให้เสียงที่กลมกลืนน่าพึงพอใจมากในการทำงานระหว่าง KEF Q Concerto META และ KUBE 12 MIE ถือว่าเป็นคู่ที่เหมาะสมลงตัว ที่น่าสนใจคือ ปุ่ม Phase ผมปรับไว้ที่ ศูนย์ 0 ตลอด โดยไม่ต้องปรับมาทาง 180 องศา แต่อย่างใด ตัวตู้ KUBE 12 MIE มีการใช้ผ้าหุ้มสีดำจากด้านหน้าไปจรดด้านหลังมิดชิดให้ความรู้สึกสัมผัสเป็นชิ้นเดียวกัน ***สำหรับห้องอื่นๆ อยากจะเริ่มต้นในแบบอย่างที่ผม Set up นี้ ก็ได้ครับ แล้วประยุกต์ ปรับแต่ง Set up เพิ่มเติม*** • เทคนิคในการปรับ พยายามตั้งจุดตัดครอสโอเวอร์ไปทางความถี่ต่ำลึก 40-50-60 Hz เอาไว้ก่อน - ปรับปุ่ม Volume คู่กับจุดตัดความถี่ แล้วเร่งไปจนถึงจุดที่ได้ยินเสียงจากซับวูฟเฟอร์โดดเด่นถนัดชัดเจน จนรู้สึกได้ง่าย - และจากนั้น ค่อยๆ ลดระดับลงเหลือแผ่วเบาจนแทบจะไม่ได้ยินเสียงจากการทำงานซับวูฟเฟอร์ - จากนั้น ให้เราปรับหาจุดกลางระหว่างสองจุดดังกล่าวนั้น ว่าตรงที่ใด กลมกลืนกับลำโพงหลักที่สุด - ในขณะที่ปรับ อาจจะมีบางช่วงที่ความถี่ต่ำจาง หรือความถี่ต่ำโด่งเป็นช่วงจังหวะตามเสียงดนตรี - แสดงว่า ปรากฏการณ์นั้น เราจะต้องปรับ ขึ้นมาทาง 60-80Hz หรือลดลงไปทาง 40Hz อย่างใดอย่างหนึ่ง (ค่าจุดตัดสูงสุดอยู่ที่ 140Hz) ตรงนี้จะเป็นจุดที่ Sensitive ดังนั้น ใช้เวลาปรับซ้ำๆ ดูหลายๆ รอบ เพื่อหาจุดสมดุล ไม่ต้องรีบร้อนครับ - ในการปรับใช้กับระบบโฮมเธียเตอร์ที่ช่อง .1 Channel อาจจะเริ่มจาก 60Hz ขึ้นไปหา 80Hz ซึ่งตรงนี้น่าจะต้องใช้ภาพยนตร์ที่ชมบ่อยๆ และคุ้นเคยครับ - ผมใช้ Life Audio Signature Mellow ตัวรอง มาเสริมขาทั้งสี่มุม ให้ความกระชับเสียงต่ำดีขึ้นไปอีก ดังนั้นท่านใดจะพิจารณาหาอุปกรณ์ ตัวรองมาเสริมกำจัดไวเบรชั่นส่วนเกินก็จะยิ่งดีครับ - หากไม่อยู่ในลักษณะ หรือระยะเดียวกับที่ผมเซ็ตอัพ ให้เลือก EQ ตามลักษณะการวางก่อนแล้วค่อยปรับหาความสมดุลได้ครับ ทั้ง In Room Corner, Wall / Cabinet บทสรุปสำหรับ KEF KUBE 12 MIE คือ - เป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจมาก เพราะซับรุ่นใหม่นี้กลับปรับ Set up ไม่ยากอย่างที่คิดเอาไว้เลย - เทียบเคียงกับตู้ซับที่ผมเคยปรับมาแล้ว KUBE 12 MIE ถือว่าง่ายที่สุดครับ - แน่นอนว่า การกลมกลืนเข้ากันได้ระหว่าง KEF Concerto META กับ KUBE 12 MIE ถือว่าลงตัวแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกัน - เมื่อใช้ KUBE 12 MIE กับลำโพงหลักต่างแบรนด์กัน เอาเฉพาะลำโพงที่ผมซื้อไว้ใช้เองหลายคู่ หลายแบรนด์ พบว่าจะไม่สมดุลกับลำโพงแนววินเทจรุ่นเก่านัก แต่กับลำโพงอย่าง ELAC ตั้งแต่ BS403, PSB Alpha P5 , NHT SuperOne 2.1 กลับให้ความกลมกลืน ปรับง่าย แสดงถึงว่า ลำโพงยุคใหม่ทั้งหลาย น่าจะใช้ร่วมกันได้ แม้จะต่างแบรนด์ ดังนั้นให้ลองหาโอกาสฟังจริงก่อนตัดสินใจ ข้อแนะนำ - ห้องขนาด 12 -15 ตารางเมตรขึ้นไปสามารถใช้ KUBE 12 MIE สองตู้ได้ ถ้าต่ำกว่า ขนาด 12 ตารางเมตรลงมา ควรใช้รุ่น KUBE 12 MIE เพียงตู้เดียว หรือ KUBE 10 MIE , KUBE 8 MIE สองตู้แทน - การใช้ซับ ตู้เดียว หรือ 2 ตู้ ควรพิจารณาจากขนาดห้อง และสไตล์เพลงที่คุณฟังเป็นหลักนะครับ - สำหรับลำโพงขนาดเล็ก อาทิ LS3/5 A Harbeth P3 ESR, ProAc Tablette 10 เหล่านี้จะปรับให้สมดุลกับ KEF รุ่น KC62 ง่ายกว่า อันเนื่องจากขนาดและดีไซน์ จุดเด่น KEF KUBE 12 MIE - ปรับเซ็ตอัพง่าย ระบบลำโพงทำให้โอกาส Boom น้อยอย่างยิ่ง - เมื่อปรับได้ลงตัว ไม่ใช่แค่เสริมเสียงต่ำให้สมบูรณ์ขึ้น แต่จะให้เสียงกลางเสียงร้องดูอิ่มฉ่ำขึ้นอีก อย่างเห็นได้ชัด - ฟังเพลงจากอัลบั้มคลาสสิก Telarc ดูเหมือนฟิลลิ่งของวงออกเคสตร้ายิ่งใหญ่ขึ้นมาก โดยเฉพาะเวทีเสียงที่โอ่อ่า - ขั้วต่อด้วยสายลำโพง (EXP) ดูจะเป็นขั้วต่อที่เล็กไป จึงแนะนำให้ต่อ Line Level ทาง RCA ดีกว่า และสายไฟ AC จะเป็นขั้วแบบ C7 ธรรมดา (ไม่ใช่แบบ IEC มีกราวนด์) แนะนำให้อัพเกรดสายที่ดีกว่าได้ครับ การเสริม Active-Subwoofer ควรจะพิจารณาตามความเหมาะสม ตามที่เรียนไว้เบื้องต้นในเรื่องของรสนิยม หรือขนาดห้อง และข้อจำกัดของคุณเสมอ แต่ต้องไม่ลืมพิจารณาเรื่องความสมดุลของย่านความถี่เป็นสำคัญ ยกตัวอย่าง ให้เห็นชัดขึ้น คือคุณจะพึงพอใจเล่นลำโพงเดี่ยว แบบตั้งพื้นคู่เดียว อาทิ KEF รุ่น Q11 Meta หรือเลือกทางที่สอง KEF Q Concerto Meta ผนวก KEF KUBE 12 MIE อันเนื่องจาก ขนาดห้อง ความสะดวก ความสมดุลในการจัดตำแหน่ง และข้อจำกัดรวมถึงความต้องการของตนเอง ทุกอย่างมีทางให้เลือกเสมอ KEF KUBE 12 MIE ราคาตู้ละ 39,900.- บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ทดลองฟังได้ที่ ร้านจำหน่ายเครื่องเสียงชั้นนำทั่วไป หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เลขที่ 9/7 ซ. รัชดาภิเษก 18 ถ. รัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร 02-692-5216 https://www.vgadz.com/kef/ https://www.facebook.com/KEFaudiothailand
KEF Q Concerto Meta พัฒนาการก้าวกระโดด ที่ให้ความใกล้เสียงดนตรีเป็นอย่างยิ่ง เปิดมาฟ้าใส ศักราชใหม่ 2568 ได้ฟังลำโพงที่น่าประทับใจแบบนี้ นับว่าเป็นความสุขต้นปี ที่ไม่อาจลืมเลือนได้เลย นั่นคือ KEF Q Concerto Meta KEF นับเป็นบริษัทผู้พัฒนาลำโพงด้วยเทคโนโลยีใหม่ได้รวดเร็วที่สุด สำหรับ New Q Series รุ่นใหม่นี้ มีคำศัพท์ 3 คำที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ หนึ่ง Q หมายถึงซีรีส์หลักของลำโพงที่ใช้ตัวขับ Uni-Q สอง คำว่า Concerto เป็นการพัฒนาใหม่ ที่หมายถึงความเป็นดนตรีอย่างยิ่งยวด มาจากรากศัพท์ในดนตรีแบบคลาสสิก “คอนแชร์โต” (ภาษาอิตาเลียน) หมายถึงการประชันขันแข่งดนตรี ส่วนคำที่ สาม Meta นั้น คือการเอื้อเทคโนโลยีสำคัญของ KEF จากรุ่นเรือธงลงมาสู่ Q Series เป็นครั้งแรก ชุด Q ซีรีส์นี้ประกอบไปด้วยลำโพง 8 รุ่น ที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานที่อยากเพิ่มประสบการณ์ในการรับฟังเครื่องเสียงในบ้าน โดยครอบคลุมทุกความต้องการ ตั้งแต่การฟังเพลงสเตอริโอ ไปจนถึงระบบโฮมเธียเตอร์แบบ Multi-Channel KEF ยืนยันว่าจะมอบประสบการณ์เสียงที่เสมือนจริงมากที่สุดเท่าที่เราจะสัมผัสได้ ลองมาพิเคราะห์กันดูถึงสิ่งใหม่ที่เกิดกับ Q Series กันครับ หนึ่งในนั้นคือ เทคโนโลยีการดูดซับเสียงส่วนเกิน แบบซับซ้อนเสมือนเขาวงกต ด้วย Metamaterial Absorption Technology (MAT) นวัตกรรมที่ยกระดับประสิทธิภาพของไดรเวอร์ Uni-Q เจเนอเรชั่น 12 ล่าสุด ให้ก้าวขึ้นไปอีกระดับ สามารถสร้างคุณภาพเสียงที่ชัดและใสละเอียดมากขึ้นเพราะโครงสร้างของ MAT สามารถดูดซับคลื่นความถี่เสียงส่วนเกิน เฉพาะที่เราต้องการกำจัดทิ้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการดูดซับเสียงรบกวนได้ถึง 99% ทำให้เสียงที่ได้มีเสียงที่บริสุทธิ์และเป็นธรรมชาติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน Uni-Q ไดรเวอร์เจเนอเรชั่นที่ 12 ที่เพิ่ม MAT เข้ามานั้น มีอยู่ในลำโพงทั้ง 8 รุ่นของ Q ซีรีส์ใหม่นี้ และยังส่งมอบประสิทธิภาพเสียงที่มีรายละเอียดที่น่าทึ่ง Q ซีรีส์ เป็นผลลัพธ์จากความรู้ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาหลายทศวรรษ และการประยุกต์ใช้เครื่องมือจำลองและวิเคราะห์ที่ล้ำสมัย การพัฒนาที่เกิดขึ้นมากมายล้วนมีส่วนทำให้ Q ซีรีส์มีประสิทธิภาพที่โดดเด่น การผสานกันของตัวขับสองทางที่มีแหล่งกำเนิดเสียงจุดเดียวกันอย่าง Uni-Q เจเนอเรชั่นที่ 12 เพิ่มศักภาพสูงสุดด้วย MAT ช่องนำเสียงรูปกรวยที่เชื่อมโดมของทวีตเตอร์กับตัวซับเสียง Metamaterial ดีไซน์พิเศษทำงานผสานกับความลึกของไดรเวอร์ จนถึงการออกแบบวิศวกรรมใหม่อย่างมีแบบแผนในการลดช่องว่างของทวีตเตอร์ด้วยการใส่วงแหวน 2 วง ที่เป็นวัสดุแบบรูพรุนเพื่อให้เกิดการลดเสียงส่วนเกิน เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่รวมกันเพื่อให้มั่นใจว่าเสียงของ Q ซีรีส์ใหม่นี้จะโปร่งใสและเหมือนจริงมากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา สิ่งที่แตกต่างไปจาก Q ซีรีส์ รุ่นดั้งเดิมก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิงก็คือ การออกแบบลำโพงจาก 2.5 ทาง เป็น 3 ทาง โดยการปรับแต่งใหม่นี้ใช้ครอสโอเวอร์ แบ่งแยกย่านความถี่ออกจากกัน โดยไดรเวอร์ Uni-Q รับผิดชอบย่านความถี่สูงและกลาง และวูฟเฟอร์ ที่ได้รับการออกแบบใหม่ทำหน้าที่จัดการย่านความถี่ต่ำ มอบเสียงเบสที่ลึกและสะอาดให้กับผู้ฟัง (ซึ่ง Q Series ก่อนหน้านี้ใช้แค่ Passive Radiator ซับความถี่ต่ำ) สำหรับลำโพงวางขาตั้ง รุ่น KEF Q Concerto Meta ที่ได้รับมาทดสอบนี้ มีลักษณะมินิมอลที่มีความร่วมสมัย มีผิวสัมผัสมันวาวแบบซาตินที่ให้ความหรูหรา มีระดับมากครับ โดยผู้ใช้สามารถเลือกสีผิวลำโพงได้ 3 สี Satin Black, Satin White และ Walnut และมี Grille ซึ่งช่วยปกป้องตัวขับเสียง ถ้าคุณต้องการโดยสีของ Grille จะแมตช์กับลำโพงเข้าชุดกันอย่างลงตัว ติดตั้งด้วย Magnetic เพื่อให้ติดตั้งง่ายและเข้ากันอย่างพอดี ทำให้ภาพรวมนั้นสวยงามและมีสไตล์ที่เรียบง่าย ด้วยการออกแบบอย่างชาญฉลาด ใน Q ซีรีส์นี้ เป็นครั้งแรกที่ KEF ออกแบบลำโพงแบนบางติดผนังมาในโมเดล Q4 Meta ซึ่งสามารถใช้ได้ในรูปแบบ LCR (Left, Centre, Right) หรือจะใช้เป็นลำโพง Surround เพื่อขยายระบบเสียงรอบทิศ โดยไม่ต้องเสียพื้นที่มาก ส่วนโมเดล Q6 Meta ก็ไม่ได้เป็นเพียงลำโพงสำหรับเซ็นเตอร์เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็นลำโพง LCR (Left, Centre, Right) ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้ง Q8 Meta ที่สามารถวางบนลำโพงหลักเพื่อสร้าง Dolby Atmos โดยสะท้อนเสียงจากเพดานลงมา เพื่อให้เกิดเสียงแบบ 3 มิติ รวมถึงยังสามารถใช้เป็นลำโพง Surround ด้วยการติดผนังได้เช่นเดียวกัน ลำโพง Q Series ใหม่นี้ ยังพร้อมตอบสนอง การขยายขอบเขตความถี่ต่ำ ในกรณีฟังเพลงสองแชนแนลหรือแบบโฮมเธียเตอร์ โดยสามารถเพิ่มอรรถรสของเสียงเบสให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการ จับคู่ Q ซีรีส์ใหม่นี้เข้ากับลำโพง Sub-woofer ของ KEF ได้อีกเช่นเดียวกัน (จะมีบททดสอบในลำดับถัดไป) KEF Q Concerto Meta Satin White สีขาวสะอาดได้ถูกส่งมาแกะกล่องและทดสอบ พร้อมด้วยขาตั้งที่ดีไซน์มาเฉพาะรุ่นนั่นคือ Speaker Stand รุ่น SQ1 (จำหน่ายแยก) ซึ่งผมทำการประกอบโดยใช้เวลาไม่นานนักก็เสร็จเรียบร้อย ข้อแนะนำก็คือ เราควรใช้กาวบลูแท็คติดเข้ากับเพจด้านบนของขาตั้งเพื่อความมั่นคงในการเปล่งความถี่ของลำโพง เพลทล่างของขาตั้ง สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้เดือยแหลม Spike มาตรฐานได้ ข้อมูลเทคนิคโดยทั่วไปของลำโพง KEF Q Concerto Meta เป็นลำโพงระบบสามทาง Bass Reflex ที่มีฟองน้ำปิดท่อด้านหลังได้ (กรณีต้องวางลำโพงชิดผนัง) โครงสร้างตัวขับเสียงกลางแหลม Uni-Q Driver มีทวีตเตอร์อลูมิเนียมขนาด 0.75 นิ้ว อยู่ใจกลาง (Aluminium dome with MAT) มิดเร้นจ์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว และวูฟเฟอร์ อะลูมิเนียมไฮบริดขนาด 6.5 นิ้ว ตอบสนองความถี่ 40 Hz - 20 kHz มีค่าความไว ที่กำลังขับ 1 วัตต์ วัดที่ระยะห่าง 1 เมตร ได้ความดัง 85dB ลำโพงมีความต้านทานเฉลี่ยอยู่ที่ 4 โอห์ม ขนาดตู้ สูง x กว้าง x ลึก : 415 x 210 x 315 มิลลิเมตร ทราบหรือไม่ ความประณีตของลำโพงที่งามทุกส่วนสัดนี้ เราควรภูมิใจว่า KEF Q Concerto Meta รวมถึงลำโพงในซีรีส์ Q ใหม่นี้ ได้รับการประกอบขึ้นในโรงงานในประเทศไทย ครับ ฝีมือทำได้มาตรฐานเป็นเลิศจริงๆ!!! ผลการทดสอบ จากการ Set up พบว่าภายในห้องทดสอบของผม จัดวางห่างกัน 2.05 เมตร และห่างผนังหลัง 85 เซ็นติเมตรขึ้นไป จะได้เสียงสมดุลที่สุด ห้องฟังอื่นๆ ควรปรับไปตามขนาดและสภาพของอะคูสติกห้องเป็นสำคัญ ลำโพงรุ่นนี้ แนะนำว่าจะต้องทำการเบิร์นก่อนใช้งานจริง ประมาณ 200 ถึง 250 ชั่วโมง เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ครบถ้วนทุกรายละเอียด และเปิดโปร่งกังวานสวยงาม ปราศจากข้อจำกัดใดๆ ของเสียง จากแผ่นเบิร์นเสียงถึงแผ่นเพลงที่ให้ไดนามิค และมีความสะวิงของความถี่มากๆ ( แนะนำแผ่นทดสอบ XLO Test & Bern-in CD /Jo Weed : The Vultures และ Secrets of Life : Karunesh) ข้อสังเกตเมื่อทำการเบิร์น KEF Q Concerto Meta เกิน 180 ชั่วโมงขึ้นไปแล้ว คุณจะรู้สึกทึ่งและประทับใจคุณภาพเสียงเป็นอย่างยิ่ง ทั้งค่าไดนามิคเร้นจ์ ความกว้างลึกของเวทีเสียง และที่สำคัญคือ ดีเทลหรือรายละเอียด ใกล้เคียงลำโพงรุ่น R Series ที่แพงกว่า อย่างมีนัยยะสำคัญเลยครับ (The Unmistakable Mantovani / Hiroshima / Yanni : The Concert Live) คือทำให้เราเห็นว่าลำโพงของ KEF นั้น มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง พัฒนาการออกแบบ และวัสดุช่วยให้ลำโพงนั้นได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นอย่างชนิด “เห็นหน้าเห็นหลัง” เมื่อเปรียบเทียบกับซีรีส์ดั้งเดิมและรุ่นที่สูงกว่า บอกได้เลยว่าคุณภาพเสียงคล้าย R-Series เป็นอย่างยิ่ง แม้ว่ารายละเอียดเสียงแหลมช่วงปลาย อาจจะยังไปไม่ถึงขั้นนั้น กับราคาที่จำหน่ายแล้วถือว่าเป็นลำโพงที่คุ้มค่ามากๆ พื้นเสียงที่น่าสนใจยิ่งก็คือ KEF Q Concerto Meta ให้เสียงได้แฟลต คล้ายประสบการณ์ดนตรีจริงมากทีเดียว สังเกตได้จากประสบการณ์ส่วนตัวผมที่นิยมฟังการแสดงดนตรีสดในคอนเสิร์ทฮอลล์ โดยเฉพาะเสียงของกลุ่มเครื่องสาย ทำได้ราวหลุดมาจากธรรมชาติ (On The Beautiful Blue Danube Waltz, Op. 314 : EIN TRAUSSFEST) เพลงแนวพ็อพ แจ็ซ เพลงร้อง Q Concerto Meta ดูเสียงอิ่มเอม ให้ความเป็นธรรมชาติ น่ารัก เก็บรายละเอียดอย่างเข้าถึงพื้นเสียงของศิลปินครบถ้วน ศักยภาพเสียงใกล้เคียงลำโพงระดับคู่ละแสนเลยทีเดียว (Aaron Neville : Warm Your Heart / 50 ปีไม่ลืมสุรพล / ดอกไม้ที่กลับมา : ปาน ธนพร / Georg Benson 20/20 / คลาสสิก ไพบูลย์ บุตรขัน) ความกว้างลึกของเวทีเสียง หรือ Soundstage ถือว่าโดดเด่น แม้จะฟังในระดับแผ่วเบาก็ยังสามารถให้มิติเสียงออกมาสมบูรณ์ บางช่วงผมทดลองเบาเสียงจากโวลุ่มแอมปลิไฟร์ลงมามากๆ ให้มีระดับความดังเฉลี่ยแค่ 60-63dB ที่จุดนั่งฟังถือว่า ในแง่รายละเอียดและความกว้าง ลึก เวทีเสียง KEF Q Concerto Meta ทำได้ดีกว่าลำโพงในระดับราคาเดียวกันอย่างชัดแจ้ง จุดเด่นใน KEF Q Concerto Meta ที่น่าจะต้องบันทึกเอาไว้ คือการตอบสนองเสียงดนตรี ฉับไว ทั้งกลางแหลมและเสียงต่ำ หัวโน้ตของเบส หรือเสียงต้นของเบส เป็นชิ้นเป็นอันครับ มีน้ำหนักเสียงออกมาครบถ้วน ในด้านความถี่ต่ำ เมื่อย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับ Q Series รุ่นเดิมถือว่ารุ่นใหม่นี้ จะเป็นพัฒนาการก้าวกระโดดที่ไกลออกมามาก เพราะเสียงเบสจะมีความเป็นตัวตน มีน้ำหนักเสียงทรงพลังเพิ่มขึ้น ได้ความสมจริงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก KEF Q Concerto Meta ปรับเปลี่ยนมาใช้ตัวขับเสียงแบบไดนามิค แทนการใช้พาสสีพเรดิเอเตอร์ นั่นเอง ประกอบกับการพัฒนาของตัวขับ Uni-Q เจเนอเรชั่นที่ 12 ทำให้เข้าถึงเสียงดนตรีในแบบ เกลี้ยงเกลาสะอาดและเฟสของเสียงแม่นยำถูกต้องตลอดเวลา จากแผ่น CD ที่ผมใช้ฟัง ทดสอบเป็นประจำ (The Last Emperor / Chuck Mangione : Fell So Good) พบถึงความฉับไวและสมดุลของเสียงดีมากๆ ผลจากการทดสอบทำให้เราค้นพบว่า นี่คือลำโพงซึ่งสามารถตอบสนองเพลงทุกประเภทได้อย่างไร้ข้อจำกัด สร้างความประทับใจเริ่มต้นปี 2025 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ KEF Q Concerto Meta มีพัฒนาการเทคโนโลยีลำโพงอย่างก้าวกระโดด และยังคงอ้างอิงความใกล้เสียงดนตรีเป็นอย่างยิ่ง นี่คือคำอธิบายว่า ลำโพงในระดับราคาห้าหมื่นกว่าบาท สามารถให้เสียงได้ดีที่สุดเพียงใด ***Reference NAD C3050 LE Amplifier Moonriver 404 Reference Amplifier M2 Tech Young DAC DENON DCD 2500 NE SACD Life Audio LD5MK ll Speaker Cable KEF Q Concerto Meta ราคา 54,900.- บาท ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เลขที่ 9/7 ซ. รัชดาภิเษก 18 ถ. รัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร 02-692-5216 Vgadz.com/kef https://www.facebook.com/KEFaudiothailand