KEF LS50 Meta และ KEF KC62 ผสานความลงตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน

KEF LS50 Meta และ KEF KC62 ผสานความลงตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน

10/04/2025    114

KEF LS50 Meta และ KEF KC62
ผสานความลงตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน

โจทย์ที่ว่า ถ้ามีลำโพงสองทางขนาดเล็กหรือขนาดกลาง แล้วต้องการอัพคุณภาพมากยิ่งขึ้น สมควรเปลี่ยนเป็นลำโพงตั้งพื้นหรือเสริมแอคทีฟซับวูฟเฟอร์? 
     
นี่ก็คือคำตอบที่น่าสนใจ ถ้าคุณยังต้องการให้ลำโพงวางขาตั้งหลัก แบบ Bookshelf แต่เดิมนั้น คงสถานะไว้ ไม่เปลี่ยนแปลง
     
สำหรับตัวอย่างการจัดเซ็ตครั้งนี้ ลำโพงหลักของผมคือ KEF LS50 Meta ในแง่การออกแบบจัดว่าล้ำสมัยที่สุดคู่หนึ่ง

 


      

ลำโพงรุ่น LS50 Meta ได้พัฒนามาหลายเวอร์ชั่น และล่าสุดก็คือ LS50 Meta เป็นลำโพงที่เน้นย้ำเรื่องความแม่นยำสูงและให้คุณภาพเสียงด้วยบุคลิกดึงดูดอารมณ์ ซึ่งสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีอะคูสติก ระดับ “ปฏิวัติวงการ” 
    
ลำโพงขนาดกะทัดรัด ที่แข็งแรงทนทานรุ่นนี้ ได้รับการออกแบบโดยใช้ไดรเวอร์อาร์เรย์ Uni-Q เวอร์ชั่น 12 ที่มีเทคโนโลยีการดูดซับ Metamaterial ที่ควบคุมโครงสร้างอันซับซ้อนมากคล้ายเขาวงกตที่สามารถดูดซับเสียงที่ไม่ต้องการจากด้านหลังของไดรเวอร์ได้ 99% 
      
เป็นเทคนิคช่วยขจัดความบิดเบือนที่เกิดขึ้นและให้เสียงที่บริสุทธิ์เป็นธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้น Uni-Q รุ่นที่ 12 พร้อม MAT ได้ทำงานร่วมกันภายใต้โครงสร้างที่ยอดเยี่ยม ในท่ามกลางความบิดเบือนที่น้อยลงที่สุดในระบบลำโพง และสนองตอบเสียงที่โปร่งใสสมจริงมากกว่าที่เคยเป็น 
     
เท่าที่ได้ทดสอบใช้งาน จุดเด่นลำโพงคู่นี้ คือความมีพลังในการกระจายเสียงได้สม่ำเสมอทั่วทั้งห้องได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งที่มีขนาดย่อมๆ เท่านั้น
     
ไดรเวอร์ Uni-Q ที่ประกอบอยู่บนพื้นผิวโค้งมนของแบบเฟิลหน้า ช่วยแผ่เสียงออกไปโดยไม่มีการรบกวนจากขอบแข็งซึ่งทำให้เกิดการ ”เลี้ยวเบน“ หรือ Diffraction ของเสียง ผลลัพธ์ที่ได้คือเสียงที่สะอาดและแม่นยำ
    
ไม่ใช่แค่ลำโพงที่ใช้งานได้ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังเป็นประติมากรรมที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับชีวิตของผู้ฟังอีกด้วย ปัจจุบัน LS50 Meta มีตัวเลือกสีให้ถึง 4 สี ได้แก่ Carbon Black, Titanium Grey, Mineral White และ Royal Blue Special Edition

 


        
LS50 Meta ได้รับการออกแบบโดย Simon Davies และ KEF Industrial Design Team ซึ่งมีแง่มุมทางด้านเทคนิคหลายอย่างที่น่าสนใจ หากมีโอกาส ผมจะนำเอาแนวคิดและวิธีการออกแบบของ Simon Davies มาให้ได้อ่านกันในเร็วๆ นี้ครับ

มีผู้รักลำโพง KEF LS 50 สอบถามเข้ามาบ่อยครั้งว่า พวกเขายังคงพึงพอใจในน้ำเสียง LS50 Meta แต่หากจะขยับเป็นลำโพงตั้งพื้นของ KEF ก็ออกจะเสียดายคุณสมบัติเสียงเดิมๆ ของลำโพงคู่โปรด ที่กลางแหลม และมิดเบสสวยงามมากๆ
     
ทางเลือกที่ทำให้ลำโพง มีความทรงพลังโอ่อาแม่นยำและย่านความถี่ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ใกล้เคียงกับลำโพงตั้งพื้น แต่ไม่อยากเปลี่ยนเป็นลำโพง Floor Standing ทำอย่างไรดี?
      
คำตอบที่ผมได้มาคือ ให้เสริม KEF KC 62 เข้าไป 1-2 ตู้ละก็ คุณก็จะเห็นความแตกต่างที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน 
 
และเท่าที่ผมนำมาจัดชุดทดสอบให้ฟังใน Live เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ชมจะเห็นว่า KEF LS50 Meta และ KC62 ได้ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่รู้สึกเลยว่า Active Sub-Woofer เป็นส่วนเกินในระบบ แต่กลับเสียงดีขึ้น และความสวยงามของตัวตู้ขนาดลูกเต๋า ก็เป็นที่ติดตาต้องใจยิ่งนัก 
      
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการให้ความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวางในเรื่องของการเสริม Sub-Woofer เข้าไปในระบบ 
     
ทุกสิ่งอย่างที่เป็นระบบเครื่องเสียงนั้น เราต้องยอมรับว่ามีหลายวิธีทางที่เราจะไปสู่จุดหมายของเราได้ 
    
ส่วนได้ ส่วนเสีย ส่วนผิด หรือส่วนถูก ขึ้นอยู่กับเรานำเอา Sub-Woofer มาใช้ด้วยเหตุผลใด และปรับให้สมดุลได้อย่างไร นั่นเอง
     
ซึ่งผมเคยได้อธิบายและแสดงเหตุผลเอาไว้หลายสิบประการแล้ว คงไม่จำเป็นต้องย้อนกลับมาพูดถึงอีก
   
ประโยชน์ย่อมขึ้นอยู่กับผู้ที่ใช้ว่า ใช้เป็น หรือไม่เป็น เข้าใจอรรถประโยชน์ที่พึงได้หรือไม่เพียงไร
     
สำหรับ KEF LS50 Meta และ KC62 ที่ผมได้ทดลอง Matching ใช้งานด้วยกันมาแล้ว ส่วนตัวคิดว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี 
    
เมื่อไม่อยากก้าวกระโดดขึ้นไปเล่นลำโพงตั้งพื้น อาจจะด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ห้อง หรือเหตุผลอื่นๆ KEF KC62 เป็นคำตอบที่น่าสนใจจาก ซัพวูฟเฟอร์จิ๋วที่น่าอัศจรรย์ ตู้นี้
     
แนวทางการออกแบบซับวูฟเฟอร์ KC62 ของ KEF คือ เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้พลังเสียงเบสที่หนักแน่นสมจริงเท่าที่จะเป็นไปได้เช่นเดียวกัน 

 


    
KC62 เป็นซับวูฟเฟอร์ขนาดกะทัดรัดเหลือเชื่อ สามารถมอบพลังและความมหัศจรรย์ของเสียงเบสที่ทุ้มลึกและแม่นยำ เพื่อประสบการณ์การฟังเพลง หรือชมภาพยนตร์ และเล่นเกมที่เต็มอิ่มและน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก
    
จุดเด่นคือ KC62 มีขนาดเท่าลูกฟุตบอล สร้างขึ้นโดยใช้วิศวกรรมชั้นยอดของ KEF  ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี Uni-Core ที่ล้ำสมัย ใช้ตัวไดรเวอร์ขนาด 6.5 นิ้ว จำนวน 2 หน่วย ทำงานคล้ายลูกสูบช่วงชักยาวให้การผลักอากาศได้ปริมาณมหาศาล ใช้การขับเคลื่อนด้วยแอมปลิไฟร์กำลังขับ 1,000W RMS Class D ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อขับความถี่ต่ำ
   
นี่คือการจับคู่ระหว่าง ลำโพง Book Shelf ขนาดย่อม กับ Active Sub-Woofer ขนาดจิ๋ว แบรนด์เดียวกัน ซึ่งออกแบบมาบนพื้นฐานเดียวกันด้วยครับ

 

 

• ผลลัพธ์ที่ได้จากภาคปฏิบัติ KEF LS50 Meta และ KEF KC62 ทดสอบจริงในห้องฟังขนาด 3.5x4.5 เมตร 
    
การปรับถือว่าง่ายมาก เพราะมี EQ หรืออีควอไลเซชั่นด้วย DSP อัตโนมัติถึง 5 ตำแหน่ง (Room, Wall, Corner, Cabinet, Apartment)
    
ให้เราเลือกโหมดไปตามจุดตำแหน่งที่วางในสภาพแวดล้อมของห้องก่อน แล้วปรับระดับความดัง ความถี่จุดตัด และเฟสตามมา
      
ข้อแนะนำ ควรหาจุดตั้ง KEF KC62 ในแนวระนาบเดียวกับ LS50 Meta  ซึ่งเป็นจุดดีที่สุด หรือจะเป็น เสมอด้านหน้า หรือถอยหลังลึกกว่าลำโพงหลักก็ได้
   
ไม่ควรให้ตู้ซับ KEF KC62 วางล้ำหน้า หรือถอยหลังมากเกินไป ควรอยู่ห่าง LS50 Meta ในระยะไม่เกิน 1 ฟุต หรือใกล้กว่า เพราะจะปรับได้กลมกลืนง่ายขึ้น
     
ให้ปรับค่าจุดตัดต่ำสุดของซับวูฟเฟอร์ ปรับระดับความดัง Level ทีละเล็กละน้อยแล้วค่อยๆ ขยับขึ้นมา ในจุดที่เสียงเชื่อมต่อกันราบรื่นที่สุด  
    
สำหรับในการทดสอบของผม ที่ได้ผลดีที่สุดคือ ให้ตั้งค่าความถี่จุดตัดของ KC62  ไว้ที่ประมาณ 45Hz เพราะนั่นคือจุดที่เบสของ LS50 Meta เส้นเคิร์ฟจะเริ่มลาดลงมา 
    
ถ้าถามว่า จุดที่ 45 Hz ของ KC62 อยู่ตรงไหน ก็ให้ดูที่ปุ่มปรับ Crossover ของ KC62 ซึ่งจะอยู่กึ่งกลางระหว่าง 40 และ 50Hz ครับ
     
อันที่จริงเราสามารถยกจุดตัดความถี่ให้สูงขึ้นได้ ประมาณ 100Hz แต่การทำงานร่วมกับ LS50 Meta อาจจะไม่ได้ผลดีและกลมกลืน ได้เท่ากับจุดตัด 45-50Hz นี้

วิธีฟังคือ การปรับให้เบสและเสียงต่ำต้องไม่โด่งขึ้นมากเกินจริง ยึด Tonal Balance เป็นหลัก
ในการหาจุดสมดุล – ใช้วิธีปรับด้วยการหาจุด 2 จุดคือ
จุดที่ทำให้เราได้ยินเสียงต่ำชัดเจนที่สุด (อาจจะล้นๆ นิดนึงก็ได้)
จากนั้นปรับให้ได้ยินเสียงซับวูฟเฟอร์เบาที่สุด หรือแทบไม่ได้ยินเลย หลังจากนั้นให้หาจุดกึ่งกลาง ระหว่างสองจุดตำแหน่งนี้ 

โดยอ้างอิงจากเพลงหรืออัลบั้มที่คุ้นเคยและมีย่านความถี่ค่อนข้างครบ ไม่ใช่แค่นำแผ่นหรือใช้เพลงที่เน้นเสียงกลอง หรือเสียงต่ำตูมตามมาปรับ เป็นหลักนะครับ
     
สรุป จุดที่ดีมากๆ ของ LS50 Meta และ KC62 คือแนวทางการออกแบบนั้นเป็นแบรนด์เดียวกัน การปรับจึงกลมกลืนกันง่าย และใช้เวลาไม่นาน คุณจะปรับเป็นลำโพงซิสเต็มเดียวกันได้อย่างลงตัว

• หมายเหตุ ทั้ง KEF LS50 Meta และ KEF KC62 ควรถูกเบิร์น เกิน 80-120 ชั่วโมงแล้ว จะให้ผลอย่างเต็มที่ครับ

 

 

บทสรุป จากการใช้ KEF KC62 ร่วมกับ KEF LS50 Meta 
1. ให้เวทีเสียงด้านกว้างลึกดีขึ้น
2. เครื่องดนตรีเสียงต่ำชิ้นหลัก อย่างดับเบิ้ลเบส กลอง มีมวล และพละกำลังเต็มอิ่มขึ้นอย่างน่าพึงพอใจมาก เรียกว่าสร้างความชัดเจนมีสัดส่วนของดนตรีเพิ่มขึ้น
3. น้ำหนักเสียงของชิ้นดนตรี มีมิติเป็นชิ้นเป็นอัน ให้สเกลเสียงสมจริง
4. มีผลด้านเสียงร้องที่อิ่มลึกขึ้น เสียงลงลำคอจะดูเป็นจริงมากกว่าเดิม
5. อิมเมจ จุดตำแหน่งเสียง ให้ความมีสัดส่วน ทรวดทรงดนตรี ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม
6. ช่วยให้เสียงต่ำทอดยาว มีน้ำหนัก มีผลดีกับเพลงแจ๊ส ร็อค และคลาสสิก จำพวกวงออเคสตร้า
7. มวลรวมของการฟังดนตรีที่มีจำนวนชิ้นมากๆ อย่างเพลงจากวงออเคสตร้า มีไดเมนชั่นเสมือนเสียงสามมิติเพิ่มขึ้น รูปวงขยายเต็มอัตราส่วน
    
นี่คือการรวมระบบลำโพง KEF LS50 Meta และ KEF KC62 ที่เสมือนหยิบลำโพงทรงลูกเต๋ามาผสมผสานกัน ทั้งลำโพงหลักและซับวูฟเฟอร์ ด้วยการส่งพลังเสียงโดดเด่น โอ่อ่าเทียบเคียงลำโพงตั้งพื้นระดับแสนได้อย่างสบายๆ และอาจจะมีข้อดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ไม่เปลืองพื้นที่ห้องฟัง นั่นเอง

KEF LS50 Meta ราคาคู่ละ 49,900.- บาท
KEF KC62 ราคาตู้ละ 69,900.- บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ทดลองฟังได้ที่ ร้านจำหน่ายเครื่องเสียงชั้นนำทั่วไป 
หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
เลขที่ 9/7 ซ. รัชดาภิเษก 18 ถ. รัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ
โทร 02-692-5216
https://www.vgadz.com/kef/
https://www.facebook.com/KEFaudiothailand