KEF KUBE 12 MIE เสริมความถี่ต่ำให้อิ่มสมจริงและสมดุล

KEF KUBE 12 MIE เสริมความถี่ต่ำให้อิ่มสมจริงและสมดุล

20/02/2025    93

KEF KUBE 12 MIE
เสริมความถี่ต่ำให้อิ่มสมจริงและสมดุล 

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์อย่างกว้างขวางในการนำแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ มาเสริมในลำโพงหลัก มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มีทั้งคนพร้อมเปิดใจรับ กับผู้ที่ “หัวเด็ดตีนขาด” ก็ไม่เอา 
       
วิวาทะทั้งหลายในกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ทั้งสองฝั่งฟากแนวคิดนั้น ผมก็มีมุมมองของตัวเองเช่นกันคือ 
1. ไม่ได้เห็นด้วยว่า การจัดชุดซิสเต็มฟังเพลงสองแชนแนล ชุดเล็ก-ชุดใหญ่ ชุดไหนๆ ก็ต้องพ่วง Sub-Woofer เสมอไป
2. และก็ไม่ได้เห็นด้วยว่า ถ้าจัดชุดเครื่องเสียงฟังเพลง 2 แชนแนล ห้าม Sub-Woofer มาปรากฏกายในชุดเด็ดขาด ถือเป็นข้อต้องห้าม (ของใครไม่ทราบเหมือนกัน?)
          
ทุกอย่างควรขึ้นกับ หลักการ เหตุผล ในเรื่องของห้อง ซิสเต็ม ความต้องการของผู้ฟัง สไตล์เพลง ที่ออดิโอไฟล์แต่ละท่านย่อมมีข้อจำกัดอันแตกต่างกันไป 
         
***ได้แสดงทัศนะไปหลายครั้งแล้วในเพจแห่งนี้ ซึ่งผมจะมีลิ้งก์บางส่วนมาแปะไว้ท้ายบททดสอบ KEF KUBE 12 MIE ดังนี้นะครับ***
https://www.facebook.com/share/19hTvJ8DcG/?mibextid=wwXIfr

https://www.facebook.com/share/14iLfWiC1K/?mibextid=wwXIfr

https://www.facebook.com/share/12EY4Ypys58/?mibextid=wwXIfr

https://www.facebook.com/share/1A3TRMvdGt/?mibextid=wwXIfr

https://www.facebook.com/share/p/14xjoKZyRe/?mibextid=wwXIfr

https://www.facebook.com/share/p/14yFmR4uz4/?mibextid=wwXIfr

          
ความเห็นส่วนตัว การใช้หรือไม่ใช้ ผมยึดหลัก High Fidelity คือ ความเสมือนจริง และการย่อสเกลดนตรีจริงมาไว้ในห้องฟัง 
         
ถ้าผู้ฟังรู้สึกได้ถึงความพอดีแล้ว ก็ไม่ต้องไปเติมอะไร แต่ถ้าสียงย่านความถี่ต่ำไม่พอ ก็สามารถจะเสริมให้มัน “พอดี” ยิ่งขึ้นได้  แต่ไม่ใช่เติมให้มันเกินจากเสียงดนตรีจริง หรือเกินกว่าสิ่งที่ Studio เขาบันทึกมา อันนี้ย่อมไม่ใช่แนวทาง และจุดประสงค์ การใช้ Sub-Woofer ของผมครับ
       

 


จากนี้ไปคือผลการทดสอบใช้งาน KEF KUBE 12 MIE ที่มีบทสรุปน่าสนใจ บันทึกเอาไว้ให้พิจารณากัน

• การพัฒนาของบริษัทลำโพงระดับโลก อย่าง KEF นั้น มีรากฐานมายาวนานนับแต่กำเนิดในปี 1961 (63ปี) การออกแบบสินค้าใดขึ้นมาใหม่ จะมีเหตุและผลรองรับ โดยเฉพาะความก้าวหน้าในเทคโนโลยี ที่ดีขึ้นและเอื้อประโยชน์กับผู้ใช้งานจริงๆ
       
ส่วนตัวผมก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้สินค้าของ KEF อย่างเช่น KEF BBC Monitor LS3/5 A ได้จัดเอา KEF KC62 มาเสริมความถี่ต่ำ สลับกับ Rogers AB1  (Passive Sub-Woofer)
         
เพราะเมื่อฟังดนตรีบางประเภทเช่น วงแจ๊ส บิ๊กแบนด์ ซอฟท์ร็อค และคลาสสิกคัล มันมีความจำเป็นตามสมควรสำหรับผม
        
หรือลำโพง BBC Monitor Rogers LS3/5 A ผมตัดสินใจซื้อแอคทีฟซับ Rogers AB3a มาใช้งานร่วมกันเป็นเซ็ต  เพราะลำโพงหลักในตระกูลนี้ ลงความถี่ต่ำลึกได้เพียง 70Hz เท่านั้น
      
ดังนั้น เหตุและผล จึงเป็นไปตามความต้องการของตนเองเป็นหลัก       
• KEF KUBE MIE นั้น เป็นความพยายามพัฒนาแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ ที่ดีไซน์แต่เดิมใช้งานเฉพาะสำหรับโฮมเธียเตอร์ ให้เพิ่มความสามารถตอบสนองการฟังเพลงด้วย 
        
พัฒนาถึงจุดที่ มีการใช้ระบบ DSP (Digital Signal Processor) ที่คิดค้นเองมาช่วยควบคุมการทำงานระบบ SUB ให้สนองตอบการฟังด้วยกันทั้งสองรูปแบบ
       
และแอคทีฟซับวูเฟอร์ KEF รุ่นที่ผมเลือกมาทดลองใช้งานคือ KUBE 12 MIE ที่สามารถลงความถี่ต่ำได้ลึกถึง 22Hz ต้องการให้มาเสริมช่วงต่ำกว่า 48Hz ของลำโพงหลัก KEF Q Concerto META 
          
ความหมายระบบ DSP ที่อัพเกรดให้เหมาะกับการฟังเพลง  MIE : Music Integrity Engine เป็นระบบ Digital Signal Processor ซึ่ง KEF ค้นคว้า วิจัยพัฒนาขึ้นมาด้วยตนเองอย่างยาวนานหลายปี เพื่อการควบคุม  แอคทีฟซับวูฟเฟอร์ ให้ผลักอากาศได้แม่นยำ ฉับไว เสียงบริสุทธิ์ ความเพี้ยนต่ำ สามารถให้ความกลมกลืนลำโพงหลักได้ง่าย
    
จุดตัดความถี่สูงสุด KEF จงใจออกแบบให้อยู่ไม่เกิน140Hz และปรับค่าลงไปได้ต่ำสุดที่40Hz
        
KUBE 12 MIE มีโครงสร้างตู้เป็นตู้ปิดทึบ Acoustic Suspension ตัวขับเสียงขนาด 12 นิ้วยิงเสียงออกด้านหน้า ช่วยให้ง่ายต่อการจัดวาง และยิงเสียงไปในทิศทางเดียวกันกับลำโพงหลัก 
        
คุณสมบัติอีกส่วนหนึ่ง IBX หรือ Intelligence Bass Extension โดยในส่วนนี้ จะทำหน้าที่คำนวณสัญญาณเสียงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เบสความสมจริงลงลึก และคงไว้ซึ่งไดนามิคหรือพลังตลอดระดับความดังของเสียง

 


         
KUBE 12 MIE มี Room Position EQ สามตำแหน่งให้เลือกวาง และปรับใช้ในสภาพความเป็นจริงในห้องคือ
•  In Room วางในห้องทั่วไป
•  Corner วางเข้ามุมห้องที่เป็นมุมชนกัน 90 องศา 
•  Wall / Cabinet วางชิดผนังด้านใดด้านหนึ่ง
        
มี Power Mode เลือกเปิดตลอดเวลา หรือเปิดเมื่อมีสัญญาความถี่ต่ำเข้า และใช้งานแบบ12 V trigger
         
KEF ดีไซน์ แอคทีฟซับวูฟเฟอร์ KUBE MIE ทั้งหมด4 รุ่นคือ KUBE 15 MIE, KUBE 12 MIE, KUBE 10 MIE และ KUBE 8 MIE
        
ตัวขับเสียงเป็นแบบเดี่ยว ยิงแบบ Front Firing ขนาดวูฟเฟอร์ ให้ดูที่รหัสรุ่นได้เลย คือ 15-12-10 และ 8 นิ้วตามลำดับครับ
        
การเลือก KEF KUBE 12 MIE มาทดสอบ เพราะเป็นรุ่นกลาง พอเคราะห์แล้ว เหมาะกับ KEF Q Concerto META และเพื่อการบาลานซ์ที่ดีผมนำมาใช้ 2 ตู้ ทั้งแชนแนลซ้าย และขวา
        
สำหรับกำลังขับในตัวตู้ของ KEF KUBE 12 MIE คือ 300 วัตต์ คลาส D ขนาดตู้ 410 x 393 x 410 มิลลิเมตร ตอบสนองความถี่ 22Hz - 140Hz (±3dB) ตัวขับเสียงขนาด 12 นิ้ว ยิงเสียงออกด้านหน้า
           
• ผลจากการเซ็ตอัพ KEF KUBE 12 MIE ภายในห้องของผมที่มีพื้นที่ ขนาด 3.5 x 4.5 เมตร 

 


       
KEF KUBE 12 MIE เลือกต่อสัญญาณ ได้ทั้งแบบ High (พ่วงสายลำโพง) และช่อง Smart Connect LFE แต่ผมเลือกต่อจากช่อง Smart Connect LFE ที่ช่อง RCA หลังจากทดสอบ Setup ก็ได้ระยะการวางที่เหมาะสมคือ
1. วางตู้ซับให้อยู่ริมด้านนอกลำโพงหลัก
2. ให้แนวระนาบด้านหน้าของ KEF KUBE 12 MIE อยู่เสมอกับลำโพงหลัก
3. ระยะห่างผนังหลัง อยู่ที่ 90 เซ็นติเมตร
4. ระยะห่างผนังด้านข้างประมาณหนึ่งฟุต หรือ 30 เซนติเมตร 
5. เลือกจุดตัดความถี่ต่ำ หรือ Cross over point ที่ 50Hz 
6. เลื่อนระดับโวลุ่มไปที่ประมาณ บ่าย 13.00 น. (Phase เฟส 0)
7. เลือกโหมดการใช้งานที่ Always 
8. เลือกโหมด EQ ที่ In-roomก่อนปรับเซ็ตเสียง
        
ให้เสียงที่กลมกลืนน่าพึงพอใจมากในการทำงานระหว่าง KEF Q Concerto META และ KUBE 12 MIE ถือว่าเป็นคู่ที่เหมาะสมลงตัว
        
ที่น่าสนใจคือ ปุ่ม Phase ผมปรับไว้ที่ ศูนย์ 0 ตลอด โดยไม่ต้องปรับมาทาง 180 องศา แต่อย่างใด 
      
ตัวตู้ KUBE 12 MIE มีการใช้ผ้าหุ้มสีดำจากด้านหน้าไปจรดด้านหลังมิดชิดให้ความรู้สึกสัมผัสเป็นชิ้นเดียวกัน
  ***สำหรับห้องอื่นๆ อยากจะเริ่มต้นในแบบอย่างที่ผม Set up นี้ ก็ได้ครับ แล้วประยุกต์ ปรับแต่ง Set up เพิ่มเติม***
       
เทคนิคในการปรับ 
พยายามตั้งจุดตัดครอสโอเวอร์ไปทางความถี่ต่ำลึก 40-50-60 Hz เอาไว้ก่อน
- ปรับปุ่ม Volume คู่กับจุดตัดความถี่ แล้วเร่งไปจนถึงจุดที่ได้ยินเสียงจากซับวูฟเฟอร์โดดเด่นถนัดชัดเจน จนรู้สึกได้ง่าย 
- และจากนั้น ค่อยๆ ลดระดับลงเหลือแผ่วเบาจนแทบจะไม่ได้ยินเสียงจากการทำงานซับวูฟเฟอร์
- จากนั้น ให้เราปรับหาจุดกลางระหว่างสองจุดดังกล่าวนั้น ว่าตรงที่ใด กลมกลืนกับลำโพงหลักที่สุด
- ในขณะที่ปรับ อาจจะมีบางช่วงที่ความถี่ต่ำจาง หรือความถี่ต่ำโด่งเป็นช่วงจังหวะตามเสียงดนตรี 
- แสดงว่า ปรากฏการณ์นั้น เราจะต้องปรับ ขึ้นมาทาง 60-80Hz หรือลดลงไปทาง 40Hz อย่างใดอย่างหนึ่ง (ค่าจุดตัดสูงสุดอยู่ที่ 140Hz)
       
ตรงนี้จะเป็นจุดที่ Sensitive ดังนั้น ใช้เวลาปรับซ้ำๆ ดูหลายๆ รอบ เพื่อหาจุดสมดุล ไม่ต้องรีบร้อนครับ
- ในการปรับใช้กับระบบโฮมเธียเตอร์ที่ช่อง .1 Channel อาจจะเริ่มจาก 60Hz ขึ้นไปหา 80Hz ซึ่งตรงนี้น่าจะต้องใช้ภาพยนตร์ที่ชมบ่อยๆ และคุ้นเคยครับ
- ผมใช้ Life Audio Signature Mellow ตัวรอง มาเสริมขาทั้งสี่มุม ให้ความกระชับเสียงต่ำดีขึ้นไปอีก
       
ดังนั้นท่านใดจะพิจารณาหาอุปกรณ์ ตัวรองมาเสริมกำจัดไวเบรชั่นส่วนเกินก็จะยิ่งดีครับ 
- หากไม่อยู่ในลักษณะ หรือระยะเดียวกับที่ผมเซ็ตอัพ ให้เลือก EQ ตามลักษณะการวางก่อนแล้วค่อยปรับหาความสมดุลได้ครับ ทั้ง In Room Corner, Wall / Cabinet 

 

บทสรุปสำหรับ KEF KUBE 12 MIE คือ
- เป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจมาก เพราะซับรุ่นใหม่นี้กลับปรับ Set up ไม่ยากอย่างที่คิดเอาไว้เลย 
- เทียบเคียงกับตู้ซับที่ผมเคยปรับมาแล้ว KUBE 12 MIE ถือว่าง่ายที่สุดครับ
- แน่นอนว่า การกลมกลืนเข้ากันได้ระหว่าง KEF Concerto META กับ KUBE 12 MIE ถือว่าลงตัวแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกัน
- เมื่อใช้ KUBE 12 MIE กับลำโพงหลักต่างแบรนด์กัน เอาเฉพาะลำโพงที่ผมซื้อไว้ใช้เองหลายคู่ หลายแบรนด์ พบว่าจะไม่สมดุลกับลำโพงแนววินเทจรุ่นเก่านัก 
         
แต่กับลำโพงอย่าง ELAC ตั้งแต่ BS403, PSB Alpha P5 , NHT SuperOne 2.1 กลับให้ความกลมกลืน ปรับง่าย แสดงถึงว่า ลำโพงยุคใหม่ทั้งหลาย น่าจะใช้ร่วมกันได้ แม้จะต่างแบรนด์ ดังนั้นให้ลองหาโอกาสฟังจริงก่อนตัดสินใจ

 

ข้อแนะนำ
- ห้องขนาด 12 -15 ตารางเมตรขึ้นไปสามารถใช้ KUBE 12 MIE สองตู้ได้ 
  ถ้าต่ำกว่า ขนาด 12 ตารางเมตรลงมา ควรใช้รุ่น KUBE 12 MIE เพียงตู้เดียว หรือ KUBE 10 MIE , KUBE 8 MIE สองตู้แทน 
- การใช้ซับ ตู้เดียว หรือ 2 ตู้ ควรพิจารณาจากขนาดห้อง และสไตล์เพลงที่คุณฟังเป็นหลักนะครับ
- สำหรับลำโพงขนาดเล็ก อาทิ LS3/5 A Harbeth P3 ESR, ProAc Tablette 10 เหล่านี้จะปรับให้สมดุลกับ KEF รุ่น KC62 ง่ายกว่า อันเนื่องจากขนาดและดีไซน์ 

 

 

จุดเด่น KEF KUBE 12 MIE 
- ปรับเซ็ตอัพง่าย ระบบลำโพงทำให้โอกาส Boom น้อยอย่างยิ่ง
- เมื่อปรับได้ลงตัว ไม่ใช่แค่เสริมเสียงต่ำให้สมบูรณ์ขึ้น แต่จะให้เสียงกลางเสียงร้องดูอิ่มฉ่ำขึ้นอีก อย่างเห็นได้ชัด
- ฟังเพลงจากอัลบั้มคลาสสิก Telarc ดูเหมือนฟิลลิ่งของวงออกเคสตร้ายิ่งใหญ่ขึ้นมาก โดยเฉพาะเวทีเสียงที่โอ่อ่า 
- ขั้วต่อด้วยสายลำโพง (EXP) ดูจะเป็นขั้วต่อที่เล็กไป จึงแนะนำให้ต่อ Line Level ทาง RCA ดีกว่า และสายไฟ AC จะเป็นขั้วแบบ C7 ธรรมดา (ไม่ใช่แบบ IEC มีกราวนด์) แนะนำให้อัพเกรดสายที่ดีกว่าได้ครับ

การเสริม Active-Subwoofer ควรจะพิจารณาตามความเหมาะสม ตามที่เรียนไว้เบื้องต้นในเรื่องของรสนิยม หรือขนาดห้อง และข้อจำกัดของคุณเสมอ
        
แต่ต้องไม่ลืมพิจารณาเรื่องความสมดุลของย่านความถี่เป็นสำคัญ 
  
ยกตัวอย่าง ให้เห็นชัดขึ้น คือคุณจะพึงพอใจเล่นลำโพงเดี่ยว แบบตั้งพื้นคู่เดียว อาทิ KEF รุ่น Q11 Meta หรือเลือกทางที่สอง KEF Q Concerto Meta ผนวก KEF KUBE 12 MIE อันเนื่องจาก ขนาดห้อง ความสะดวก ความสมดุลในการจัดตำแหน่ง และข้อจำกัดรวมถึงความต้องการของตนเอง ทุกอย่างมีทางให้เลือกเสมอ

KEF KUBE 12 MIE ราคาตู้ละ 39,900.- บาท 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ทดลองฟังได้ที่ ร้านจำหน่ายเครื่องเสียงชั้นนำทั่วไป 
หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
เลขที่ 9/7 ซ. รัชดาภิเษก 18 ถ. รัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ
โทร 02-692-5216
https://www.vgadz.com/kef/
https://www.facebook.com/KEFaudiothailand