REL S/510 ประสิทธิภาพระดับสุดยอดในรูปทรงกะทัดรัด
การเรียงซ้อน STACK แบบมืออาชีพ เพื่อเสียงต่ำที่เป็นจริงยิ่งกว่า
หลังจากได้ฟังซับวูฟเฟอร์ ของ REL รุ่น S/510 ทั้งในแบบ วางเรียงซ้อนซึ่งเริ่มได้จาก สอง สี่ หก ลูก แล้วแต่ความจำเป็น หรือความเหมาะสม และจากนั้นผมก็มาฟังมันแบบตู้เดียว เดี่ยวๆ แล้วย้อนคิดผลลัพธ์หลายๆ แง่มุม และพยายามถามตัวเองว่า
เราต้องใส่ซับวูฟเฟอร์เข้าไปในระบบลำโพงสเตอริโอจริงๆ หรือ และมันเลอะเทอะ ไม่ถูกหลักการอย่างที่บางคนคิดใช่ไหมกับการวางเรียงซ้อนแบบ STACK เพื่อให้เสียงต่ำสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้?
ทำไมต้อง เรียงซ้อนสอง และสามตู้ต่อแชนแนล เพื่อให้ลงตัวกับปริมาตรของห้องฟัง หรือเพื่อลดความผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนของความถี่ต่ำ
มีคำถามมากมายที่ผมอยากนำทุกประสบการณ์มาตอบในบทความนี้ เพราะหลังจากทดสอบเสร็จสรรพเรียบร้อย กลับใช้เวลานั่งคิดนอนคิดอยู่หลายวันเหมือนกันว่า ผมจะเรียงร้อยถ้อยความในประสบการณ์นี้อย่างไรถึงเราจะเข้าใจได้ตรงกัน
ผมเป็นคนสูงอายุในวงการนักวิจารณ์ระบบเสียง ผมมีอดีตมาก มากจริงๆ จนบางคนอาจจะนึกรำคาญ ที่ผมมักพูดว่า เราควรเอาอดีตมาอธิบายปัจจุบัน และมองไกลไปในอนาคต ผมมีประสบการณ์แค่ไหนอย่างไร ตามคนยุคนี้ ทันหรือไม่?
แต่ผมเชื่อว่าการจะอธิบายได้รอบด้านนั้นจะต้องมีแบ็กกราวนด์ที่ดีและเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งเราจึงจะสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าเราได้
ไม่มีอดีต ก็ไม่มีปัจจุบัน ไม่มีปัจจุบัน ก็ไม่มีอนาคต
เมื่อ 25 ปีที่แล้วผมได้จัดซิสเต็มลำโพง และเครื่องเสียงให้ผู้ใหญ่ระดับรัฐมนตรีของประเทศนี้ท่านหนึ่ง ท่านเป็นคนชื่นชมเพลงคลาสสิกมากๆ เราได้นั่งฟังด้วยกัน แล้วตัดสินใจเลือกลำโพงตั้งพื้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เรียกว่าตู้ยักษ์ในยุคนั้น หนึ่งคู่
แต่ท่านผู้ใหญ่ของผม ท่านก็ยังบอกว่า ลำโพงที่จัดมานี้ มันก็ยังขาดเสียงต่ำสุดอยู่เล็กน้อยอยู่ดี นั่นคือเสียงกลองทิมปานี และดับเบิ้ลเบส รวมทั้งออร์แกนท่อในบางช่วงยังไม่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนเหมือนกับตอนที่ท่านได้ฟังการแสดงในมิวสิคฮอลล์
ที่สุดคือผมตัดสินใจนำเอาแอคทีฟว์ซับวูฟเฟอร์ในแบรนด์เดียวกันกับลำโพงหลัก ที่มีตัวขับขนาด15 นิ้วถึงสองตู้ไปเซ็ตอัพ แบบแยกซ้ายขวา ผสมผสานรวมกัน จึงทำให้ท่านที่ผมเคารพนับถือยินดีและพอใจมาก
ทุกครั้งที่นั่งฟังวงออเคสตร้าบรรเลง ท่านจะยิ้มออกมาอย่างมีความสุข และตบไหล่ผม พร้อมบอกว่าขอบคุณมากที่ได้ฟังเสียงต่ำลงลึกสมจริงได้ขนาดนี้
ช่วงเวลานั้นผมเองยังสงสัยว่า ถ้าขนาดนั้นแล้วท่านยังไม่พอใจ ผมจะทำอย่างไรต่อไปกับความถี่ต่ำ?
นั่นคืออดีตครั้งสำคัญที่ทำให้ผมตระหนักถึงคุณสมบัติเสียงต่ำ
ดังนั้นพอเราก้าวมาถึงยุคปัจจุบัน ที่มีการนำเอาซับวูฟเฟอร์เสริมลงไปในระบบสเตอริโอ ที่ทาง REL มาปลุกกระแสการเรียกคืนย่านความถี่ต่ำให้ครบถ้วนสมบูรณ์
และการ STACK ซับวูฟเฟอร์จำนวนหลายตู้เข้าในหนึ่งระบบ ที่ออกจะดูมากเกินไปนั้น มีหลายคนไม่เข้าใจก็จะดูแคลนว่า มันเป็นความบ้าพิลึกพิลั่น แต่ถ้าใครเข้าใจ ”ความถี่ต่ำลึกที่มีคุณภาพสมจริง” ก็คงจะเข้าใจในที่สุด ตรงที่ว่า
เราไม่รู้จะหาคำตอบ เรื่องมีวิธีใดที่ดีกว่านี้อีก ถ้าเราต้องการความสมบูรณ์แบบเสียงต่ำที่ดี และหมดจด ก็คงไม่พ้นต้อง STACK เท่านั้น
หากไม่ต้องการวิธีนี้ เราอาจจะต้องรอคอยการพึ่งพาเทคโนโลยีในยุคใหม่ ในอนาคตข้างหน้า ที่มันสามารถนำพาเราไปจนถึงจุดที่ไม่จำเป็นต้อง STACK ลำโพงซับวูฟเฟอร์
แต่ตอนนี้ ยังไม่มีความก้าวหน้าถึงขั้นระดับนั้น ทาง REL จึงต้องนำเอาวิธีการที่ใช้กันในระบบProfessional มาพัฒนาปรับใช้เป็นวิถีทางของตัวเอง
โปรดติดตามเรื่องราวนี้ แบบอ่าน ระหว่างบรรทัดด้วยนะครับเพื่อค้นหาคำตอบไปด้วยกัน
เรื่องแรกสุด การทำความเข้าใจในการออกแบบ REL S/510 จากข้อมูลที่ผมพยายามค้นคว้าศึกษาจากการออกแบบของโรงงานก่อนนะครับ
ในการออกแบบ S/510 ทีมงานวิศวกรของ REL ได้นำเอาลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่นก่อนหน้ามาวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงภายในทุกชิ้นส่วน โดยไม่คำนึงว่าจะเคยเป็นที่นิยมอย่างไรหรือไม่
วิศวกร ทีมงานดีไซน์ได้เปิดแนวคิดใหม่ในการออกแบบเรื่อง กำลังขับ, ปรับปรุงไดรเวอร์ และฟิลเตอร์พิเศษ ในการอัพเกรดครั้งนี้ เพื่อให้ระบบทั้งหมดทำงานด้วยประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งที่ทำพร้อมๆ กันไปคือ การออกแบบตัวตู้ใหม่ทั้งหมดด้วย เพื่อรองรับการปรับปรุงข้างต้น
ลำโพงในกลุ่มหรือตระกูล S นี้ จึงนับเป็นชัยชนะของการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งได้ผลสุดยอดเกินความคาดหมายของทีมออกแบบเลยทีเดียว จุดมุ่งหมายของทีมงานก็คือ ต้องการให้เสียงเบสที่หนักแน่น ทุ้มลึก ในช่วง 20-35 Hz โดยมีช่วงได้นามิคที่ดีเยี่ยมสำหรับ การฟังเพลง และชมภาพยนตร์
รวมทั้งสนามเสียง Soundfield ที่เปิดกว้างให้บรรยากาศที่เหมาะกับทั้งเสียงดนตรี และการชมภาพยนตร์ ดังที่ทุกคนปรารถนา ทีมงานจึงได้เลือกออกแบบภาคขยายเจเนอเรชั่นที่สาม (NextGen 3 amplifier) ปรับวงจรให้ได้พลังสูง 500 วัตต์ เพื่อให้มีพลังสำรองที่จำเป็น
พร้อมกันนี้ก็เพิ่มแผ่นฟิล์มคาร์บอนไฟเบอร์ที่หลังไดรเวอร์ เพื่อรับมือกับพลังกระแทกกระทั้นอันหนักหน่วงของเสียงต่ำ ทีมงานได้พัฒนาโดยใช้ฟิลเตอร์ออกแบบใหม่อีก 2 ชุด เพื่อให้ได้พลังขับอันบริสุทธิ์ และมวลเสียงอันสมบูรณ์
และประการสุดท้าย S/510 ยังถูกออกแบบให้สามารถจัดเรียงแบบชุด 4 ตู้ หรือ 6 ตู้ เช่นเดียวกับรุ่น Reference อ้างอิงของ RELอัพเกรดแบบแนบเนียนไร้ร่องรอย
ต่อมาระบบ BASS ENGINE ของ S/510 มีการอัพเกรดกรวย Continuous Cast Alloy Cone ของ S/510 เพื่อให้ทนต่อการใช้ขับพลังมหาศาลที่เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมความแกร่งให้กับโคนแบบอลูมิเนียมอันบางเฉียบ
ในการรับมือกับพลัง 500 วัตต์ และออกแบบให้มีช่วงชักที่ยาวกว่าปกตินี้ ทีมวิศวกรจึงออกแบบใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์บริสุทธิ์ที่มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ ประกบอยู่ด้านหลังบางส่วนของกรวยไดรเวอร์ตามที่ออกแบบไว้
การออกแบบเช่นนี้ได้ผลลัพธ์สองประการ คือหนึ่งทำให้กรวยแข็งแกร่งขึ้น และสองช่วยลดการสะท้อนกลับ วิธีนี้จะทำให้ไม่เกิดคลื่นย้อนกลับในตู้ลำโพง ซึ่งอาจไปกวนเสียงเบสที่กระจายอยู่ในห้อง
ผลที่ได้คือเสียงเบสที่แม่นยำ และหนักแน่นอย่างแท้จริง
ลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ RELใช้รูปแบบของแพสซีพเรดิเอเตอร์ ซับความถี่ต่ำที่ไม่เฉื่อยชา เป็นครั้งแรก ด้วย SUPERPROGRESSIVE PASSIVE RADIATOR
ตัว Passive Radiators ที่ปรับจูนมาอย่างสมบูรณ์แบบ ใช้รูปแบบของซัสเพนชั่นแบบพิเศษ ทำให้การขยับตัวผลักอากาศได้ในแนวลิเนียร์ได้มากถึง 8 มิลลิเมตร เพื่อพลังที่เหนือกว่าซับวูฟเฟอร์ทั่วไป ตัว Passive Radiator ซึ่งออกแบบใหม่คือ Super Progressive อันเป็นสิทธิบัตรเฉพาะของ REL
ซึ่งเป็นแพสซีพเรดิเอเตอร์ที่สามารถขยับตัวได้มากเป็นพิเศษ ช่วยเสริมให้พลังเสียงที่มีระดับความหนักแน่นยิ่งขึ้น โดยยังคงรูปแบบการเคลื่อนตัวด้วยความเสถียร เปรียบได้กับซับวูฟเฟอร์ ที่ออกแบบเป็นตู้ปิด 12 หรือ 14 นิ้วเลยทีเดียว
เพียงแต่ S/510 มีความไวสูงกว่า คล่องตัวกว่า ขับได้ง่ายและมีความแม่นยำกว่า
หัวใจของพลังในซับวูฟเฟอร์ S/510 คือเพาเวอร์แอมป์ 500 วัตต์ โมโนบล็อก เจเนอเรชั่นที่สาม (NEXTGEN 3 AMPLIFIER) ได้ถูกออกแบบด้วยหลักการเดียวกับ ภาคขยายระดับเรือธงรุ่นก่อนหน้า แต่ให้พลังมากถึง 500 วัตต์ นี่จึงเป็นขุมกำลังมหาศาล และอัดฉีดกระแสได้เหลือเฟือ
คือมีการเพิ่มกำลังขับมากขึ้นอีกกว่า 20% (รุ่นก่อนหน้ามีกำลังขับ 400 วัตต์) เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ระดับเสียง high output อันเหมาะสมสำหรับระบบเสียงโฮมเธียเตอร์ยุคปัจจุบัน และยังให้กำลังขับสำหรับเสียงเบสทุ้มลึกทรงพลัง ในระบบเสียง 2 แชนแนลแบบไฮเอ็นด์เป็นอย่างดีอีกด้วย
พลังที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการที่ทีมวิศวกรได้พัฒนาวงจรในภาคขยายที่ชื่อว่า Perfect Filter ซึ่งจะสร้างสมดุลระหว่างช่วงความถี่ตั้งแต่ต่ำสุดจนถึงสูงสุด วงจร Perfect Filter มันจะทำหน้าที่สำคัญต่อคุณสมบัติ 2 ประการ
อย่างแรกคือ เพิ่มความหนักแน่น ตอบสนองความถี่ต่ำ ที่ลงลึกที่สุด
อย่างที่สอง คือมีผลต่อการปล่อยผ่านให้เสียงกลางที่สะอาดสะอ้านในลำโพงหลักมากขึ้น และทำให้ได้เสียงแหลมสดใส แต่นุ่มนวลไม่บาดหู อีกต่างหาก
ยิ่งไปกว่านั้น ทีมวิศวกรยังใช้ Pure Theatre Filters ที่จะช่วยให้ S/510 รับมือกับเสียงเอฟเฟ็คต่างๆ ในระบบเสียงรอบทิศของภาพยนตร์ยุคนี้ได้อย่างปลอดโปร่งจริงจัง
มาถึงเรื่อง เทคนิคการเรียงซ้อน STACK เพื่อความเป็นที่สุดในแบบ SERIES S LINE ARRAYSก่อนอื่น เราควรรับรู้ในข้อที่ว่าในโลกของความเป็นจริงที่เราสัมผัส เสียงเบสมีทั้งความกว้าง ความลึก และความสูง เป็นสามมิตินะครับ มันไม่ใช่แค่เสียงเบสแน่นๆ พุ่งในทิศทางเดียวเท่านั้น
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการ STACK เรียงซ้อนในวิธีการของโปรเฟสชั่นแนล
ในระบบที่ REL คิดค้นขึ้น เราสามารถเรียงซับวูฟเฟอร์ S/510 ซ้อนกัน 3 ตัว แนวดิ่งต่อข้าง (แบบสเตริโอ หรือเป็น Main L-R สำหรับโฮมเธียเตอร์) ซึ่งผู้ฟังจะสัมผัสกับความตื้นลึก ตลอดจนความสูงของพลังดนตรีอย่างแจ่มชัด
นี่เป็นการยกระดับประสบการณ์ขึ้นจากที่เคยฟังเดิมๆ ไปสู่ประสบการณ์เสียงอิ่มเอมที่เต็มพื้นที่ ได้ทั้งความสูงเต็มเพดาน และเวทีเสียงที่กว้างลึกเสมือนจริง ท้าทายต่อบรรดานักฟังเครื่องเสียงหูทองที่น่าจะต้องลองสัมผัสกับรูปแบบของการฟังที่สมบูรณ์ของระบบเสียงที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นี้
ในข้อที่ว่า ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ใช้ระบบ REL LINE ARRAYS สามารถแปลงความบันเทิงจากภาพยนตร์ และดนตรีไปสู่ความรื่นรมย์ด้านเสียงอย่างสมบูรณ์แบบได้จริงๆ หรือไม่อย่างไร
ไม่สมควรด่วนวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้ฟัง เปิดใจให้กว้าง ควรนั่งลงและใช้ประสบการณ์ฟังของคุณให้เต็มที่ไปเลยครับ
สเปคโดยทั่วไปของ REL S/510
ใช้ตัวขับเสียงหลักขนาด 10 นิ้ว แบบ Long-Throw ยิงตรงมาด้านหน้า พร้อมแพสสีพเรดิเอเตอร์ยิงคว่ำลงพื้น ขนาด 12 นิ้ว มีแอมปลิไฟร์ขับกำลังในตัว 500 วัตต์ ขนาดตู้ 400 x 410 x 464 มิลลิเมตร ดีไซน์สวยงามสง่า เหมือนเฟอร์นิเจอร์ชั้นดี
หลังจากที่ผมเคยได้ฟังทดสอบระบบเรียงซ้อนหรือ STACK เจ้า REL S/510 สามตู้ต่อแชนแนล (รวมระบบสเตอริโอก็คือ 6 ตู้) มาระยะหนึ่งยอมรับว่ามันเป็นความน่าทึ่งของเสียงต่ำที่เราได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เบสที่ “อยู่ตัว” มันจะอิ่ม แน่น ลึก สื่อถึงพลังที่สมจริงจากเครื่องดนตรีทุกชิ้น เสียงร้องทุกท่อนทุกประโยค มันสามารถสร้างความถี่ต่ำที่มีมิติจริงๆ เราได้ยินเป็นครั้งแรก
ที่สำคัญมันมีผลต่อลำโพงเมนหลัก มีความสามารถทำงานในส่วนของเสียงกลางแหลมลงถึงมิดเบสได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้นอย่างเป็นผลดี
นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินหรือมีประสบการณ์มาก่อน
วิธีทดสอบง่ายๆ หลังจากต่อใช้งานไปสักระยะคือ เพียงแค่ปลด หรือตัดสวิตช์การทำงานซับวูฟเฟอร์ออก เราจะรู้สึกถึงการขาดหาย ของย่านความถี่ทุกย่าน อย่างน่ากลัวเลยทีเดียว เหมือนว่า ระบบที่เราฟังมาก่อนหน้านั้น มันยังไม่ดีพอเพียง
อาการขาดหายที่ว่า คือทั้งความอิ่มของเสียงกลางแหลม และเบสนะครับ ไม่ใช่หายไปเฉพาะความถี่ต่ำเท่านั้น
Test Report
และเพื่อให้การทดสอบของผมมีข้อสรุป จึงขอย้อนทวนต้นกลับไป TEST REPORT เพิ่มเติมด้วยการฟังเดี่ยวๆ เพียงตู้เดียวกับชุดเครื่องเสียงหลักที่เหมาะสมโดยนำ S/510 เข้าไปเสริมให้กับชุด สเตอริโอ ที่มีเครื่องเล่นซีดี ACCUSTIC ARTS CD Player 1 อินทีเกรเต็ดแอมป์ Octave V80SE และลำโพง B&W 805 D3 เป็นเรฟเฟอร์เร้นซ์
REL S/510 มีสายเชื่อมต่อในแบบเฉพาะตัวของเขามาให้ มันมีความยาวอย่างพอเพียง วิธีการต่อของสายก็คือเชื่อมโยงระหว่างซับ และระบบขั้วต่อลำโพงของแอมป์หลักที่เราใช้งานอยู่
โดยสายเชื่อมดังกล่าวจะมีสามเส้นหลัก เส้นสีแดง เหลือง ดำ ที่ต้องพิจารณา
ให้เอาเส้นสีแดงต่อผนวกเข้ากับขั้วบวกของแอมป์ที่แชนแนลขวา เส้นสีเหลืองต่อกับขั้วบวกแชนแนลซ้าย เส้นสีดำต่อกับขั้วลบฝั่งซ้ายหรือขวาก็ได้ จากนั้นต่อสายไฟ จัดตำแหน่งวางซับ REL S/510 ที่คิดว่าเหมาะสม แล้วก็ทดลองเปิดใช้งานได้เลย นี่เป็นการใช้งานเดี่ยวแบบตู้เดียว แต่หากต้องการ STACK ซับวูฟเฟอร์รุ่นนี้จะมีช่องเชื่อมต่อ ระหว่างตู้ต่อตู้มาให้ในตัวอย่างครบถ้วน
วิธีการปรับแบบพื้นฐานทั่วไป เมื่อต่อใช้งานแบบนี้ ผมจะเรียกว่าเป็นการต่อพ่วงแบบสัญญาณแรง หรือไฮเลเวล จุดสำคัญที่จะต้องทำการปรับควบคู่กันไปคือ ที่ระดับความดังของปุ่ม HI /LOW Level และที่Crossover ไม่เกี่ยวกับ LFE Level ที่ต่อสัญญาณอินพุตเข้าทางช่อง RCA ในกรณีเล่นโฮมเธียเตอร์
ดังนั้นทั้งสองจุดนี้จะถือว่าเป็นไฮไลท์ของการต่อพ่วงเพื่อการฟังเพลงสองแชนแนล ที่เราจะต้องทำการปรับอย่างระมัดระวัง และทีละสเต็ปหมุนกันทีละมิลลิเมตร อย่างช้าๆ และควรใจเย็นด้วย
ผมเลือกใช้วิธีประมาณการความถี่ต่ำจากปุ่ม Crossover ให้ค่อนลงมาทางจุดตัดต่ำสุดก่อน ที่ min แล้วค่อยๆ เร่งโวลุ่มที่ปุ่ม HI /LOW Level ทีละน้อยจนเริ่มรู้สึกได้ว่า ความถี่ต่ำเริ่มอิ่มฉ่ำมากขึ้น แต่เสียงต่ำต้องไม่โดด หรือหลุดล้ำหน้าออกมานะครับ
จุดตัดครอสโอเวอร์เริ่มจาก 20-120 Hz จุดต่ำสุดที่เรามองเห็นจากตัวตู้ ปุ่มจะตั้งต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 7 นาฬิกา เราสามารถปรับไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อจุดตัดจะสูงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตว่าอัตราการกระแทกกระทั้นจะปรากฏมากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว จงปรับอย่าให้รู้สึกฝืนหรือเกินจริง
ผมปรับจุดตัดไม่เกิน 12 นาฬิกา โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 11 นาฬิกา ตรงนี้เองที่ผมประเมินว่าครอสโอเวอร์ มันน่าจะไปอยู่ที่จุดตัดความถี่ 50 ถึง 60 เฮิรตซ์ ซึ่งเป็นจุดที่ดีที่สุดสำหรับในการปรับใช้งาน กับระบบฟังเพลงสเตอริโอ
ระดับของ HI /LOW Level เอาท์พุตก็เช่นเดียวกันก็จะอยู่ในช่วง 10 ถึง 11 นาฬิกา ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ครับ
สำหรับในห้องอื่นๆ ก็สามารถที่จะปรับขึ้นลงได้ตามความเหมาะสม แต่อยากจะให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งนะครับ สำหรับการปรับ Crossover นั้น ขอให้ปรับจุดตัดความถี่อยู่ในระดับที่ผมกล่าวมา อย่ามาก ไปกว่านั้น ส่วนระดับความดัง HI /LOW Level นั้นค่อยเลือกเอาว่าจะให้มีระดับของเสียงเบสปริมาณมากน้อยขนาดไหน
ระยะของการเบิร์นอาจจะมีผลอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก จึงไม่ขอกำหนดเอาไว้เป็นบรรทัดฐานนะครับอาจจะเบิร์นไม่เกิน 50-100 ชั่วโมงก็น่าจะอยู่ตัวแล้ว เพราะมันเป็นระบบแอคทีฟ
จากนี้คือผลของการทดสอบฟังจริง
แรกสุดผมพยายามค้นหาว่า ย่านความถี่เสียง 35-20 Hz ที่ S/510 สนองตอบได้อย่างเรียบแฟล็ตนั้น เป็นช่วงย่านความถี่ของเครื่องดนตรีชิ้นใดบ้างที่เรามักจะขาดหายไปจากระบบชุดลำโพงธรรมดา
เท่าที่นึกออกอยู่ตอนนี้ก็คือ Piano, Tuba, Bass, Pipe Organ, Contra Bassoon และ Harp รวมหกชิ้น ไม่นับชิ้นดนตรีอิเล็คทรอนิคส์ สังเคราะห์อื่นๆ เช่นเพลงซาวนด์แทร็กในภาพยนตร์
แม้ว่าลำโพงคู่หลักของเราจะมีขนาดใหญ่ สามารถสนองตอบย่านความถี่ได้ลึกถึง 20-35 Hz แต่ความสามารถจริงๆ ของลำโพงเหล่านั้น จะไม่เรียบนิ่งที่เกนบวก ลบ 0 ดีบี อย่างที่ REL S/510 เป็นอยู่ มันจึงสนองตอบเสียงดนตรีต่ำลึกได้อย่างมีขอบเขตที่จำกัด
ดังนั้นระบบซับวูฟเฟอร์แอคทีฟจึงเป็นคำตอบครับ แต่ส่วนที่ว่าจะ STACK หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับห้องแต่ละห้องดังกล่าวมาข้างต้น ผมคิดว่าผลต่อห้องขนาด 30 ตารางเมตรขึ้นไปแล้ว การเอา REL S/510 มา STACK เรียงซ้อนน่าจะเห็นผลดีที่สุด
แต่ถ้าจะใช้จำนวนไม่มากตู้ อาจจะเริ่มที่ 1-2 ตู้ก่อนก็ได้
การทดสอบฟัง ครั้งนี้ผมหยิบยกมาหลายอัลบั้มนะครับ เพื่อจะฟังทดสอบโดยรวมของระบบ และจับสังเกตการณ์ที่ความถี่ต่ำว่าในแง่ของคุณภาพ และปริมาณเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจากแผ่นที่ฟังง่ายคุ้นหู อย่าง ไช่ฉิน เพลงอภิรมย์ และเพลงยอดนิยมกลุ่มออดิโอไฟล์ Jennifer Warnes: Famous Blue Raincoat , Round Up2 Sheffield Labs CD29, Belafonte at Carnegie Hall เป็นต้น ตามมาด้วยอัลบั้มฟังง่ายๆของ The Cloning Singers Reggae เก๊ๆกังๆ พันธุ์ทาง ข้างๆคูๆ ที่มาเสริมความสนุกในช่วงท้าย อัลบั้มที่สามารถบ่งชี้ความยิ่งใหญ่ของซับวูฟเฟอร์ REL S/510 และการครอบคลุมดนตรีในช่วงความถี่ต่ำได้อย่างครบถ้วน ก็น่าจะเป็นอัลบั้ม เพลง Original Sound Track อย่าง Out Of Africa, Round Up2 และอัลบั้มครู อย่าง Ein Straussfest / Kunzel, Cincinnati Pops Orchestra ของเทลาร์ค
นี่แหละ คือความทรงพลัง ให้ไดนามิคสุดยอด ที่เป็นคำตอบให้กับเราว่าทำไมถึงต้องเสริมซับวูฟเฟอร์ชั้นดี REL S/510 เข้าไปในระบบเสียงสเตอริโอโฟนิค
ผมยอมรับในเรื่องของเสียงเบสลึกๆ ที่เต็มอิ่มมากขึ้นนะครับ เสริม S/510 เข้าไป นี่เห็นกันอย่างชัดเจนทีเดียว ความถี่ต่ำที่จะมีมิติความลึกเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ถึงขนาดเอามา STACK แบบที่เคยฟัง ตู้เดี่ยว นี่ก็เบสเหลือเฟือสำหรับผม ดังนั้นห้องขนาด 30 ตารางเมตร ถือว่าให้เสียงได้อลังก์ เลยทีเดียว
แต่ก็อย่างที่ทราบนะครับ ความต้องการเบสที่เต็มอิ่มของแต่ละท่านนั้นไม่เหมือนกัน ถ้าพร้อมจะฟังเสียงเบสที่อิ่ม ความเพี้ยนต่ำ และทรงพลังให้เหมือนจริงมากขึ้นแล้วละก็ ขอให้พิจารณา การ STACK ซับวูฟเฟอร์ S/510 ดู ซึ่งผมจะสรุป สั้นๆ ดังนี้ ถึงนัยยะในการ STACK REL S/510
หนึ่ง การ STACK มีผลด้านมิติ หรือไดเมนชั่นของเสียงเบส กว้าง ลึก สูง ซึ่งในย่านความถี่ต่ำ จะมีความจริงในรูปทรงของเบสเพิ่มขึ้น
สอง เมื่อ STACK เพิ่มความสะอาดเสียงดียิ่งขึ้น ระบบซ้อนซับวูฟเฟอร์ที่ออกแบบมานี้ ลดค่าความเพี้ยนที่เจือปนมากับการขยับของกรวยลำโพง และแพสซีพเรดิเอเตอร์ได้ในอีกระดับหนึ่ง
สาม การ STACK มีผลต่อการครอบคลุมความถี่ต่ำลึก และแม้แต่กลางแหลม ให้ปรากฏอย่างราบรื่นต่อเนื่องไม่รู้สึกทึบ หรืออึดอัด ไม่สำลัก เพราะการทำงานของจำนวนกรวยลำโพง และแพสสีพ หลายตัวได้ช่วยกันผลักอากาศอย่างสมมาตร เพราะควบคุมด้วยฟิลเตอร์ที่ออกแบบมาในลำโพง ที่จะให้ความสอดคล้องทั้งคุณภาพ และปริมาณที่ครบถ้วน
ดังนั้นผมอยากเรียนแบบตรงไปตรงมาว่า การ STACK ลำโพง มันก็จะมีข้อเสีย อยู่บ้าง ก็คือ ต้องใช้งบประมาณซื้อลำโพงมากขึ้น อีกทั้งมันจะกินพื้นที่การวางภายในห้อง แต่เป็นการแลกมาซึ่งข้อดีทั้งสามประการข้างต้น สำหรับท่านที่เล่นลำโพงระดับไฮเอ็นด์ ต้องพิจารณาถึงคุณภาพเสียงต่ำที่คุณอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิต อีกทั้งการออกแบบของ REL S/510 นั้น มีขนาดพอประมาณ สวยงามสง่า เป็นเฟอร์นิเจอร์ชั้นดีได้ วางแล้วเป็นของสวยงามของห้องไปในตัว
ยืนยันครับว่า ตราบเท่าที่เรายังไม่มีวิธีอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงต่ำที่ดีที่สุดแบบนี้ การ STACK ก็คือวิธีเดียวที่จะมอบมิติของเสียงต่ำได้ดีจริงๆ มีเวทีความกว้าง ความลึก และด้านสูงครบถ้วน รวมทั้งการทำงานที่ราบรื่น เป็นเบสลึกที่มีความสะอาดยอดเยี่ยม
ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอย่างเป็นเหตุผล ของแต่ละท่าน ดังนั้น จะเลือก ตู้เดี่ยว หรือ STACK ขอให้ทดสอบด้วยตัวของท่านเอง เพราะเรื่องเบส เป็นเรื่องเฉพาะตัวครับ
อีกทั้งความเข้าใจผิดๆ ว่าการ STACK เพิ่มลำโพง Sub Woofer ด้วยจำนวนหลายตัว เพื่อจุดประสงค์ “เพิ่มปริมาณ” หรือระดับความดังของเสียงอย่างเดียวอันนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดมากๆครับ
การ STACK ที่ถูกต้องจะต้องทำเพื่อคุณภาพ และมิติของเสียงต่ำเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณ
สำหรับผมแล้ว ในเวลานี้ที่เรามีทางเลือกจาก REL ที่สร้างแนวทางใหม่ให้เลือก ในการที่เราจะได้เสียงเบสที่ดีที่สุดภายในห้อง ด้วยซับวูฟเฟอร์ชั้นดีที่ไม่เคยมีมาก่อน นี้ จงตัดสินใจกันดูครับ
แต่..เรื่องหนึ่งที่พึงระมัดระวังก็คือ เมื่อใส่ REL S/510 เข้าไปในระบบแล้วสักพักหนึ่ง เมื่อติดใจแล้ว คุณจะสามารถทำใจให้แข็งๆ ถอดมันออกจากระบบได้หรือเปล่า นั่นละสิ่งสำคัญที่ผมจะเตือนครับผม
REL S/510 ราคาตู้ละ 79,900.- บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Zonic Vision โทร. 02 681 7500