Nottingham Analogue Studio SPACE 294

0
3648

Nottingham Analogue Studio SPACE 294

ศิลปะแห่งเครื่องเล่นแผ่นเสียง

           สำหรับ Nottingham Analogue Studio SPACE 294 นับเป็นการย้อนคืนไปสู่ยุคการนำระบบแป้นหมุน เทิร์นเทเบิล มาใช้ในแบบ เบสิก จริงๆ อย่างชนิดผมเองก็ไม่คาดคิดมาก่อน ทุกอย่างคือ “ทำมือ” ทั้งหมด น่าแปลกใจมากๆ

            เพราะยุคแรกที่ผมเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียง ก็เริ่มจากยี่ห้อ Garrard, Thorents, AR, Linn, Denon, Sony เป็นหลัก เคยชินระบบสายพาน และการแยก แท่น แพลตเตอร์ ที่มีความเป็นอนาล็อกอย่างสูงสุดอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีระบบช่วยเหลือทำให้ง่ายต่อการเล่นแผ่นเสียง

           เทิร์นเทเบิลบางรุ่นอาจจะต้องยกโทนอาร์มไปวางบนแผ่น โดยมีก้านรับนิ้ว บางรุ่นก็ กึ่งอัตโนมัติ เล่นแผ่นจบ จะดึงโทนอาร์มกลับมาไว้ที่เดิม บางรุ่นเป็นระบบอัตโนมัติแค่กดปุ่มเลยละครับ

            แต่ Nottingham Analogue Studio ไม่มีเลยสักอย่าง ที่ปลายเฮดเชลล์ ยังไม่มีที่เกี่ยวปลายนิ้ว ต้องใช้ระบบลิฟท์ยก ของอาร์ม ช่วย แล้วค่อยๆ ปลดให้หย่อนลงในร่องแผ่น อย่างช้าๆ แถมมอเตอร์ยังต้องใช้มือช่วยกว้านอีกตะหาก!

            เอาละมาดู กันว่า Nottingham Analogue Studio เค้าเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่เล่นกันในกลุ่มไฮเอ็นด์ ที่ไม่ค่อย Promote ตัวเองนักเท่าไหร่ ถ้าจะพูดว่าดังอยู่ในกลุ่มนักเล่นแบบสงบเงียบสักหน่อย คือเป็นลักษณะบอกต่อๆ กันก็น่าจะใช่

            ของดี ที่พาเรากลับไปสู่เบสิกที่สุดเท่าที่เคยเห็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงมา

            Nottingham Analogue Studio ผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีประวัติยาวนาน จากประเทศอังกฤษ ก่อตั้งโดย Tom Fletchrer ในปี 1970 มุ่งมั่นผลิต “โต๊ะปั่นแผ่นเสียง” ที่มีระบบกลไกดีที่สุด โดยมีรุ่นของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเรียงลำดับจากรุ่นเล็กไปหารุ่นใหญ่ ดังต่อไปนี้ (มีทั้งหมด 9 รุ่น)

1. HORIZON

2. INTERSPACE JUNIOR

3. SPACEDECK

4. ACE SPACEDECK

5. SPACE 294

6. HYPERSPACE

7. DAIS

8. ANNALOG

9. DECO

            สิ่งที่เราทราบคือ ทุกรุ่นดังกล่าวมานั้นได้ใช้ชื่อเดิมมาตลอด แม้มีการอัพเกรดส่วนประกอบบ้างในจุดต่างๆ บ้างเล็กน้อยก็ตาม ไม่เคยเปลี่ยนรุ่นแต่อย่างใด

            ส่วนรุ่นของ Tone-Arm ท่อคาร์บอนตรง จะมี

1. Interspace Tone-Arm 10” (ใช้ในรุ่นเล็ก Interspace Jr, กับ Horizon)

2. Ace Space Tone-Arm มีความยาว 10” และ 12” (ใช้ในรุ่นกลาง Spacedeck – Hyperspace)

3. Ace Anna Tone-Arm มีความยาว 10” และ 12” (ใช้ในรุ่นใหญ่ Dais ขึ้นไป)

            ซึ่งในปัจจุบัน โทนอาร์มทุกรุ่นได้มีการอัพเกรดสายโทนอาร์มเป็นสายเงินทั้งหมดแล้ว รวมทั้งในรุ่น Interspace Tone-Arm ปรับปรุงรูปทรงภายนอกให้สวยงามขึ้น

            ด้วยการออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย และมีความเสถียร ทั้งมีเหตุและผลในทุกๆ จุด เช่นการคัดสรรวัสดุที่นำมาผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งรูปทรง และมวลของวัสดุ  ไม่ว่าจะเป็นตัวแท่นเครื่อง, ขารองเครื่อง, ชุดแบริ่ง, แพลตเตอร์, กราไฟต์แมต, โทนอาร์มฯ ทุกส่วนล้วนมีการทดสอบอย่างละเอียด และปรับปรุงแก้ไขจนได้จุดที่ลงตัวที่สุด

           จุดเด่นของ Nottingham Analogue Studio คือระบบ belt drive ที่เลือกใช้มอเตอร์ AC  Motor ที่แรงบิดต่ำมากๆ  (Ultra Low Torque) ชนิดที่ว่า Start ให้แพลตเตอร์ หมุนเองไม่ได้ เราคนเล่นจะต้องใช้มือช่วยปั่นให้หมุนจึงจะทำงานได้

           แต่นี่คือก็เป็นข้อดีของมอเตอร์ชนิดนี้

            เนื่องจากในระบบของเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้น  ชิ้นส่วนที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมากที่สุดคือมอเตอร์ การเลือกใช้มอเตอร์ ชนิดแรงบิดต่ำ ทำงานร่วมกับสายพานกลมชนิดพิเศษ ก็จะช่วยลดการส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนไปสู่แพลตเตอร์ได้เป็นอย่างดี 

            อีกทั้งการแยกมอเตอร์ออกจากแท่นหลัก ก็เพื่อหลีกเลียงการส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนไปสู่แท่นหลักเช่นกัน (ในรุ่น SPACEDECK ขึ้นไป)  เพราะเหตุนี้จึงทำให้เสียงของ Nottingham มีความสมูท ลื่นไหลต่อเนื่อง น่าฟังตลอดย่านความถี่

            แพลตเตอร์ และแบริ่ง ในเทิร์นเทเบิลของ Nottingham Analogue Studio ทุกรุ่น ได้ออกแบบให้มวลของแพลตเตอร์ และการรับน้ำหนักของแบริ่งมีความสัมพันธ์กัน  ในแต่ละรุ่นจึงใช้แบริ่งจะไม่เหมือนกัน ทั้งขนาด และมีการอัพเกรดวัสดุแบริ่งในรุ่นใหญ่  แพลตเตอร์ทำจากโลหะผสม (Aluminum Alloy) ออกแบบรูปทรงในมีการบาลานซ์น้ำหนักเป็นอย่างดี พร้อมทั้งเซาะร่องด้านข้าง และ Damping ด้วย Rubber Ring ให้มีการดูดซับและกระจาย Resonance ที่เหมาะสม 

            เพื่อให้เกิดความสมดุล และลดการเหวี่ยง การสะบัด ในขณะที่หมุน  (Wow and Flutter) เพื่อให้การเล่นกลับที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 

            Graphite ‘Mat’ ขนาด 25mm. (มีให้มาในรุ่น HYPERSPACE, DAIS, ANNALOG และ DECO ส่วนในรุ่น SPACEDECK, ACE SPACEDECK และ SPACE 294 เป็นออฟชั่นให้ลูกค้าเลือกซื้อเพิ่ม) กราไฟต์แมต ช่วยลดไฟฟ้าสถิต และช่วย Improve คุณภาพเสียงขึ้นไปอีกระดับ

            Tone-Arm อุปกรณ์ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในระบบของเทิร์นเทเบิล เพราะโทนอาร์ม เป็นผู้ควบคุมการอ่านของหัวเข็ม และส่งต่อสัญญาณไปสู่ระบบขยายเสียงต่อไป 

            Nottingham Analogue Studio ออกแบบโทนอาร์มเป็นแบบ Uni-pivot เป็นอาร์มมวลเบา (Low Mass) ท่อแขนอาร์มผลิตจากวัสดุ คาร์บอนไฟเบอร์แบบชั้นเดียว (Single long grain carbon fibre tube)

            ในรุ่น Interspace tone-arm  และวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์แบบสองชั้น (Double long grain carbon fibre tube) ในรุ่น Ace Space และ Ace Anna ซึ่งมีความยาวให้เลือกทั้ง  10 นิ้ว และ 12 นิ้ว ซึ่งเครื่องที่ทาง Sound Box นำเข้ามาตั้งแต่รุ่น  SPACEDECK  ขึ้นไป ได้สั่งโทนอาร์มขนาด 12 นิ้ว มาด้วยเลย เพื่อให้เทิร์นเทเบิลของ Nottingham Analogue Studio ให้ถ่ายทอดประสิทธิภาพได้สูงสุด

            Space 294 รุ่นที่นำมาทดสอบ ใช้ตัวแท่นแบบ Non Suspension จะมีความโดดเด่นในเรื่องของ Impact น้ำหนักเสียง แรงปะทะ มีความฉับพลัน 

โดยพื้นฐานตัวแท่น ในซีรีส์กลางทั้ง  4 รุ่น (Spacedeck, Ace Spacedeck, Space 294 & Hyperspace) ใช้หลักการเดียวกัน  แต่แตกต่างกันที่แพลตเตอร์ และชุดแบริ่ง 

           1) Spacedeck & Ace Spacedeck  แพลตเตอร์ หนา 37 mm.  กว้าง 12”

           2) Space 294 แพลตเตอร์หนา 37 mm. ขนาดกว้าง 14” กว้างกว่าทุกรุ่น เพื่อให้กระจาย Resonances ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เสียงที่ได้จะเปิดกว้างกว่า แพลตเตอร์ 12”โดยทั่วไปลักษณะมันจึงดูเสมือนว่าตัวแท่นรองนั้นเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงต่อแพล็ตตอร์ และระบบมอเตอร์ขับหมุน แต่ทว่าแท่นก็จะเป็นพื้นฐานในการทำงานร่วมกันได้อย่างดีที่สุด

            3) Hyperspace แพลตเตอร์หนา  58 mm. + 25 mm. Graphite ‘mat’ ที่ให้มาด้วยเลย (รุ่นอื่นเป็นออฟชั่น) ความกว้าง แพลตเตอร์ 12” ด้วยขนาดแพลตเตอร์ของ Space 294 ที่กว้างกว่ารุ่นอื่นๆ ตัวแท่นเครื่องจึงต้องขยายขนาดความกว้างไปด้วย เพื่อความสวยงามและความนิ่งของตัวแท่น 

            ตัวแท่นเป็นโครงสร้าง 2 ชั้น ฐานล่างสุดขอเรียกว่า Base ทำจากวัสดุ MDF ทำสี High gloss black finish ใต้ฐานมีปุ่มยาง ซึ่งช่วยสลาย Resonances ได้ระดับที่ดีมาก ส่วนตัวแท่นหลัก Plinth ทำจากวัสดุ  MDF ทำสี High gloss black finish ขาทั้ง 3 ทำจาก  Aluminum Alloy ปรับระดับน้ำได้ ใต้ขามีปุ่มยางเช่นกัน

            หัวเข็ม เป็นของ London Super Gold ที่กำหนดให้ตั้งค่าน้ำหนักหัวเข็มที่ 1.5 – 2 กรัม นี่เป็นหัวเข็มพิสดาร ที่ไม่มี cantilever แท่งก้านเข็ม มีแต่ตัวปลายเข็ม หรือ Stylus ออกมาจากบอดี้ของมัน ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบเฉพาะตัวของ London มันจะแทร็กร่องหัวเข็มโดยตรง ไม่ต้องอาศัยการประคองจากก้านเข็มเหมือนแบรนด์อื่น

            ส่วนปลายเข็มที่เล็กนี้ยึดโยงกับแท่งเหล็กที่อยู่ระหว่างคอยล์และแม่เหล็ก มันจึงไม่ใช่ทั้งหัวเข็มแบบ Moving Magnet และ Moving Coil  แต่นี่คือหัวเข็ม Moving Iron

            Moving Iron ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในสารบบหัวเข็มแผ่นเสียง เป็นการออกแบบเพื่อลดการสูญเสียในเรื่องการสั่นสะเทือนต่างๆ จากกฎเกณฑ์พื้นฐานทั่วไปได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ฟังสัมผัสทุกอณูรายละเอียดมากยิ่งกว่า สำหรับรุ่น Super Gold นี้เข็ม หรือ Stylus ใช้วัสดุเพชรขัดเงา ให้เอ้าต์พุต : 5mV ตอบสนองความถี่ได้ถึง 40,000 Hz

            นี่คือองค์ประกอบของ เครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่ลงตัวที่สุดเซ็ตหนึ่งพี่จะพาเราย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของคำว่าอนาล็อกโดยแท้จริง

Test Report

            ต้องแกะออกมา ทีละชิ้นๆ จากกล่อง เพราะว่าเป็นอุปกรณ์ที่แยกส่วนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแท่นเครื่อง แพลตเตอร์ จานรอง มอเตอร์ สายพาน โทนอาร์ม กว่าจะจูนอัพลงตัว ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งผมได้คุณธงชัย มาช่วยในการจูนอัพ เราใช้ช่วงเวลาค่อนข้างมากหน่อยก็คือ ตั้งค่าหัวเข็ม กว่าจะลงตัวก็ใช้เวลาสองชั่วโมงเพื่อให้เกิดความแม่นยำที่สุด

           แผ่นเสียงที่ผมเลือกมาทั้งหมดเน้นสามรูปแบบหลัก นั่นก็คือค่าย TBM ซึ่งจะออกแนวแจ๊สเป็นส่วนใหญ่ Sheffield Labs ซึ่งผมก็ยังประทับใจในเรื่องความเที่ยงตรงของเสียงเป็นหลัก และก็แผ่นโดยทั่วไปซึ่งเป็นคอมเมอร์เชียล ทั้งแผ่นเพลงไทย และเพลงสากล

           เนื่องจากความ Sensitive ของหัวเข็ม London Super Gold Cartridge ในรูปแบบของ Mag iron ปลายเข็มจะเล็กมากเป็นพิเศษ และไม่มีก้านเข็มเสียง ปลายเข็มจะแนบสนิทเข้ากับร่องแผ่นเสียงอย่างมาก ฉะนั้นการมีฝุ่นหรือมีรอยของแผ่นเสียง ย่อมจะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม

            หัวเข็มชุดนี้จึงเหมาะสำหรับแผ่นที่สะอาดจริงๆ แล้วคุณจะได้ลงลึกไปสู่รายละเอียดอย่างไม่เคยพบมาก่อน

           เครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องเดียวที่จะไม่มีปุ่มสวิตช์ On/Off ปิดเปิดเครื่อง เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเสียบปลั๊กไฟ มันก็พร้อมจะทำงาน

           แต่ความพร้อมทำงานของมันก็เป็นเรื่องประหลาด อาจจะดูชวนขบขันนิดนิด ก็คือหลังจากวางแผ่นเสียงลงไปบนแพลตเตอร์แล้ว เราต้องมีหน้าที่ใช้มือหมุนแพลตเตอร์ ให้มันเริ่มเคลื่อนตัวในความเร็วระดับหนึ่งก่อน จากนั้นมอเตอร์ก็จะทำงานตามรอบ 33-1/3 และหมุนเองจนคงที่

           ดังนั้น Nottingham Analogue Studio SPACE 294 จึงเป็น Turntable ที่ไม่เหมาะกับคนที่ชอบอะไรรวดเร็ว เพราะมันจะค่อนข้างเนิบนาบ และมีขั้นมีตอนในการเล่นแบบ “อัตโนมือ” ทุกกระบวนการ

           ผมไม่เคยเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ต่องใช้มือกว้านแพลตเตอร์ก่อนเล่น  แล้วยังต้องรอให้รอบหมุนคงที่ สักราวๆ 5-6 วินาที จึงค่อยๆ ประคองโทนอาร์ม ไปวางร่องแผ่น จึงเป็นประสบการณ์ที่ประหลาด

            และเมื่อเราต้องการหยุด ก็ใช้มือค่อยๆ รั้งให้รอบหมุนหยุดลง มันคือวิถีประหลาด แต่ก็เป็นธรรมชาติเหลือเชื่อเช่นกัน

            ผมกำลังนึกถึงวัยเด็กที่เคยทำขนม ด้วยการโม่แป้งด้วยมือ มันได้อารมณ์เหมือนปั่น หมุนแพลตเตอร์ SPACE 294 นี่แหละครับ เพียงแต่ เจ้า Nottingham Analogue Studio SPACE 294 เราปั่นรอบเดียว ที่เหลือระบบมอเตอร์จะทำแรงเหวี่ยงเอง จนครบ 33-1/3 รอบต่อนาที (ไม่ใช่ว่า เราต้องคอยหมุนช่วยตลอด)

           เป็นการเล่นเทิร์นเทเบิลที่แปลก และผมพบว่าด้วยระบบมอเตอร์แบบนี้ สัญญาณรบกวนต่างๆ ต่ำที่สุดเท่าที่เคยฟังเทิร์นเทเบิลมาครับ!

            เอาละ การจับ การวางหัวเข็มอาจจะต้องระมัดระวังมากกว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงอื่นๆ เพราะโทนอาร์มเป็นแท่งตรงเฮดเชลล์ ของหัวเข็มก็ไม่มีที่ให้นิ้วเกาะเกี่ยว เราจึงต้องใช้ตัวยกด้านหลังเป็นตัวช่วยยกขึ้น เอานิ้วผลักหัวเข็ม แล้วกะระยะให้หัวเข็มวางบนร่องหัวเข็มพอดิบพอดีก่อนวางลงไป

            โอ๊ย… ได้อารมณ์ แบบว่า แมนนวลสุดติ่งกระดิ่งแมว ครับ

            ที่นี้มาดู เรื่องคุณภาพเสียงกันบ้าง จากลำโพงหลัก Harbeth Monitor 30.2 และ แอมป์ พร้อมภาค Phono ของ Sugden IA4 ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นไต่บันไดไฮเอ็นด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงอย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียวครับ

            อยากบอกว่ามันให้เสียงเป็นจริง สร้างบรรยากาศอนาล็อกลึกล้ำ มากทีเดียว

            รายละเอียดกับน้ำหนักเสียง ถือว่า อิ่มเอิบน่าประทับใจ เป็นเสียงอนาล็อกที่แผ่อาณาเขตเวทีเสียงกว้าง ลึกได้อย่างยอดเยี่ยมครับ

            การเก็บรายละเอียด ในร่องแผ่นเสียง นับว่า ละเอียดละออจริงๆ  เราจะได้ยินเสียงดนตรีที่มีไดนามิคมากขึ้น โดยคุณลักษณะของหัวเข็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กมาก และ ระบบมอเตอร์แรงบิดต่ำจะมีส่วนอย่างมากในการลดไวเบรชั่น แบ็คกราวนด์นอยซ์ อย่างสุดขีด

            เสียงที่สัมผัสจึงมีรายละเอียดหยุมหยิมมาก ผมฟังคุณนายแม็คบรูมใน LAB13 แล้วอดทักทายตัวเองไม่ได้ว่า โอว.. เสียงเธอมีความเนียนใสละเอียดครบถ้วนขนาดนี้เลยหรือ

            ระบบโดยรวมของ Nottingham Analogue Studio SPACE 294 ไปเพิ่มค่าไดนามิคเร้นจ์ขึ้นมาอีกมหาศาล เมื่อเทียบเคียงกับการฟังจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับแสน ด้วยกัน นี่คือจุดเด่นมากครับ

            ในจุดเด่นนี้ ก็มีเรื่องที่ต้องระมัดระวังพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะว่ามันจะไม่เหมาะกับการเล่นแผ่นเสียงที่มีฝุ่นหรือรอยขีดข่วนสกปรก คือ หัวเข็ม London Super Gold นั้น มันไวต่อสิ่งเร้าพวกนี้มากๆ เสียงสแครช จะแสดงออกมาชัดเจนเช่นกัน ดังนั้นจึงสมควรเล่นเฉพาะแผ่นที่ Clean เป็นหลักครับ

            รับรองว่าคุณจะรู้สึกได้ถึงความเป็นอนาล็อก ว่ามีอะไรบ้างที่ได้เปรียบเสียงในแบบดิจิตอล เจ้าหัวเข็ม London Super Gold จะบ่งชี้ กันอย่างจะจะเลยครับ เข้าไปซึมลึกทุกอณู ของชิ้นดนตรี ขนาด แผ่นธรรมดา รวมฮิต เคนนี โรเจอรส์ ผมยังรู้สึกได้ว่า ฟังคราวนี้ รายละเอียด น้ำหนักเสียง สุดยอดจริงๆ

            ผมอดยิ้มทุกครั้งไม่ได้ที่พอจบแผ่น ก็เอาหัวเข็มยกขึ้น แล้วใช้มือต้านให้แพลตเตอร์หยุดหมุน มันก็หยุดลง เมื่อแรงต้านเราแสดงผลเล็กน้อยเท่านั้นเอง …อุ๊ย เป็นระบบที่น่ารักดีมากครับ

            ความไม่คล่องตัวที่เกิดจากระบบของโทนอาร์ม ที่เราจะต้องใช้ตัวลิฟท์ยกขึ้นลงเมื่อผลักอาร์มนั้นไปยังจุดหมาย ก็คือเริ่มต้นของร่องแผ่นเสียง

            ช่วงแรกก็ยอมรับว่ามันไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะไม่เคยชิน แต่หลังจากที่เล่น SPACE 294 ไปสักพักเราก็จะรู้สึกว่านี่เป็นระบบที่ไร้ความซับซ้อนโดยสิ้นเชิง เป็นอะไรที่ง่ายเสียยิ่งกว่าง่าย ธรรมดาเสียยิ่งกว่าธรรมดา

บทสรุปด้านคุณภาพเสียง

            นี่เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ย้อนกลับคืนไปสู่ความเป็นเบสิกทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ และยังคงให้คุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยม ระบบการทำงานจะค่อนข้างย้อนคืนไปสอดคล้องกับการเซาะร่องแผ่นเสียง จึงเก็บรายละเอียดได้ดีมากๆ อาร์ม และหัวเข็มดูจะทำงานเข้าขากันมากที่สุด ความเงียบระหว่างช่องเสียงดนตรี ถือว่า เข้าขั้นสงัดมาก ทั้งน้ำเสียงที่นุ่มอุ่น และรายละเอียดระยิบระยับ ครบถ้วน เป็นการเข้าถึงเสียงอนาล็อก ชนิดที่รายละเอียดแบบดิจิตอล ทำอะไรไม่ได้เลย มีปลายเสียงแหลมสวยงามจริงๆ

            มีเพียงอย่างเดียวคือ ควรเล่นบนแผ่นไวนีลอนาล็อก ที่มีความสะอาดจริงๆ เท่านั้น ด้วยความไวต่อการเซาะไปตามร่องแผ่นของหัวเข็มอาจจะแสดงผลของรอยขีดข่วน ฝุ่น ได้ง่ายนั่นเอง

            SPACE 294 รายละเอียดในแบบอนาล็อก ที่สุดยอดแท้จริงครับ

หมายเหตุ:

หัวเข็ม London (Decca) รุ่น Super Gold หัวเข็มรุ่นกลาง ราคา 58,000 บาท

Nottingham Analogue Studio รุ่น Space 294 ราคารวมอาร์มแล้ว ราคา 168,000 บาท

(Ace space Tone-arm 12” ราคาขายแยก 63,000 บาท)

สนใจติดต่อ Sound Box

อาคารศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ชั้น 3 โทร.02 642 1448

ธงชัย : 092-890-4660 , Line ID : tsoundbox

คมสัน : 093-465-6693 , Line ID kkoakung

Facebook เพจ : https://www.facebook.com/soundboxthailand/?ref=bookmarks

.