Michell Gyro SE Turntable

ความล้ำยุคในประติมากรรมอนาล็อก

            เป็นเครื่องเล่นเทิร์นเทเบิล ที่จัดเข้าคู่กับแอมปลิไฟร์ที่ลงตัวอย่างดีเยี่ยมอีกชุดหนึ่ง ซึ่ง เท่าที่ผมติดตามผลงาน ของ Michell มาบ้างจากอดีตถึงปัจจุบัน คุณ John Michell  เขามาเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทในตอนอายุ 50 หลังจากผาดโผนมาอย่างยาวนาน กับงานวิศวกรรม

            จากการเริ่มต้นธุรกิจของ Michell ครั้งแรกในโรงจอดรถ และต่อมาได้ย้ายไปอยู่นิคมอุตสาหกรรมเล็กๆ ในลอนดอนเหนือ และจอห์น มิทเชลล์ ได้มีโอกาสรู้จักกับผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อก้องโลก สแตนลี่ย์ ครูบริค  ซึ่งต่อมา จอห์น มิทเชลล์ ก็รับงานสร้างยาน Discovery สำหรับใช้ในการถ่ายทำ ภาพยนตร์ เรื่อง 2001 – Space Odyssey ของคูบริค และรูปทรงกลไกนี้เองที่ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการออกแบบ GyroDec เทิร์นเทเบิลรูปแบบอิสระที่ยอดเยี่ยมในปัจจุบัน

            เป็นเรื่องน่าแปลกและทึ่งไม่น้อย Michell ช่วงแรกทำงานโมเดลชิ้นส่วนสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ ก่อนที่จะหันมาบุกเบิกเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบไฮดรอลิกระดับเรฟเฟอร์เร้นซ์  เป็นเครื่องแรกในปี 1977

            ช่วงปี 80 นี้เอง ที่ทาง Michell ได้เริ่มสายงานผลิต เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในซีรีส์ GyroDec ซึ่งเป็นหนึ่งในการออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่โดดเด่นที่สุดตลอดกาล

            ผมยังจำได้ว่า เมื่อได้เห็น Michell ครั้งแรก มันเหมือนได้เห็นประติมากรรม หรือหุ่นยนต์กลไกแยกส่วนที่ใช้มอเตอร์ เอซี ซิงโครนัส และสายพานแบบคู่ มีแพล็ตเตอร์หนักอึ้ง และตุ้มถ่วงน้ำหนักสีทองอร่ามงามตา

           GyroDec คงเป็นผลิตภัณฑ์ขายดีและเป็นที่นิยมมากที่สุดของบริษัท กุญแจสู่ความสำเร็จนี้คือการพัฒนามากมายเพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด การออกแบบโมดูลาร์แยกชิ้นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ทั้งงดงามและศักยภาพสูงมาก ดังที่ได้นำมาทดสอบดังต่อไปนี้ครับ

            Michell Gyro SE เครื่องเล่นแผ่นเสียง แบบ GyroDec ในขนาดกะทัดรัด มีข้อมูลทางเทคนิคที่น่าสนใจคือ

         เครื่อง Gyro SE เป็นอีกรูปลักษณ์หนึ่งของงานออกแบบ GyroDec แทนการใช้แท่นอะคริลิกหนาหนัก และฝาครอบแบบบานพับ เช่นที่มีในรุ่น GyroDec ทีมวิศวกรเลือกใช้เป็นขาอะคริลิกแบบ Spyder เพื่อรองรับตัวเทิร์นเทเบิล เป็นการออกแบบเพื่อลดขนาดของ GyroDec ทำให้ได้เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีขนาดกะทัดรัด

คุณลักษณะทั่วไป

          ขาตั้งที่ฐานนั้น กินพื้นที่น้อยมาก โดยเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้มีขารองรับเป็นอลูมิเนียมตัน ที่ออกแบบให้มีจุดสัมผัสกับพื้นเล็กมาก จึงช่วยลดการสั่นสะเทือนใดๆ อันอาจจะเกิดจากพื้นและสภาพรอบด้าน ที่อาจจะส่งผ่านไปยังเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้เป็นอย่างดี

           ระบบ Suspension เป็นแบบสปริง 3 จุด นั่นคือ แท่ง Suspension 3 ชุด จะถูกยึดติดกับฐานอะคริลิก เพื่อยึดชิ้นส่วน Suspension Springs ให้เข้าที่ และทำให้สามารถปรับตั้งความสูงของ Sub Chassis

            ใน Sub Chassis ใช้รูปแบบลูกตุ้มถ่วงน้ำหนัก นั่นคือมันจะแขวนลอยอยู่บน ซัสเพนชั่น แบบสปริง 3 ชุด การออกแบบเช่นนี้ทำให้ได้แพลตฟอร์มที่แกร่งและมั่นคง สำหรับการติดตั้งชุด Main Bearing, Platter และชุด Tonearm Assembly

           วิธีนี้จะทำให้การทำงานของแต่ละส่วนไม่รบกวนกัน และขณะเดียวกันกลไกจะทำหน้าที่เป็นบ่อดูดซับ Resonance/Vibration เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสั่นไหวที่จะรบกวนชิ้นส่วนอ่อนไหวของเทิร์นเทเบิล

            ระบบน้ำมันหล่อลื่น Main Bearing แบบกลับทิศทาง กล่าวคือ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับการออกแบบที่ทำกันอยู่ทั่วไป คือ Main Bearing ของ Gyro SE มีจุดหมุนอยู่ที่ด้านบนของชุด Assembly ไม่ใช่อยู่ที่ด้านล่าง

            การวางกลับทิศทางแบบนี้ทำให้ สามารถหล่อลื่นด้านในของชุดลูกปืนอย่างสม่ำเสมอ แม้ในขณะที่แป้นหมุนทำงาน ทีมงานออกแบบระบบนี้ได้สำเร็จด้วยการโมดิฟายด์สกรู Archimedean ใส่ลงในช่องว่างระหว่างชุดแบริ่ง

            การทำเช่นนี้ทำให้สามารถดึงน้ำมันหล่อลื่นจากบ่อเก็บซึ่งอยู่ที่ฐานเมนแบริ่ง ขึ้นไปยังลูกปืนด้านบน การหล่อลื่นการทำงานได้เต็มที่ จากนั้นก็จะไหลลงสู่บ่อเก็บผ่านช่องเจาะของ Bearing Spindle การหล่อลื่นอย่างหมดจดเช่นนี้ ย่อมขจัดโอกาสที่จะเกิดเสียง หรือการสั่นไหวในขณะที่แป้นหมุนทำงาน

            แป้นหมุนหรือแพล็ตเตอร์ ซึ่งผ่าน Impedance-match พร้อมแท่งทองเหลืองตันถ่วงน้ำหนัก Michell เลือกวัสดุทำแป้นหมุน ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับแรงสั่นสะเทือน และต้องมีบุคลิกตอบสนองเสียงเช่นเดียวกับแผ่นไวนีล (ใช้วัสดุผสมที่มีไวนีลผสมลงไปในตัวแพล็ตเตอร์ด้วย)

            ดังนั้น Michell จึงเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงรายเดียวที่ระบุว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้แผ่นสักหลาดรองลงไปบนแพล็ตเตอร์อีกชั้นหนึ่ง เหมือนเครื่องเล่นแผ่นเสียงโดยทั่วไป เพราะคุณสมบัติของแพล็ตเตอร์ทั้งวัสดุและรูปแบบใกล้เคียงกับเนื้อแผ่นเสียงไวนีลอยู่แล้ว

            การถ่วงน้ำหนักด้วยทองเหลืองแท่งตันช่วยทำให้แป้นหมุนมีมวลสารหนักแน่น และเพิ่มโมเมนตัมในการหมุน ทั้งหมดนี้จะช่วยรักษา Speed หมุนให้คงที่ และลดค่า Wow and flutter ให้ต่ำที่สุด

            มอเตอร์ยูนิตแบบ Free stand นั่นคือตัวมอเตอร์ที่ใช้ขับแป้นหมุนถูกแยกจากเทิร์นเทเบิลอย่างเด็ดขาด หมายถึงไม่มีส่วนใดของมอเตอร์สัมผัสกับเทิร์นเทเบิลเลย

           สิ่งเดียวที่เชื่อมโยงระหว่างมอเตอร์กับเทิร์นเทเบิลก็คือสายพานขับ ซึ่งใช้ขับเคลื่อนแป้นหมุน การออกแบบเช่นนี้จะตัดเสียงฮัมหรือการสั่นไหวจากการทำงานของมอเตอร์ไม่ให้ส่งผ่านไปถึงส่วนใดๆ ของเทิร์นเทเบิลอย่างหมดจดงดงาม

Test Report

            หากเราไม่ได้เจาะรายละเอียดทางเทคนิคเบื้องต้นดังกล่าวนั้น แต่ใช้การวิเคราะห์แยกแยะด้วยสายตาของนักเล่นเครื่องเสียงที่หลงใหลอนาล็อกอย่างผม การออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียง Michell Gyro SE คือการใช้หลักฟิสิกส์ว่าด้วยการเคลื่อนไหวของวัตถุได้อย่างแยบยล

           นั่นคือ การวางโครงสร้างเป็นอิสระจากกันทุกชิ้นส่วน แต่ยังคงให้มีการเกี่ยวเนื่องยึดโยงด้วยแรงเคลื่อนตัวที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้เสียงที่ได้จากหัวเข็มเดินอยู่ในร่องแผ่นเสียงอย่างแนบสนิท ได้ส่งพลังอันบริสุทธิ์เที่ยงตรงไปยังภาคขยายโฟโน โดยไร้ซึ่งไวเบรชั่นส่วนเกินอย่างหมดจดที่สุด

            ทำให้ผมนึกไปถึงแขนงวิชา Biophysics ที่เคยเรียนมาสมัยครั้งเป็นนักศึกษา คือ Biomechanics หรือ “ชีวกลศาสตร์ “

           จะว่าเทิร์นเทเบิลเป็นจักรกลที่ไร้ชีวิตก็ไม่เชิง เพราะสิ่งที่มันส่งผลออกมา ล้วนสร้างความรู้สึกสัมผัสแห่งชีวิตชีวาทั้งสิ้น หาใช่ว่าชีวกลศาสตร์เป็นแค่การศึกษาแรง และผลของแรงในสิ่งมีชีวิตเท่านั้น

            อาจจะดูว่าผมมองออกไปไกลสักหน่อย แต่หากเราพิเคราะห์ อย่างคนที่นำเอาความเป็นจริงผนวกจินตนาการที่รับรู้ได้ด้วยโสตประสาทจะเห็นความเป็นจริงว่า อะไรก็ตามที่มีการเคลื่อนที่ เราถือเป็นหลักแห่งฟิสิกส์ทั้งสิ้น

            เทิร์นเทเบิลมีครบในกระบวนการอันซับซ้อนนี้ คือการวางตำแหน่งของโครงสร้างวัตถุ การจัดระยะทางในการขับหมุน อัตราความเร็วคงที่สม่ำเสมอเรียบนิ่ง น้ำหนักแรงกดเป็นจุดและหมุนไปตามร่องเสียง

            มวล แรงกระทำ เป็นโมเมนตัมของวัตถุ เป็นเรื่องที่นักออกแบบต้องตระหนักในกฎของฟิสิกส์อย่างลึกซึ้ง

กรณีของ Michell Gyro SE นั้น ใช้ระบบแขวนลอยด้วยสปริงมาเป็นหลักในการขับหมุน และยังใช้ระบบน้ำมันหล่อลื่นในแกนกลางเคลื่อนไหวอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งขออนุญาตแยกแยะองค์ประกอบอิสระต่อกันและกัน เป็น 3 ชิ้นส่วน และองค์ประกอบอีก 4 ส่วน คือ

            หนึ่งโครงฐานรากและสปริงอยู่ล่างสุด  มีตำแหน่งของสปริงอยู่สามจุดด้วยกัน   

            ชั้นที่สองเป็นโครงบนหรือแป้นหมุนวางซ้อนบนโครงที่เป็นจุดสปริงสามจุด

            ชั้นที่สาม คือแพล็ตเตอร์จานรองแผ่นเสียง

            ส่วนที่สี่ คือมอเตอร์และพุลเล่ที่จะเป็นตัวกว้านร่วมกับแพล็ตเตอร์ถูกแยกออกไปอย่างเด็ดขาดจากโครงฐานทั้งสามชั้นดังกล่าว

            ส่วนที่ห้า คือสายพานเส้นเล็กสำหรับยึดโยงเข้าด้วยกัน สายพานชนิดนี้ผลิตจากการหล่อยางทั้งเส้นเป็นวงกลม โดยไร้รอยต่อใดๆ ทั้งสิ้น

            ส่วนที่หก เป็นอลูมินั่มโทนอาร์มชิ้นเดียว รุ่น TA-2 (ความยาว 222 มม.) พร้อมเฮดเชลล์ในตัว ที่จะติดตั้งไว้กับโครงฐานบน

           ส่วนที่เจ็ด คือหัวเข็มแผ่นเสียง ที่เราจะเลือกมาใช้งานในที่นี้ คือหัวเข็ม มูฟวิ่งคอยล์ MC รุ่น Phasemation PP-200

            ก่อนพูดถึงผลทดสอบ ขอแจ้งรายละเอียดราคาสินค้าทั้งหมดก่อนนะครับ เพื่อจะได้เห็นผลประเมินที่ชัดเจน ระหว่าง ราคา และคุณภาพ

            ตัวเครื่อง Michell Gyro SE สี Silver ราคา 110,000.- บาท โทนอาร์ม T2 (หรือ TA2 ) ราคา 43,000.- บาท หัวเข็ม Phasemation PP200 ราคา 40,000.- (เป็นหัวเข็ม แบบ MC Moving Coil) คือรวมๆ กันแล้ว เพียงแค่ 193,000.- เท่านั้นเอง

            บอกตรงๆ อย่างไม่อ้อมค้อมว่า ถ้างบประมาณสัก สองถึงสามแสนบาทที่จะเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุคปัจจุบัน มาได้ฟัง Michell Gyro SE เซ็ตนี้ รับรองว่าคนฟังจะต้องหลงมนต์เสน่ห์เสียงอนาล็อกอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และคู่แข่งทั้งหลาย ย่อมหนาวสะท้านทุกรายแน่นอน!

            ด้วยประสบการณ์ของผม เสียงของเทิร์นเทเบิลทุกเครื่อง ต่อให้ไม่รวมอาร์ม หัวเข็ม ก็เป็นรากฐานบุคลิกเฉพาะตัวแล้วครับ ไม่มีแบรนด์ใด รุ่นใด เสียงเหมือนกันทั้งสิ้น คือมันเป็นตัวของตัวเองตั้งแต่การออกแบบดีไซน์โครงสร้างแล้ว ดังนั้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนโทนอาร์ม หัวเข็มที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป เสียงจะดีขึ้นตามลำดับอย่างเห็นได้ชัด

            ที่สำคัญการประกอบเครื่องเล่นแผ่นเสียง Michell Gyro SE ที่แยกส่วนออกจากกัน จะต้องกระทำตามข้อกำหนดผู้ผลิต หรือคู่มืออย่างเคร่งครัดชัดเจน ทางโรงงานจะแนบคู่มือ บอกขั้นตอนเซ็ตอัพ และแผ่น Cartridge Alignment สำหรับจัดตำแหน่ง โทนอาร์ม หัวเข็มแผ่นเสียงมาให้ด้วย

           เพราะความเกี่ยวเนื่องยึดโยงกันทั้งระบบ การปรับที่ถูกต้อง เจ้าแผ่น Cartridge Alignment จะช่วยได้มาก ครอบคลุมค่า โอเวอร์แฮง (Overhang) มุม และค่าระยะห่าง ระหว่างแกนหมุน (Spindle) กับปลายเข็ม การตั้งน้ำหนักแรงกดของหัวเข็มที่กระทำต่อร่องแผ่นมีการตั้งค่า Anti Skating ให้เท่ากับน้ำหนักแรงกดหัวเข็มที่ตั้งไว้ ในที่นี้ Phasemation PP200กำหนดไว้ที่ 1.7-2 กรัม หาความสมดุลให้พอดี การตั้งค่าหัวเข็มหนักเกินไปจะได้เสียงทึบๆหนักๆ ตั้งเบาไปแผ่นจะเกาะร่องแผ่นเสียงได้ไม่ดี

            และโทนอาร์ม และหัวเข็มต้องขนานแท่น หรือแพล็ตเตอร์อย่างดีที่สุดครับ

            ทั้งหมดนี้อย่าซีเรียส สำหรับมือใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้าของเทิร์นเทเบิล Michell Gyro SE เพราะไม่ได้ยากเกิน เพียงแต่เริ่มจากการวางแท่น ต้องอยู่บนพื้นเรียบหรือแท่นรองเป็นผืนไม้ อย่าง DELOS  ของ Isoacoustics หรือแผ่นหินอ่อน ที่มีระดับเสมอกันทั้งผืน (จับวัดระดับลูกน้ำได้จะดีที่สุด)

            จากนั้นทำตามขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดในคู่มือ หรือง่ายที่สุดคือให้ผู้เชี่ยวชาญของ Bulldog Audio ปรับตั้งให้เลย เป็นทางลัดที่สบายตัวอย่างยิ่งครับ ทุกอย่างจบครบสมบูรณ์แบบ

            การวางมอเตอร์และพูลเล่ กว้านสายพานเป็นขั้นตอนสุดท้ายครับ จากนั้นเล่นได้เลย ที่ตัวมอเตอร์แยกส่วนนี้ จะมีปุ่มกดสีเขียวเพื่อ Strat และ Stop ซึ่งก็ง่ายดายในการใช้งาน

            อย่ามึนงง ว่าทำไม Michell Gyro SE ไม่มีแผ่นกลมยางรอง หรือสักหลาดมาให้สำหรับรองรับแผ่นเสียง ดังที่กล่าวไว้เบื้องต้น คือแพล็ตเตอร์จานรองผ่านการวิจัยวิเคราะห์ มาแล้วว่า มีวัสดุที่ผลิตมาเฉพาะ เพื่อให้วางแผ่นไวนีลได้โดยตรง

            จึงมีข้อห้ามขาดที่จะนำยางรองหรือแผ่นสักหลาดวงกลมใดๆ มารองอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า Michell เขาทำแพล็ตเตอร์ มาดี และเหมาะสมที่สุดอยู่แล้วครับ

Reference

Harbeth Monitor 30.2 XD

Electrocompaniet ECI 6 DX MKII

Sugden PA4

สายลำโพง TQ Ultra Black II

          ผลการทดสอบเรื่องคุณภาพเสียง ผมนำแผ่นเสียงใหม่ๆ ของไทย ทั้งค่ายใบชา, โจ โปสเตอร์, Impression, ค่าย CAP, เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า และอื่นๆ มาฟังหลายหลากสไตล์  และ ที่ขาดไม่ได้เลยจริงๆ คือ แผ่น LAB ต่างๆ ของ เจ้าพ่อ Direct cut  อย่าง Sheffield Lab แผ่นไวนีลเด็ดๆ จาก GRP Group Three Blind Mice และก็จะไม่ลืมแผ่นฮาร์ฟสปีด จาก Mobile fidelity sound lab ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ มาเปิดฟังกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง Michell Gyro SE

           พอเริ่มวางเข็มลงบนแผ่นเสียงด้วย Ayako Hosokawa A Whisper of Love  ต้องร้องอุทานว่า ว้าว ขนลุกขนพองนิดๆ  อูว์ นี่คือเสียงที่เป็นธรรมชาติสุดๆ เลยครับท่าน!!! สะอาดราบรื่น สวยงาม ผมชอบในทันที กับความอิ่มของเสียง และความเงียบระหว่างช่องไฟของชิ้นดนตรี มันสุดยอดเลยทีเดียว

เสียงต่ำอิ่มละเมียด เสียงร้องลอยเด่นกังวาน เหมือน อายาโกะ มายืนร้องตรงเบื้องหน้าและเสียงแหลมสะอาดมากๆ มีเสน่ห์ปลายเสียงที่ยอดเยี่ยม ในแบบที่เชิดหน้าชูตาฝั่งอนาล็อกจริงๆ คือฟังแล้วต้องย้อนกลับมาฟังอีก อย่างประทับใจ

            อยากจะบอกว่า  Michell Gyro SE เป็น ”จักรกลอนาล็อก” ที่มีรูปทรงอิสระดูน่าทึ่งสวยงาม และคุณภาพเสียงดีมาก ชนิดต้องทึ่งในระดับราคาว่าเขาทำให้ไม่เกินสองแสน นี่ถือว่า เกินกว่าความคาดหมายมาก เพราะคุณภาพเสียงมาได้ ”สุดทาง” โดยแท้

            อย่างที่กล่าวเบื้องต้น เทิร์นเทเบิลระดับราคาระหว่า 250,000.- ถึงเฉียด 300,000.- บาท บางรุ่นน่าจะเดือดร้อนทั่วหน้ากันละ

            บทสรุป เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ

            ผมฟังแผ่นเสียงทั้งแผ่นไทยที่บันทึกดีๆ แผ่นคอมเมอเชียลต่างประเทศ แผ่นออดิโอไฟล์ โดยรวมถือว่า น้ำเสียงของ Michell Gyro SE เจิดจรัส น่าทึ่งจริงๆ นวลนุ่มและกระจ่างชัดใสในไดนามิคเสียง อย่างเหลือเชื่อ เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ทำให้ในวงเงินที่เท่ากันนี้ ใครจะดีกว่าคุ้มกว่านี้นับตัวได้น้อยจริงๆ

            ผมยังมองไปไกลว่า ถ้า นะ… เราเปลี่ยนโทนอาร์มที่ดียิ่งขึ้นไปอีก หรือใช้ Iso Base ของเขาเองมาเพิ่มเป็นฐานรอง จัด Record Clamp เสริมทับแผ่นเสียง ใช้ตัวเพาเวอร์ซัพพลายแยก HR Power Supply มันจะต้องสุดยอดเหลือพรรณนาแน่นอน

            ขนาดเบสิกเท่าที่เป็นอยู่ ผมเริ่มใจสั่นคลอนกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้ประจำส่วนตัว ยกมาเปรียบเทียบเพลงต่อเพลง (ระบบสปริงแขวนลอย)

            เพราะ Michell Gyro SE เสียงละเอียดกว่า ช่องไฟดนตรีดีกว่าด้วยซ้ำทั้งที่ราคารวมถูกกว่าหลายหมื่นบาท

            เสียดายว่า ผมใช้หัวเข็มคนละแบบ คนละหัว ไม่งั้นผมคงจะพูดไม่ออก บอกไม่ถูกไปอีกแยะแล้วละครับ

           ที่สุดก็มาจบที่แผ่นเสียงอัลบั้มแจ๊สฟิวชัน ของนักดนตรีคนโปรดปราน Dave Grusin : Mountain Dance  เชื่อไหมว่า ผมพลิกแผ่นหน้า A หน้า B ฟังวน ถึง 4-5 เที่ยว เรียกว่าลึกซึ้งกินใจ ในความพลิ้วของเสียงที่พอดีๆ ช่วงปลายแหลมสุดคมชัดสะอาดสวยงามเหลือเกิน พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย

            และแผ่นหลัก Sheffield LAB จาก LAB1, LAB5, LAB13 ก็ฟังแล้วฟังอีก เรื่องเวทีเสียง อิมเมจ น่าประทับใจ Michell Gyro SE เสียจริงๆ ครับ ส่วนแผ่น Mobile Fidelity ผมชอบแผ่นร็อค I Robot แผ่น Crystal gayle : We must believe in magic  โอ้ เสียงทรงเสน่ห์เย้ายวนใจ

            เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เราไม่ได้รู้สึกแค่เพียงฟังถึงความไพเพราะ และความสมจริงของเสียงดนตรีรายละเอียดที่ลื่นไหล หรือความสะอาดอย่างที่สุดของมันอันเนื่องมาจากไวเบรชั่นที่ลดต่ำลงอย่างชนิดไม่มีใครเทียบได้

           แต่ผมยังรู้สึกนับถือและเคารพในความกล้าหาญที่ Michell กล้าออกแบบเทิร์นเทเบิลแยกส่วนอิสระ มีโครงสร้างประดุจประติมากรรมยุคใหม่ และให้ผลเป็นมวลรวม ของเสียงที่อบอวลด้วยกลิ่นอายอนาล็อก ได้อย่างสุดยอดถึงเพียงนี้ เรียกว่าเสียงดีเกินราคาอย่างน่าแปลกใจที่สุดในรอบปีเลยทีเดียวครับ

            ด้วยงบประมาณสองแสนรวมทั้งหมด นี่คือ Michell Gyro SE สิ่งดีที่สุดของเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีกเครื่องหนึ่งในรอบปีนี้ ที่ผมสัมผัสครับ

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Bulldog Audio

https://www.facebook.com/bulldogaudiothailand/

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here