The Art if Speaker Design Chapter 12

ทดสอบฟัง Bose 901

นับจากปี 1968 ที่กำเนิดขึ้นมาหลังการก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1964 เพียงสี่ปี ลำโพง 901ได้รับการเปลี่ยนแปลง พัฒนา ปรับปรุงไปหลายครั้งและล่าสุดมีการปรับมากกว่า 350 จุดจากของเดิม ลำโพงจะประกอบด้วย ตัวตู้ในรูปเหลี่ยมแนวนอนขนาด 32.4×53.3×32.4 เซ็นติเมตร

ต่างไปจากลำโพงทรงทั่วไป และออกแบบท่อที่สามารถให้พลังความเร็วสูงทำให้เกิดเสียงต่ำที่ลึกเท่ากับการฟังจากของจริง มีขาตั้งมาให้เลือกสำหรับการจัดวาง ลำโพงมามีการใส่วัสดุขั้วลำโพงแบบพิเศษพิสดาร แต่ยืนอยู่บนพื้นฐานดั้งเดิม หากใช้ขาตั้งเราจะสามารถสอดใส่สายลำโพงทะลุลอดในโพรงของขาตั้งแล้วออกสู่ด้านล่างได้

สายลำโพงคุณภาพที่ใช้ได้จะต้องมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไปนัก ผมจำได้ว่าโบสไม่เคยได้บอกสเป๊กซิฟิเคชั่น ทางด้านความไวหรือ Efficiency เหมือนลำโพงทั่วไป ทำให้คนพิศวงว่ามันจะกินกำลังขับจากแอมป์มากมายหรือไม่ ในการทดสอบฟังกลับพบว่าไม่จำเป็นต้องใช้เพาเวอร์กำลังสูงเหมือนลำโพงไฮเอนด์อื่นๆ แต่โบสก็กำหนดเอาไว้ที่ 10-450 วัตต์ต่อเนื่อง

ในเรื่องของตู้ลำโพงก็เป็นแบบอะคูสติกแมตทริกซ์ สังเกตได้จากช่องพอร์ตดังกล่าว จะออกแบบเฉกเช่นเดียวกับระบบการอัดอากาศของเครื่องยนต์เจ็ตไอพ่นในเครื่องบิน เป็นท่อระบายเสียงออกด้านหลังที่ไม่เหมือนใคร รวมสามชุดด้วยกัน

โดยชุดที่อยู่ตรงกลางจะทำหน้าที่ส่งผ่านพลังของไดรเวอร์ด้านหน้า ส่วนท่อด้านข้างอีกสองชุดสำหรับอัดพลังจากไดรเวอร์ชุดละสี่ตัวด้านหลังรวมแปดตัว จากการคำนวณพลังลมที่รีดอากาศออกมา จะได้ความเร็วประมาณ 60 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

เสียงต่ำจึงน่าทึ่งมากๆสำหรับตัวตู้แบบ MDF ติดผิววีเนียร์ภายนอกจากผิวไม้จริงมีให้เลือกทั้งแบบลายไม้และผิวดำขรึม
ลำโพงจะมาพร้อมกับอีเล็กทรอนิกส์ อีควอไลเซอร์จูนเสียงต่ำ เสียงสูงสองย่านความถี่ โดยการใช้งานจะใช้ได้กับแอมป์แบบปรี-เพาเวอร์ด้วยการต่อคั่นระหว่างเครื่องทั้งสอง หรืออินทิเกรเต็ดแอมป์ที่มีปรีเอาต์ เมนอิน กรณีต่อฟังด้วยแหล่งโปรแกรมชุดเดียวก็สามารถต่อคั่นระหว่างซีดีและแอมป์ หรือรีซีฟเวอร์ได้เช่นกัน เพียงแต่จะเล่นกับแหล่งโปรแกรมได้เพียงชุดเดียว

จากการกำหนดการใช้งานระบบอีควอไลเซอร์นี้ แนะนำว่าควรที่จะเปิดใช้งานแอมปลิไฟร์ที่จะใช้ขับ 901 เป็น Flat ไม่ควรปรับเสียงใดๆแม้กระทั่ง Loudness การปรับเสียงให้มาปรับที่ EQ ของโบสแทน ลักษณะเหมือนปุ่มสไลด์สองปุ่ม ปุ่มแรกปรับย่านความถี่หลักที่มิดเบส 225Hz จุดที่สองปรับที่มิดเบสเบิ้ล 3KHz

ทั้งนี้ยังมีปุ่มเลือกระดับของเสียงต่ำแบบปุ่มกดที่ 35Hz ซึ่งเหมาะสำหรับการปรับเลือกในกรณีที่ห้องเต็มอิ่มด้วยเสียงต่ำมากพอแล้ว อาจจะตัดได้จากปุ่มนี้ให้เสียงกระชับขึ้น หรือกรณีเล่นแผ่นเสียง อาจจะมีรัมเบิ้ลของระบบเทิร์นเทเบิลเข้ามากวนก็ลดระดับลงได้ที่ -6 เดซิเบล

ลักษณะการเซ็ตอัพนั้นทางโบสแนะนำให้วางลำโพงห่างกันประมาณ 1.2-3 เมตร ในการทดสอบผมวางลำโพงซ้ายขวาห่างกัน 2.5 เมตร ซึ่งเหมาะสมกับห้องฟังระดับกลางทั่วไป ความสูงจากพื้นประมาณ 45-91 เซนติเมตร การวางในระดับสูงต่ำ จะมีผลต่อย่านความถี่ต่ำในระดับหนึ่งที่เลือกได้ว่าจะต้องการเสียงต่ำมากน้อยแค่ไหนให้ตรงกับหูผู้ฟังพอดีๆ

แต่ก็น่าแปลกว่าลำโพงจะไม่มีผลใดๆในเรื่องความกว้างเวทีเสียง เพดานเสียง แม้จะวางลำโพงห่างกันมากหรือน้อย การแยกสเตอริโอก็ยังชัดเจน และเวทีเสียงกว้างลึกมากๆ ตามคำแนะนำจากคู่มือการวางลำโพงห่างผนังหลังในระดับ 20-45 เซนติเมตร ในทางปฏิบัติจริงผมวางห่างออกมาประมาณ 1 เมตรจากผนังหลัง ห่างผนังข้างได้โดยไม่จำกัด ในคู่มือให้วางห่างกันได้ตั้งแต่ 45 -120 เซนติเมตร

ในการเซ็ตอัพลำโพงนี้อยากเรียนว่าให้พิจารณาจากคู่มือ และใช้วิจารณญาณจากสถานที่จริง หรือในห้องของแต่ละท่าน ลำโพงจะแสดงพลังและบุคลิกของตนเองออกมาได้ชัดเจนมากแม้การวางแต่ละห้องจะต่างกันก็ตาม Bose 901 Series VI นี้เหมาะมากกับห้องทั่วไป ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องหาวัสดุพิเศษมาบุผนังห้องให้ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนลำโพงอื่นๆ

ผนังหลังแข็งๆทั่วไปจะยิ่งได้ภาพพจน์ของเสียงที่ดียิ่งกว่าด้วยซ้ำ เพราะระบบ Direct & Reflecting นั่น ออกแบบมาให้เป็นเพื่อนนักฟังที่ต้องการเสียงที่ดีแต่ต้องไม่มีอะไรยุ่งยาก หรือก่อผลด้านอะคูสติกจนต้องเปลืองเงินไปหาซื้อวัสดุอื่นๆ มาเสริมจนห้องดูแปลกไปจากเดิม

ขอเรียนว่าการทดสอบฟัง Bose 901 Series VI นี้เป็นแรงบันดาลใจจากการที่ผมเคยเป็นเจ้าของ Bose 901 Series II เมื่อหลายปีมาแล้ว การเปลี่ยนแปลงของลำโพงแต่ละเวอร์ชั่นนั้นมีในระยะหลายปีต่อครั้ง ก็ย่อมอยากทราบเช่นกันว่า วันนี้ 901 เปลี่ยนไปขนาดไหนบ้าง?
ความรู้สึกของเมื่อวันวานกลับมาอีกหนหนึ่ง เสียงแรกที่ได้ยินหลังจากต่อลำโพงเข้ากับชุดซิสเต็มแล้ว ในขณะที่ทุกตำแหน่ง Flat ทั้งหมดก็คือ อิ่มเอมพลังเสียงต่ำ ช่างสะท้านสะเทือนกันก้นบึ้งหัวใจดีนัก เสียงโดยรวมต่างไปจากซีรีส์ก่อนหน้านี้ตามสมควร

โดยเฉพาะค่าไดนามิกเรนจ์ ผมขอบอกว่านี่คือลำโพงที่ให้ค่าไดนามิกสุดยอดจริงๆ โดยเฉพาะกับเพลงคลาสสิกที่ให้ภาพพจน์อันกว้างลึกแบบสุดสายตา ลึกก็ลึกลงไปถึงเสียงที่เราเรียกว่าต่ำสุด เสียงของออร์แกนท่อที่ทำให้หน้าต่างกระจก และประตูห้องฟังสั่นระรัวสมจริงราวกับได้นั่งฟังในอัครสถานการแสดงดนตรี

ในเวลานั้นผมยังไม่ปรับค่าใดๆ ที่อีคิวของลำโพงให้มันอยู่ตำแหน่งกลาง ในขณะที่อินทิเกรเต็ดแอมป์เราก็ไม่มีการปรับใดๆเช่นกัน กำลังขับขนาด 100 วัตต์นี่เหลือเชื่อถึงเพียงนี้ เมื่อโยกย้ายมาใช้ปรี-เพาเวอร์เสียงหนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก ตู้ลำโพงขนาดเดียวกันนี้ ยังยังไม่เคยได้เสียงต่ำเท่าเทียม Bose 901 มาก่อนเลย
เป็นลำโพงที่ไม่ต้องพึ่งพาการ
เบิร์นอินใดๆครับ เพราะแรกสุดจนถึงชั่วโมงที่ 200 เสียงก็เท่าเทียมกัน มันจึงเป็นลำโพงที่แตกต่างไปจากธรรมดาอย่างสิ้นเชิง เสียงคงที่ตลอดระยะเวลาของการรับฟัง


ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here