PSB SubSeries 350 เสียงต่ำที่สะอาดล้ำลึกถึงใจ

           ดังที่ทราบแล้วว่า ปีที่ผ่านมาผู้ผลิตลำโพงชื่อดังแห่งแคนนาดา ได้เปิดตัวซับวูฟเฟอร์รุ่นล่าสุด 2 โมเดล อันมี SubSeries 250 ขนาดตัวขับ 10 นิ้ว และ SubSeries 350 ที่มีขนาดตัวขับ 12 นิ้ว ใช้ภาคขยายเสียง Class D ทรงพลังแรงน่าทึ่ง ครั้งก่อนหน้านั้น ผมได้รับ รุ่น 250 มาทำการทดสอบไปแล้ว ครั้งนี้เราจึงขยับขึ้นไปสู่รุ่นใหญ่คือ SubSeries 350 ที่มีทั้งพลังและการสนองตอบความถี่ได้ลึกยิ่งกว่า

           Paul Barton หัวหน้าทีมออกแบบ และเจ้าของบริษัทได้ย้อนกลับไปนำเอาระบบตู้ปิดอะคูสติกซัสเพนชั่น กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเป็นผู้ปรับจูนระบบด้วยตนเอง เพื่อให้เป็นซับวูฟเฟอร์ที่มีขนาดกะทัดรัด แต่สามารถให้เสียงมหึมาที่เปล่งประกายจากตู้ขนาดเล็ก ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

            และมันก็สร้างความประทับใจไปทั่วโลกจริงๆ

           SubSeries 350 ใช้องค์ประกอบตู้อันแข็งแกร่ง ร่วมกับเทคโนโลยีไดรเวอร์ที่ล้ำสมัย เปี่ยมด้วยวิศวกรรมทางเทคนิคเหนือชั้น และการผลิตที่ประณีตของ PSB ทำให้ได้ซับวูฟเฟอร์ที่มีกำลังขับต่อเนื่อง 300 วัตต์ และพลังไดนามิกสามารถสะวิงได้สูงสุด 900 วัตต์ เลยทีเดียว!

            ขนาดของตู้ซับ เหมาะกับห้องที่มีขนาดกลางหรือห้องเล็ก ซึ่งไม่มีพื้นที่ว่างมากนัก แต่ต้องการเสียงเบสที่ทรงพลังนุ่มลึก โดยไม่พร่าเพี้ยน SubSeries 350 ก็คือคำตอบ

           ภาคขยายแบบ Class D อันทรงพลังของ SubSeries 350 ที่ได้รับการออกแบบร่วมกับ บริษัท ในเครือ NAD Electronics โดยใช้เครื่องขยายเสียง High Current MOSFET ที่มีกำลังขับต่อเนื่อง 300 วัตต์  พร้อมเทคโนโลยีการประมวลผลสัญญาณดิจิตอลขั้นสูงเพื่อให้การตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีความผิดเพี้ยนต่ำมากที่ระดับเอาต์พุตสูง

            ผมได้รับ PSB SubSeries 350 มาทดสอบกับระบบฟังเพลงสเตอริโอ และโฮมเธียเตอร์ ทั้งสองรูปแบบ

            นี่คือซับวูฟเฟอร์ ขนาด 12 นิ้ว ที่มีตัวขับวูฟเฟอร์แบบกรวยโพลีโพรไพลีน ทำงานร่วมกับวงจร Smart Bass Limited ที่จะคอยควบคุมไม่ให้ตัวลำโพงนั้น ต้องทำงานเกินลิมิตจนเกิดความผิดเพี้ยนใดๆ

            อีกทั้งในการขยับตัวของตัวกรวยลำโพง ผลจากการทดสอบ ฉับไว ไม่อืดอาด ทรงพลังหนักแน่นควบคุมการเปลี่ยนแปลงของเฟสได้อย่างราบเรียบต่อเนื่อง ด้วยการใช้ตัวกรอง low-pass ย่านความถี่ที่สามารถปรับได้ ตามความเหมาะสม

            ความน่าทึ่งคือ แม้มีขนาดตู้ปานกลาง แต่ด้วยเทคนิคตู้ปิดของ PSB ทำให้เราได้ย่านความถี่ ราบเรียบมาก

            มีความเที่ยงตรงช่วง 25 – 150Hz นั้น (วัดจากแกน ระดับ On Axis @ 0° ±3dB) นับว่า สุดยอดมาก

           โดยที่การสนองตอบความถี่ลึกสุดลงได้ถึง 20Hz (LF Cutoff -10dB) น่าจะเป็นซับวูฟเฟอร์เพียงไม่กี่รุ่นที่มีขนาดตู้ 400 x 405 x 410 mm แต่สามารถสนองความถี่เสียงได้ขนาดนี้

           ผมชื่นชอบดีไซน์ตัวตู้สวยงาม แบบไฮ-กรอสส์ ปรับแต่งง่ายด้วยการเชื่อมต่อทุกรูปแบบ  การต่อซับมีรูปแบบครบถ้วนเหมือน รุ่น 250 ที่ทดสอบไปแล้ว คือสามารถต่อขั้วพ่วงกับลำโพงขนาดเล็ก เพื่อให้มีการเสริมความถี่อย่างครบถ้วนในแบบสเตอริโอ โดยทำให้ลำโพงเล็ก เป็นแซทเทิลไลท์ได้เลย

            มีระบบการเชื่อมสัญญาณเสียงอินพุต เอาต์พุตแบบ RCA สำหรับสัญญาณเสียงระดับไลน์อินทั้งหลาย รวมถึงช่องรับสัญญาณเสียงอินพุตสำหรับสัญญาณ LFE ในระบบโฮมเธียเตอร์

            PSB SubSeries 350 มีช่อง USB มาให้สำหรับเป็นช่องจ่ายไฟแบบ USB ที่ออกแบบมาเพื่อให้เราสามารถต่อกับตัวรับสัญญาณเสียงแบบไร้สาย Bluesound RT100 อันจะเป็นการเชื่อมต่อไร้สายเข้ากับ Bluesound PULSE SOUNDBAR ให้ใช้งานคู่กันได้อย่างลงตัว

            การเลือกผลิตภัณฑ์ที่บริษัท Conice เป็นผู้แทนจำหน่ายจะมีข้อดีตรง หลายๆ โมเดล ถูกออกแบบมาให้เป็นเหมือนคู่เคียง ที่จัดระบบเชื่อมต่อไร้สายมาใช้คู่กันอย่างสะดวกง่ายดาย

           สำหรับการใช้งาน ในระบบโฮมเธียเตอร์  มีสวิตช์ On / Auto / Off ให้เลือกใช้งาน คือเปิดใช้งานตลอด / ทำงานอัตโนมัติเมื่อมีสัญญาณความถี่ต่ำ / และปิด

ไฟ LED สีแดง ในสภาวะสแตนด์บาย และสีฟ้า ในสถานะทำงาน

BASS LEVEL สำหรับเร่งลดโวลุ่มระดับความดังของตู้ซับวูฟเฟอร์

PHASE SWITCH OR CONTROL เลือกปรับเฟส ให้ตรงต้องกับระบบเสียงลำโพงทั้งหมด ที่สามารถแปรผันค่าได้ตั้งแต่ 0 – 360 องศา กรณีนี้ ควรปรับต่อเมื่อรู้สึกว่า เสียงทุ้มแหลมไม่ประสานกันเท่านั้น ปกติควรตั้งไว้ที่ ศูนย์ (ปรับได้ 0 – 45 – 90 – 135 – 180 องศา)

CROSSOVER FREQUENCY CONTROL สำหรับเลือกจุดตัดความถี่ที่เหมาะสมจาก 50 – 150Hz

            นอกนั้นเป็นอินพุต RCA ที่จะรับจากช่อง SUB ของรีซีพเวอร์ มาสู่อินพุตของตู้ซับ และ ขั้วลำโพงส่วนที่ต่อกับแอมป์หรือรีซีพเวอร์ และขั้วลำโพงอีกชุดที่สำหรับต่อไปยังลำโพงเล็ก

            รูปแบบนี้ คือการเชื่อมต่อให้ลำโพงเล็กระบบสเตอริโอที่เปรียบเสมือนลำโพงแซทเทิลไลท์ ขณะที่ตู้ซับวูฟเฟอร์จะเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความถี่ต่ำในระบบ

Test Report

            อุปกรณ์ร่วมทดสอบของผมก็เช่นเดิมครับ เพียงแต่คราวนี้ ระบบเสียงรอบทิศทาง ใช้ระบบ Dolby Digital 7.1.2 เป็นหลัก ส่วนจอทีวีมอนิเตอร์ใช้เป็น Sony KD-65X9000 H/Sขนาด 65 นิ้ว ลำโพงในระบบเป็นระบบเบสิกที่เสียงแนวสะอาดทั้งเซ็ต ลำโพง Bowers & Wilkins 607s2 คู่หน้า หลัง เซอร์ราวนด์ซ้าย ขวา รวม 3 คู่ (หกตู้) และ HTM6 S2 เซ็นเตอร์ ส่วนลำโพง Atmos เลือกใช้แบบยิงขึ้นเพดาน ELAC Debut A-4.2 ซึ่งให้ผลใกล้เคียงเจาะฝ้าเพดาน (ซึ่งยุ่งยากกับชีวิตผมในตอนนี้ เลยยังไม่ทำ) รีซีพเวอร์ เป็นของ Yamaha RX – A2080

           แต่หลักๆ การทดสอบก็มาหนักหน่วงกับระบบฟังเพลงสองแชนแนลด้วย โดยผมเอาไปผนวกกับแอมป์คลาส A Sugden IA4 และลำโพง Harbeth P3ESR 40th Anniversary และ Monitor 30.2 Anniversary โดยทดลองทั้งการต่อจากช่องปรีเอาท์ และต่อกับขั้วลำโพง โดยให้ลำโพงหลักเป็นแซทเทิลไลท์

            (ได้ผลดีทั้งสองแบบครับ ขึ้นกับเทคนิคในการปรับของเราเอง)

            การทดสอบได้ผลที่ดีเยี่ยม คล้ายรุ่น SubSeries250  เพียงแต่เสียงต่ำของ PSB SubSeries 350 นั้นมีพลังที่เหนือกว่า พูดได้ว่าลำหักลำโค่น เด็ดขาดยิ่งขึ้น เมื่อต่อผ่านทางช่อง LFE In Put เพื่อเสริมในระบบโฮมเธียเตอร์ แบบ Dolby Atmos แบบ 7.1.2 ปรับครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก ที่ประมาณ 60Hz – 80Hz ปรับเซ็ตค่าระดับโวลุ่ม ให้กลมกลืนกับการเซ็ตค่ารีซีเวอร์ โดยยังคงเน้นแผ่นคอนเสิร์ตเดิมที่ผมคุ้นชิน รวมถึงภาพยนตร์ ระบบเสียง Dolby Atmos

– Yanni Live: The Concert Event

– Hans Zimmer: Live in Prague

– John William Live in Vienna 2020

– Star Wars: Episode VIII – The Last Jedi

– House of Flying Daggers

– Life of Pi

– War Horse

            PSB SubSeries 350 แรงปะทะเข้มข้น โดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำ ซึ่งจะไม่มีการหม่นมัว แตกพร่าใดๆ ในระดับความดังที่สูง

            อัตราการกระแทกกระทั้นกับเสียงต่ำในภาพยนตร์ มีพลังสมดุล ผมชอบเสียงต่ำที่ลอยเด่น เป็นตัวตน และดูมีเสียงที่อิสระ สร้างความเร้าใจทั้งเสียงเอฟเฟคในภาพยนตร์ และพลังของเสียงต่ำที่อยู่ในคอนเสิร์ตบลูเรย์ ฟังสนุก จนต้องบอกว่าเอาใจเราไปได้เลย

            การทดสอบใช้งานในครั้งนี้ ช่วงหลังอยู่ที่การฟังเพลงสองแชนแนล ซึ่งเราก็นำเข้าไปแทรกกลางระบบ โดยทำให้ซับวูฟเฟอร์นั้นเป็นตัวช่วยเสริมความถี่ต่ำโดยพยายามตัดที่ครอสโอเวอร์ต่ำสุด แล้วค่อยค่อยไล่ระดับ Volume เพื่อเช็คเรื่องโทนัลบาลานซ์ระหว่างลำโพงหลัก และลำโพงซับวูฟเฟอร์

            ในเรื่องเฟสเสียง ซึ่งตามปกติแล้วถ้าเราจัดตำแหน่งให้ PSB SubSeries 350 อยู่ตรงกลางระหว่างลำโพงฟังเพลงทั้งคู่ แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลยในแง่ของเสียงที่ร้อยเรียงกันต่อเนื่องแบบไหลลื่น ทำได้ดีงามซึ่งก็เป็นไปตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต ว่าควรตั้ง SUB อยู่ระหว่างกลางลำโพงซ้ายขวา ในระนาบเดียวกัน

            เสียงที่อบอุ่นมีความนิ่มละมุนไปกับเพลงทุกสไตล์ที่เราชื่นชอบในการฟัง PSB SubSeries 350 ให้ความสะอาดของเสียงต่ำ หรือเสียงเบสนั้นกลมกลืนกับลำโพงขนาดเล็ก ที่เรานำมาใช้งานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ไม่เสียเวลาเซ็ตอัพมากนัก

           จากช่วงแรก ฟังไป และเซ็ตไปจนถึงจุดที่สมดุล นั่นก็คือ ตู้ซับนั้นสามารถกลมกลืนไปกับลำโพงหลัก ฟังจนรู้สึกเสมือนว่าซิสเต็มชุดนี้ไม่มีซับอยู่ด้วย นี่คือความดีเยี่ยมของ PSB SubSeries 350 ที่ต้องบอกว่า เสียง Clean หรือสะอาดมาก เหมาะกับการเสริมเสียงต่ำให้กับลำโพงเล็ก ถือเป็นการอัพเกรดได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่ต้องไปซื้อลำโพงหลักรุ่นที่ใหญ่ขึ้น

            PSB SubSeries 350 เป็นตัวอย่างที่ดีในการเสริมให้เสียงต่ำที่เนียนนุ่ม ลึก ระดับดับเบิ้ลเบสในวงออเคสตร้าให้ลำโพง BBC Monitor ที่ใช้ประจำอยู่ นี่ละครับ ซับวูฟเฟอร์ตู้ปิดขนาดกำลังพอดี เหมาะสมกับทุกห้องฟัง ไม่ว่า จะดูหนังระบบเสียงรอบทิศทาง หรือการฟังเพลงแบบสองแชนแนล ที่หลายคนต้องการความเอิบอิ่มของเสียงที่ดีที่สุด ซับวูฟเฟอร์ราคา ไม่เกิน 40,000 บาท ที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้      

PSB SubSeries 350 คือคำตอบโจทย์ดังกล่าว (สนนราคาปัจจุบัน 35,500 บาท)

            PSB SubSeries 350 ให้คุณภาพเสียงต่ำ ที่ลึกล้ำถึง 20Hz ที่สะอาดมาก และหาไม่ได้ในซับวูฟเฟอร์ตู้ขนาดนี้ครับ การันตี!

สนใจทดลองฟังได้ที่ บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด ทุกสาขา

หรือ โทร 02-276-9644 และติดตามข่าวสาร รายละเอียดได้ที่ https://www.conice.co.th

           

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here