ข้ามเวลามาหากัน : ความเป็นมาอัลบั้มสุดยอดแห่งปี ตอนที่ 2 โดย วิจิตร บุญชู
ลาวดวงเดือน ในเวอร์ชั่นของ กัน นภัทร
คำถามแรกที่จะถามคือ เพลงลาวดวงเดือน นั้น มีผู้ทำมาแล้วกี่เวอร์ชั่น บอกได้เลย ว่า ถูกนำมาอะเร้นจ์ และบันทึกเสียงนับพันๆ ครั้ง ที่จริงควรถามว่า โปรดิวเซอร์ คอนดักเตอร์ท่านใดไม่เคยทำเพลงลาวดวงเดือนบ้าง น่าจะดีกว่า
ลาวดวงเดือน เสมือนเพลงประจำชาติไทย มรดกตกทอดทางวัฒนธรรมดนตรีที่เราในฐานะลูกหลานได้หยิบมาใช้ความไพเราะสวยงามนี้ ถ่ายทอดกันจากรุ่นต่อรุ่นเสมอมา
ในเวอร์ชั่นของ อัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” คุณแจ็ค อภิสิทธิ์ และ กัน นภัทร จะทำอย่างไรให้ดีที่สุด และแตกต่างออกไป ไม่ให้เป็นลาวดวงเดือนไทยเดิมจ๋า ไม่ให้เป็นลาวดวงเดือน สากลจนลืมไทย หรือประยุกต์แบบใด จึงยังน่าลุ่มหลงหวานละมุน แต่ เป็นแบบ ของ”กัน นภัทร” ได้เล่า?
ลาวดวงเดือน หนึ่งในเพลงที่คัดสรรแล้ว ตามความปรารถนาของคุณกิติพงษ์ กุลไพศาลธรรม แห่งเปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า และทีมงานนี้ เป็นเพลงไทยเดิม บทเพลงนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม โอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดามรกฎ ในรัชกาลที่ 5
เพลงที่บรรยายถึงความรักที่ผิดหวังแต่ยังคงสวยงามด้วยความห่วงหาอาวรณ์ เมื่อจำจากคนรักแรมรอนมาตามทางดำเนินเกวียน ที่มาของเพลงนี้ เป็นเรื่องจริงเสียยิ่งกว่านิยายเรื่องใดๆ ในสยาม รักที่เปิดฉากด้วยความรักซาบซึ้ง ประทับใจ และจบลงด้วยการพลัดพรากจากกันชั่วชีวิต
ฝ่ายชายถ่ายทอดความรักอาลัยผ่านบทเพลงอมตะเพลงนี้ ด้วยถ้อยรจนาอันหวานลึกซึ้ง ติดตราตรึงใจผู้คนมานานเนิ่นนับแต่ปี พ.ศ. 2446 ที่ทรงนิพนธ์เป็นต้นมา เป็นเพลงไทยเดิมอัตราสองชั้นที่มีการขยายให้ครบเถา คือเพิ่มเป็นสามชั้น และตัดลงเป็นสองชั้น ชื่อว่า โสมส่องแสง ในฐานะมือระนาดคนหนึ่งผมเคยบรรเลงตลอดช่วงชีวิตที่ผันผ่านแต่เยาว์วัยจนป่านนี้นับร้อยๆ พันๆ เที่ยว
ห้วงอารมณ์อันลึกซึ้งประทับใจของลาวดวงเดือนนี้ตราตรึงอยู่ในหัวใจของนักดนตรี นักร้อง และผู้คนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนไทยยาวนานกว่า 118 ปี และจะยังคงเป็นเช่นนี้ตลอดไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย
การหยิบยกเอาเพลงลาวดวงเดือนมาขับร้องและบรรเลงในครั้งนี้ ทราบว่าคุณแจ็ค อภิสิทธิ์, กัน นภัทร และทีมงานมีพยายามอย่างยิ่งที่จะคงเอาไว้ซึ่งความเป็นไทยเดิมของเรา แต่อยู่ในรูปของเพลงไทยสากลประยุกต์ ร่วมสมัย และยังต้องทำให้เป็นเวอร์ชั่นของ กัน นภัทร อย่างดีที่สุดอีกด้วย
เครื่องดนตรีสากล และเครื่องดนตรีไทยถูกนำมาประสานกันได้อย่างลงตัว เราจะได้ฟังสำเนียงแท้ๆ ของซอสามสาย ที่มีเครื่องดนตรีจากวงออเคสตร้าบรรเลงควบคู่อย่างงดงาม
ความรู้สึกต่อการได้ยินเพลงนี้ผ่านการขับร้อง ของ กัน นภัทร เป็นเช่นไร?
วันที่ผมได้ยินเสียง เพลง “ลาวดวงเดือน” ที่สตูดิโอ 28 เริ่มจากอินโทรที่หวานลึกซึ้ง จนถึงการเรียงร้อยถ้อยวจีเอื้อนเอ่ย ของ กัน นภัทร ด้วยความคาดหวัง และพิศวงในน้ำเสียงที่แสนจะราบรื่น เอิบอิ่ม เหมือนวันวานที่แสนหวาน เพราะ กัน นภัทร เขามีความเป็นมาหรือต้นกำเนิดจากเพลงไทยเดิม เป็นต้นทุนอยู่แล้ว
ใช่ครับ ความไพเราะที่ผมได้ยิน ยอมรับว่า ช่างดงามประณีตยิ่งนัก แต่… ผมยังไม่มั่นใจว่า มันจะต่างออกไปอย่างไรจากเวอร์ชั่นอื่นๆ ที่เขาทำกันมานับร้อยนับพันที่เคยบันทึกเสียง ถ้าไม่เหนือชั้น ถ้าไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพลงนี้ ของ กัน นภัทร ก็คืออีกหนึ่งในความแตกต่างของดนตรีและผู้ร้องเท่านั้น
ฉับพลันที่เพลงจะจบลง กัน นภัทร ก็ร้องตามท้ายเพลงด้วยเสียงเอื้อนโน้ตในลำคออย่างมีชั้นเชิงของศิลปินที่สุดยอดขึ้นมา ทำให้ผมที่ฟังเพลงนี้มาเกือบจบแล้ว ถึงกับขนลุกชูชัน!!!
นี่แหละครับคือ ความอลังการ ที่หลุดลอยออกมาจากท่วงทำนองหวานซึ้งอ้อยสร้อย ตามด้วยการขมวดปมจากเสียงเอื้อนที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และบ่งชี้ว่า นี้คือ “หัวใจ” ของเพลงลาวดวงเดือน อย่างแท้จริง
ประทับใจจากวันนั้น ถึงวันนี้ และยังติดหู ติดไว้ในใจตลอดทุกวัน
ขอบคุณ และโชคดีอย่างเหลือเกินที่ผมได้ฟังก่อนใครๆ ในวันนั้น ขอบคุณเปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า และทีมงานที่ตัดสินใจเลือก โปรดิวเซอร์ และศิลปินนักร้อง ด้วยความตั้งใจอย่างสูงสุด ที่จะให้อัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” จะได้ถูกจดจำไปชั่วกาลนาน
อยากทราบว่า ทำไมผมถึงประทับใจอย่างถึงที่สุดในเพลง ลาวดวงเดือน อย่างไม่มีฉบับใดเสมอเหมือน โปรดอดใจรออีกสักนิด คุณได้เป็นเจ้าของอัลบั้มประวัติศาสตร์นี้ อย่างแน่นอน
ความทุ่มเทครั้งนี้ กับ อัลบั้ม ”ข้ามเวลามาหากัน” นั้น ถือเป็นที่สุดของที่สุดในการสร้างผลงานระดับ มาสเตอร์พีซ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา และสมควรแก่การเป็นเจ้าของอย่างยิ่ง
#ช่วยสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้อัลบั้มนี้ด้วยนะครับ
#เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า
#ข้ามเวลามาหากัน