ข้ามเวลามาหากัน : ความเป็นมาอัลบั้มสุดยอดแห่งปี ตอนที่ 5

มนต์เสน่ห์ซีดี อัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” ที่ผมได้ฟังแล้ว

           ยอมรับว่าลุ้นตัวโก่งแทนเจ้าของโครงการ “เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า” อยู่เหมือนกัน หลังจากเห็นความพยายามอย่างที่สุด ในการรังสรรค์ อัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” ของ กัน นภัทร อินทร์ใจเอื้อ

            เหตุและผล ได้เขียนชี้แจงไปพอสมควรแล้วว่า หนึ่งศิลปิน สี่โปรดิวเซอร์ นี่ต้องเรียกว่าการสร้างอัลบั้มใหม่ นี้คือการ “แหกคอก” โดยแท้  ไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน

            เพราะนี่ไม่ใช่แผ่นรวมเพลงฮิตของค่ายเพลง ที่ไปหยิบเอาเพลงเด็ดของอัลบั้มโน้น นี้ นั้น มาผสมรวมกันไป นั่นละคุณถึงจะเห็นผลงานรวมของโปรดิวเซอร์หลายคนในแผ่นเดียว

            อัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” ทุกอย่างทำขึ้นใหม่ทั้งหมด แม้ว่าบทเพลงทรงคุณค่าที่คัดเลือก แบบเพชรน้ำหนึ่งนี้ เราจะคุ้นเคยเพราะความอมตะของเพลง

            นำมาอเร้นจ์ดนตรีกันใหม่ ตามแนวถนัดของโปรดิวเซอร์มือทอง ทั้งสี่ท่าน เหมือนดังว่าให้ กัน นภัทร ออกแสดงคอนเสิร์ต ที่มีวงดนตรี และผู้ควบคุมวงชั้นเยี่ยมของแต่ละวง สลับกันเล่นสี่วงดนตรี!

           หลังจากการบันทึกเสียงมาเรียบร้อย มีการมิกซ์ดาวน์ขั้นต้นของโปรดิวเซอร์แต่ละท่านแล้วท้ายที่สุดก็คือนำมาทำการ “มาสเตอร์ริ่ง” ผลลัพธ์ที่แท้จริงก็จะออกมา

            เป็นเครื่องชี้ชัดว่าอัลบั้มนี้บันทึกเสียงเป็นอย่างไร และศิลปินสามารถถ่ายทอดความไพเราะของบทเพลงได้ดีขนาดไหนอย่างไร

            ผมได้ฟังตั้งแต่การมิกซ์ครั้งแรก มาจนถึง มาสเตอริ่ง สุดท้าย ที่เป็นแผ่นตัวอย่างสำเร็จรูปในวันนี้เองครับ นี่คือเสียงมาสเตอร์จริง ที่เขาจะส่งไปผลิตแผ่นซีดีที่โรงงานประเทศญี่ปุ่น แต่นำมาให้ผมฟัง และคอมเม้นท์ก่อน

            อะไรเกิดขึ้นในห้องฟังเพลงของผม?

            จากชุดเครื่องเสียง สามระดับราคา แต่เน้นความเที่ยงตรง

            -ชุดแรก ระดับสามแสนบาทใช้ลำโพงระดับโลก Tannoy Stirling, ProAc Tablette Signature ขับเสียงด้วยแอมปลิไฟร์ คลาส A อังกฤษ

            -ชุดที่สอง ระดับห้าแสนบาท ใช้ลำโพง มอนิเตอร์ BBC monitor LS3/5a, Harbeth P3 ESR 40th Anniversary และ JBL 4312SE ขับเสียงด้วยแอมป์หลอดคลาสA เยอรมัน

            -ชุดที่สาม ระดับสองล้านกว่าบาท ฟังในห้องฟังเพลงมาตรฐาน ขนาด 4×7 เมตร ด้วยชุด ปรีเพาเวอร์ แอมป์หลอด ซิงเกิล คลาส A ลำโพง Harbeth Monitor 30.2 XD (ลำโพงไฮเอนด์อังกฤษ)และ Gauder Akustik Arcona40 (ลำโพงเยอรมัน)

           แรกสุด ที่ได้ฟังผมอึ้งไปชั่วขณะเหมือนกัน ต้องหันมาถามตัวเองว่า ผมได้เคยฟังอัลบั้มเพลงไทยที่ดี สมบูรณ์แบบขนาดนี้มาสักกี่อัลบั้ม?

            ใช่แล้ว มันต้องเรียกว่านับนิ้วได้เลย

           แต่อัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” นี้ ต้องพูดสั้นๆ ว่า เยี่ยมจริงๆ ทำให้ผมรู้สึกอิ่มเอิบไปกับอรรถรสของดนตรี และศิลปินผู้ร้องเป็นอย่างยิ่ง เหมือนเราได้ลืมโลกภายนอกไว้ชั่วขณะหนึ่ง บอกได้เลยว่าอารมณ์นี้ จะเกิดขึ้นได้กับการฟังเพลงของผม ไม่กี่ครั้ง ในรอบหลายปีมานี้!

            อันนี้ แหละที่รอคอย … ไม่เกินไปนัก ถ้าจะกล่าวว่า ชีวิตนักฟังเพลง ต้องการอย่างนี้ละครับ

          บทเพลง ที่ศิลปินถ่ายทอดอารมณ์อย่างลึกซึ้ง ทำให้เพลงเก่า “ฟื้นคืนชีพ” อย่างทรงคุณค่าขึ้นมาทันทีทันใด ด้วยงานประณีตของดนตรีแบ็คอัพ วงออเคสตร้า และชั้นเชิงของการเรียบเรียงดนตรีอย่าง “เพอร์เฟ็ค”

            ยกตัวอย่าง เพลงแรก เพลงเดียวก็คุ้มทั้งอัลบั้มแล้วละครับ

            “ใจรัก” ที่กัน นภัทร ขับร้อง เหมือนเพลงที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ เราไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับฉบับแรก ของคุณสุชาติ ชวางกูร หรือการนำมาร้องของศิลปินอีกหลายท่าน

            สารภาพตรงๆ นะครับ ที่ผ่านๆ มา นอกจากต้นฉบับบันทึกเสียงครั้งแรก  ยังไม่มีนักร้องคนไหน ร้องเพลงนี้ได้ประทับใจกว่าต้นฉบับสักคนเดียว

            เพิ่งมีวันนี้แหละครับ ที่ กัน นภัทร ถ่ายทอดออกมาได้ลึกซึ้งในแบบฉบับของตัวเอง งดงามมีเสน่ห์… เอาใจไปเลยน้อง!

            กัน นภัทร ร้องได้อย่างลึกล้ำในอารมณ์เพลง ถ่ายทอดได้เพราะพริ้งมาก ยิ่งจังหวะในช่วงที่ดนตรีบรรเลงรับช่วงกลางเพลง โห สุดยอดครับ ไม่รู้จะพูดคำไหนจริงๆ การวาง “ใจรัก” ไว้เป็นเพลงแรก เรียกว่า เพลงดึงดูดใจคนฟังได้ในทันที

           ตามด้วย “แสนรัก” อันนี้ ต้องขอยืนยันว่า ไม่ง่ายสำหรับใครที่จะนำมาขับร้อง แต่ แสนรัก ในฉบับของ กัน นภัทร  อัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” นี้ เป็นการโชว์เสียงร้องอันสมบูรณ์แบบ กับดนตรีน้อยชิ้น ให้ความรู้สึกสะท้อนความผิดหวังในความรัก ตัดพ้อนิ่มๆ แต่เชือดเฉือนใจเหลือกำลัง

           เพลงที่สาม ดึงอารมณ์ของการร้อยเรียงในอีกแบบ มาจากความเดิมของวงดนตรี สุนทราภรณ์ ด้วย “ขอพบในฝัน” เป็นเอกลักษณ์ของความรักความฝันที่ศิลปินคู่ กัน นภัทร และ สรวีย์ ธนพูนหิรัญ (ผิงผิง) ศิลปินรับเชิญ ส่งผ่านอย่างกลมกลืนไหลลื่น

           การร้องคู่นี้ ต้องบอกว่าไม่ง่ายในการเลือกคีย์เสียง ให้สมดุลกันทั้งนักร้องหญิงชาย แต่นี่ก็คือความราบรื่นสวยงามประทับใจครับ ฟังไปอินไปกับเพลงอย่างถอนใจไม่ขึ้น

            เพลงที่สี่ “ลมจ๋า” อันนี้ขอคอมเม้นท์สั้นๆ ว่า กัน นภัทร ร้องได้เยี่ยม ออดอ้อน ฉอเลาะ หวานซึ้ง อ้อยสร้อย เหมือนดังทุกอย่างหลุดออกมาจากส่วนลึกของหัวใจ และเพลงนี้ คือเพลงที่เกิดมาเพื่อ กัน นภัทร โดยเฉพาะ ดนตรีแบ็คอัพก็สวยงาม สง่า ในการส่งผ่านบทเพลงอย่างกลมกลืน

           เพลงที่ห้า และหก เป็นเพลงเน้นจังหวะลีลาศ ที่สนุกครื้นเครง ปรับเปลี่ยนอารมณ์หวานซึ้งกลับมายังโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยลีลาดั้งเดิม อันยิ่งใหญ่ของวงดนตรีสุนทราภรณ์  ในอัลบั้มนี้ ทั้งเพลง “ฟลอร์เฟื่องฟ้า” และ “สุขกันเถอะเรา” ทำให้เร่งเร้าอยากออกไปเต้นกลางฟลอร์จริงๆ

            เรียกว่า ขยับแข้งขายิกๆ เลยทีเดียว

            แล้วก็มาหักมุมเล็กน้อยกับเพลงที่ เจ็ด บทเพลงที่เหมือนบทกวี อันละเมียดละมัย ”ฉันจะฝันถึงเธอ” เครื่องดนตรีบรรเลงแบ็คอัพ เสียง กัน นภัทร ในแบบเน้นๆ อารมณ์ห้วงแห่งการคิดถึงโหยหา ต้นฉบับนั้น โปรดิวเซอร์ตั้งใจบันทึกอย่างละเอียดละออ กับชิ้นดนตรีที่เน้นความสวยงาม และใช้เพียงไม่กี่ชิ้น แต่มีศักยภาพสูงสุด  คุณจะได้กลิ่นอายของเพลงที่มีความโดดเด่น เป็นพิเศษ

            เป็นการบันทึกที่เน้นความเป็นออดิโอไฟล์อย่างแท้จริง เนื้อเสียง และดนตรี มีความละเอียด เด่นชัด เป็นตัวของตัวเอง แนบเนียน เข้าถึงอารมณ์แห่งความรักความฝัน การส่งผ่านจากใจถึงใจ ศิลปินโชว์เสียงร้องได้โดดเด่น เหมือนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งในวง  บ่งชี้ว่า กัน นภัทร เขาจะเป็นศิลปินที่ร้องเพลงลูกกรุงได้ดีที่สุดคนหนึ่งในฟ้าเมืองไทยยุคนี้

            เพลงที่แปด “คิดถึง” ทั้งดนตรี ทั้งเสียงร้องออดอ้อนหวานซึ้ง จนผมรู้สึกเหมือนใจละลาย ไปกับแทร็กนี้ เป็นอะไรที่สุดยอดจริงๆ ครับ เป็นการเรียบเรียงดนตรีได้อย่างมีเสน่ห์เหลือเกิน

            เพลงที่เก้า นี่คือเพลงตำนานรักที่ผิดหวัง โศกสลดเหลือจะกล่าวได้ แต่คนไทยก็คุ้นเคยประหนึ่ง เพลงประจำชาติไปแล้ว “ลาวดวงเดือน” เพลงไทยเดิมจังหวะ 2 ชั้น มีเนื้อเพลง อ่อนช้อยงดงาม ด้วยวรรณศิลป์ ท่วงทำนองก็มีความซาบซึ้งตรึงใจเป็นอมตะมายาวนานถึงปัจจุบัน คือ 118 ปี!!!

           ดังที่เคยเรียนไว้แล้วว่าเพลงลาวดวงเดือนนี้ มีผู้นำมาขับร้อง บรรเลงและบันทึกเสียงจะนับเป็นร้อยๆ ครั้ง แต่ในฉบับอัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” มีความพิเศษอย่างยิ่งที่ไม่เหมือนใคร ดนตรีมีการผสมผสานความเป็นไทยกับสากล ได้อย่างลงตัวและมีคุณค่าอย่างที่สุด

            ผมบอกเป็นนัยๆ ว่า กัน นภัทร ร้องในแนวไทยเดิมนี้ อย่างลงตัว สมกับที่เขากำเนิดก่อเกิดมาจากแนวทางนี้ และมีการเอื้อนปิดท้าย อย่างชนิดที่ ไม่มีฉบับใดเคยทำมาก่อนครับ (อยากให้คุณไป เซอร์ไพรส์? กันนะครับ)

            เพลงที่สิบ เพลงปิดท้าย คือผลงานของศิลปินท่านนี้เอง เพลง “พยุง” เป็นความรู้สึกอันลึกล้ำระหว่างศิลปินและผู้ให้การสนับสนุน กำลังใจของแฟนคลับทั้งหลาย ช่วยค้ำจุน พยุงให้ กัน นภัทร เดินอยู่บนเส้นทางศิลปินอย่างเข้มแข็ง  บทเพลงเขียนจากความรู้สึก ที่เป็นจารึกในใจ ที่ไม่มีวันลืม

            กัน นภัทร ขับร้องได้สวยงามมาก ด้วยอารมณ์ที่โหยหาและสวยงามไร้ที่ติ อีกทั้งเสียงขลุ่ยที่เร้าอารมณ์ลึกล้ำ จากอาจารย์ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บรรยายได้ทั้งความเศร้า เหนื่อยล้า และปลุกปลอบใจให้มีพลังต่อสู้ในที่สุด

            ทั้งหมดนี้ผมรู้สึกประทับใจ ในฐานะนักวิจารณ์ นักทดสอบ นักฟังเพลง ออดิโอเลิฟเวอร์  ว่า เป็นอัลบั้มที่ทำการร้อยเรียงทั้งดนตรี และบทเพลงร้องได้สง่างามที่สุดในรอบสิบปีมานี้ ยากที่จะมีใครทำผลงานที่สมบูรณ์ ไร้จุดติติงถึงเช่นนี้

            เพราะทุกอัลบั้มผ่านมือผม ส่วนหนึ่งมักมีข้อติข้อติงกันคนละนิดหน่อย แต่อัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน”  ไม่รู้จะติอะไร จริงๆ กลับกลัวว่าจะชื่นชมอย่างไรเป็นตัวอักษร ถึงผู้อ่านจะเข้าถึงความรู้สึกผมได้มากที่สุด

            ถ้าจะติ คงมีอย่างเดียวว่า ออกวางตลาดได้ช้า จนแทบทนรอไม่ไหวต่างหากนะครับ แต่ก็เข้าใจว่า งานประณีตเช่นนี้ต้องพิถีพิถันรอบคอบจริงๆ

            สรุป คือฟังเป็นสิบๆ รอบเหมือนต้องเสน่ห์มนต์ขลังจริงๆ

           ต้นฉบับที่ผมได้รับมาฟังก่อนใครนี้ มีความผสานผสมกลมกลืน ระหว่างนักร้อง นักดนตรี ความสวยสดงดงามของเพลงแต่ละเพลง ครบถ้วนสมบูรณ์

            ในแง่การบันทึกเสียงและมาสเตอริ่ง ให้การแจกแจง จังหวะ ความหนักเบาของชิ้นดนตรี ความสะอาด การเก็บรายละเอียดด้านฮาร์โมนิค (เสียงชุ่มฉ่ำจากชิ้นดนตรี และผู้ขับร้องอย่างเป็นธรรมชาติ)

           ทั้งเสียงหลัก เสียง Live ที่เกิดภายในฮอลล์ หรือห้องบันทึกเสียง ได้มาเป็นบทเพลงที่ฟังแล้วเสมือนจริง

            ประดุจ กัน นภัทร ได้มาร้องให้แฟนเพลงได้ฟังตรงหน้า

            ต้องขอบคุณ ความกล้าหาญของ เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า ที่ลงทุนอย่างไม่อั้น ชื่นชมศิลปิน  นักดนตรี โปรดิวเซอร์ มาสเตอริ่งเอนจิเนียร์ ผู้มีส่วนร่วมทุกท่าน ได้สร้างผลงานที่ควรได้รับการจารึกไว้จากผู้ฟัง แฟนเพลงทั่วประเทศ

            อีกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่เราจะต้องจดจำ และขอให้กำลังใจตลอดไป

            ผมเชื่อมั่นว่าอัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” คือสุดยอดอัลบั้มซึ่งมีเสน่ห์ล้ำลึก ด้วยเพลงยุคเก่า ที่ได้ก้าวข้ามกาลเวลามายังหัวใจทุกดวงที่รักเพลงไทย ได้อย่างน่าประทับใจที่สุดในรอบหนึ่งทศวรรษครับ การันตี!!!

            เอาละครับ แฟนๆ ทั้งหลาย อดใจรออีกสักนิดเดียวเองครับ ช่วงเดือนพฤษภาคม ยังอยู่ในขั้นตอนส่งไฟล์ไปทำแผ่นที่ประเทศญี่ปุ่น ทางเปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่าได้คาดการณ์ว่าน่าจะวางตลาดได้ช่วงกลางเดือนมิถุนายนอย่างแน่นอน

            ครั้งหน้า ผมจะมาเจาะลึก อัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” แบบเชิงลึก อีกแง่มุมหนึ่ง ด้วยมุมมองของ มิวสิคเลิฟเวอร์ ที่รักเพลงไทย มายาวนาน หวังว่า คงจะได้ติดตาม

            รอฟังข่าวการพรีออเดอร์แผ่นซีดี “ข้ามเวลามาหากัน” ได้ที่เพจ เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า

#ช่วยสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้อัลบั้มนี้ด้วยนะครับ

#เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า

#ข้ามเวลามาหากัน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here