ISOLATE TRANSFORMERS by HiFi 99

0
6104

ISOLATE TRANSFORMERS by HiFi 99

ผลิตไฟให้กับระบบเสียงที่มีความสะอาดยิ่งขึ้น

            คนเล่นเครื่องเสียงปัจจุบัน เริ่มเรียนรู้ว่า อันที่จริงแล้ว เครื่องเสียงของพวกเขานั้น เหมือนมีปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์ได้เสมอ เพราะเหตุที่ไฟฟ้าที่จ่ายมาจากต้นทางนั้น ไม่มีใครเขากรองความถี่รบกวนมาให้เสร็จสรรพ มันไม่ใช่สาระอันสำคัญที่ผู้ผลิตไฟฟ้าจะคำนึงถึงเรื่องดังกล่าว

            จะว่าไปแล้วเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภทหม้อหุงข้าว เตารีดไฟฟ้า ตู้เย็น แอร์คอนดิชั่น อาจจะต้องการความ Clean ของไฟอยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่มีผลที่ละเอียดอ่อนทำให้มันทำงานผิดพลาด จนรู้สึกได้ว่าประสิทธิภาพด้อยลง

            แต่ระบบเสียงและภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เจอปัญหาจังๆ อันเกิดจากระบบไลน์ไฟ ก็น่าจะมีสองปัญหาใหญ่ๆ คือสัญญาณสนามแม่เหล็กไฟฟ้า EMI และการรบกวนจากความถี่สูง RFI ส่วนปลีกย่อยออกไปอีก คือ สิ่งเร้าจากคลื่นวิทยุจากมือถือ การกวนจากมอเตอร์ หรือแม้แต่สายไฟที่ส่งมาในระยะไกล จากการกวนของหม้อแปลงไฟ 220 โวลต์ของการไฟฟ้าเอง

            เท่าที่เคยทราบมาว่า ในวงการอุตสาหกรรม มาตรฐานของ IEC มีข้อกำหนดให้ต้องมีการควบคุมย่านความถี่รบกวนช่วง 10 Hz – 30 MHz ด้วย ดังนั้นเสียงรบกวนต่างๆ ล้วนปนเปอยู่ในระบบไฟตลอดเวลา เพียงแค่ว่า เราจะหาวิธีผลิตและส่งผ่านไฟออกมาให้เครื่องเสียงใช้อย่างไร มันจึงจะได้คุณภาพสูงสุด     

            นักออกแบบเครื่องเสียงย่อมทราบถึงปัญหาการรบกวนดังกล่าวอยู่แล้ว เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ทั้งหลาย จึงพยายามออกแบบให้ในวงจร มีระบบลดการรบกวนมาพร้อมสรรพ

            แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ ด้วยเหตุที่ว่า วงจรภาคจ่ายไฟ และส่วนที่ช่วยลดสัญญาณกวนนั้น เป็นการแก้ปัญหาในระดับพื้นฐานธรรมดาทั่วไป

            ระยะหลังๆ เราจะเห็นมีบริษัทผู้ผลิตระดับโลก ออกแบบตัวกรองไฟ หรือสินค้าจำพวก Isolate transformers มาจำหน่ายมากยิ่งขึ้น และได้รับการตอบรับที่ดี แสดงถึง เราเริ่มรับรู้ปัญหาร่วมกันว่า เสียงจากระบบซิสเต็มนั้น สามารถดียิ่งขึ้นไปอีกด้วยการฆ่าตัดตอน Noise

            หลังจากนั้น ผมได้เห็นบรรดานักออกแบบเครื่องเสียงของไทย ได้ออกแบบระบบ Isolate transformers ออกมาจำหน่ายกันมากขึ้น เนื่องจากสินค้าจากต่างประเทศ นั้นมีราคาค่อนข้างสูง ส่วนคุณภาพของไทยเราจะ ดีจริงแค่ไหนนั้น ก็ต้องพิสูจน์ กันเป็นรายๆ ไปครับ ถ้าเจอที่ดีๆ มีมาตรฐาน ก็จะทำให้ได้ของดี ราคาประหยัดไปใช้กันละครับ

            พูดถึงการรบกวนในระบบเสียง ยังมีเสียงรบกวนอีกมากมาย สารพัดรูปแบบ อันเนื่องมาจากระบบเครื่องเสียงดิจิตอล ระบบการเล่นเพลงสตรีมมิ่ง และภาค DAC ที่มีระบบClock ความถี่สูงขึ้น บางรายสูงถึง 2 GHz

            การรบกวนจากการซอยแบ่งความถี่ให้กับระบบโทรศัพท์ วิทยุโทรทัศน์ หรือแม้แต่ระบบกราวนด์ในวงจรระบบเสียง เกิดความต่างศักย์คร่อมระหว่างกราวด์ในแต่ละจุด แต่สิ่งเหล่านี้ เราคงปราบได้ไม่หมดเสียทีเดียว มาตะลุยต้นทางก่อน น่าจะโอเค ที่สุด

            คือเราเริ่มต้นหาทางจ่ายไฟให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่ต้นทาง ก็จะหลุดพ้นจากปัญหารบกวนที่มากับระบบไฟ และมีผลต่อระบบเครื่องเสียงให้เปิดความจริงอันโอ่อ่า ของเครื่องเสียงได้มากยิ่งขึ้น สำหรับหม้อแปลงไอโซเลท หลักการอาจจะไม่ต่างกันมากนักในทางเทคนิค แต่ผลลัพธ์ ขึ้นกับอุปกรณ์ และฝีมือของแต่ละผู้ผลิต

            สำหรับของไทยเรา ผมมีโอกาสได้ทดลองมาบ้างตามสมควร ทั้งเครื่องกรองไฟ และ Isolate transformers บางรุ่นประทับใจไม่น้อย บางรุ่นก็ต้องยอมรับว่า เราคงต้องฝึกปรืออีกมากสำหรับวิทยายุทธ์

            ล่าสุดทาง HiFi 99 โดยคุณนะ ยก Isolate transformers 1ph ขนาด 3000 วัตต์ มาให้ได้ลองใช้งานดู ก็ต้องใส่ฐานรองด้านใต้เข็นมา เพราะหนักมากทีเดียว อย่าริ ไปยกมันเองตามลำพังเด็ดขาดเชียว

            ในเวลาที่ผ่านมา ผมก็มัวแต่ไล่ตามเก็บลำโพง จัดการทดสอบเครื่องเสียงที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้าเสียในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา  ก็เลย ยังไม่ได้นั่งลง ทดลองใช้งานจริงจังเสียที กระทั่ง สัปดาห์ก่อน ได้ทดสอบกันแบบว่า เป็นเรื่องเป็นราวครับ

            Isolate transformers By HiFi 99 นั้น มีขนาดเขื่องมากครับ หุ้มห่อภายนอกอย่างพิสดารด้วยแผ่นอะคริลิค เจาะช่องระบายความร้อน ดูเหมือนช่องรวงผึ้ง ภายในที่เห็นคือหม้อแปลงขดใหญ่ แบบ C-Core ที่ใช้แผ่นทองแดงแบบแบนชนิดพิเศษ และแกนเหล็กของญี่ปุ่น

            ส่วนสายไฟที่ใช้เดินในระบบเป็นสายทองแดงแกนเดี่ยวขนาด 4 mm. เจาะต่อท้ายอินเล็ต (iac) เป็นของฟูลูเทค ปลั๊กเต้ารับใช้ Coppfer ของ USA. มีสวิตช์เปิดปิดระบบไฟ ของMitsubishi  นอกจากหม้อแปลงไฟขนาดยักษ์ ก็ยังมีวงจรป้องกันคลื่น RFI. EFI มาในตัวด้วย

ทดสอบ

            Isolate transformers By HiFi 99 ดูแปลกตาดี ความใสโปร่งเห็นถึงสภาพภายใน หรือเครื่องในทั้งหมดอย่างเปิดเผยไม่มีอะไรที่ปิดบังซ่อนเร้น งานพันหม้อแปลง ทราบว่ากำหนด สเป็ก และให้โรงงานมาตรฐานแห่งหนึ่งผลิตให้ องค์ประกอบรวมทั้งเต้าเสียบปลั๊กไฟที่ดีเยี่ยมแข็งแรง งานประกอบสวยงามดี

            ผมต่อระบบเครื่องเสียงทั้งหมดผ่าน Isolate transformers ชุดนี้ แล้วเหมือนเรา เปิดใช้งานเครื่องเสียงกันใหม่ทั้งหมดโดยคิดง่ายๆ ว่า ขณะนี้เรากำลังใช้ไฟที่ผ่านจาก transformers ชุดนี้ออกมาแทนที่จะเป็นการเสียบปลั๊กรางไฟตรงเข้ากับปลั๊กไฟบ้าน

             พูดให้ง่ายเข้าก็คือนำไฟบ้าน 220 โวลต์ มาจัดการเสมือนเป็นโรงไฟฟ้าย่อยให้กับระบบเครื่องเสียงของเรานั่นเอง

            แล้วเป็นอย่างไรหรือ กับบทสรุป?

            ตรงนี้มีความน่าสนใจไม่น้อยนะครับ เพราะว่าการที่เราใช้ไอโซเลท ทรานสฟอร์เมอร์ เป็นแหล่งกำเนิดไฟให้กับเครื่องเสียงทั้งชุด นั่นก็หมายความว่าหม้อแปลงเหล่านี้ จะต้องจ่ายไฟทั้งในยามปกติ และยามสะวิงให้ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะไฟจากเมนไฟของบ้านจะถูกนำมาจ่ายผ่าน Isolate Transformer ตัวนี้

            สำหรับเครื่องเสียงหนึ่งชุดหลักที่ผมใช้ทดสอบ คือ Sugden IA4 Class A Amplifier เครื่องเล่นซีดี Krell KAV 250 CD และ ลำโพง Harbeth P3ESR สลับกับ  Monitor 30.2  กับการจ่ายไฟมากถึง 3 KVA บอกได้ว่าเกินพอ ครับ เพราะพิเคราะห์ได้จาก อัตรากินกำลังไฟเครื่องในชุดทั้งหมด หรือ power consumption รวมกันยังไม่ถึงแค่หนึ่งในสี่เท่านั้นเอง ถ้าใครใช้ระบบใหญ่กว่านี้ จะมีอีกรุ่นหนึ่งคือขนาด 10,000 วัตต์ ครับ

            หากเป็นไปได้ เสียบต่อเครื่องแล้วให้หลับตาลงนั่งฟัง หมายถึงว่า อย่าไปสนใจว่าเราเปลี่ยนอะไรในระบบ ก็แค่ฟังเฉยๆ ครับ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการใช้ไอโซเลท ทรานสฟอร์มเมอร์ชุดนี้มันให้อะไรกับเครื่องเสียง เราจะรู้สึกแค่ไหน หู สามารถประเมินได้

            ผ่านสี่ห้านาทีแรกไป พอระบบหม้อแปลงรัน จนนิ่งคงที่ สิ่งที่ฟังได้ชัดเจนที่สุดคือ คุณจะได้ความไหลลื่นของดนตรีครับ สวยงามดีกว่าที่เคยฟังแค่อัลบั้มแรก แทร็คแรก ก็ฟังออกเลยครับ

            สิ่งที่ได้มาอย่างสะอาดสะอ้าน คือช่องไฟของดนตรี  ซึ่งโดดเด่นมากขึ้น หัวโน้ตต่างๆ ดูคมชัดสวยงาม ผู้ฟังที่มีประสบการณ์ไม่มาก อย่างน้อยจะได้ยินรายละเอียดเสียงดีขึ้นอย่างมากทีเดียว การจ่ายไฟอันบริสุทธิ์และนิ่งเช่นนี้  รวมทั้งการลด Noise ที่รบกวนมากับระบบไลน์ไฟ ก่อนส่งต่อให้หม้อแปลง ลดการรบกวนได้เฉียบขาดดี

            ถือว่าทำได้ในระดับที่น่าพอใจมาก!

            ถ้าถามความรู้สึกรวมๆ คือเป็นการอัพเกรดเครื่องเสียงโดยไม่ต้องไปแตะต้องอะไรเลยแม้แต่น้อย แค่เปลี่ยนแหล่งจ่ายไฟใหม่ มาจาก Isolate transformers By HiFi 99 เท่านั้นเอง เสียงบุคลิกดั้งเดิมของชุดเครื่องเสียงไม่ได้แปรเปลี่ยนไป

            แต่รายละเอียดเสียง เวทีเสียง ความสะอาดนั้นก็ต้องเรียกว่าเหมือนหนังคนละม้วน

            สรุปให้เข้าใจง่าย กันไปเลยครับว่า สิ่งที่ได้จาก Isolate transformers คือ รายละเอียดเสียงในช่วงแผ่วเบา จะสะอาดฟังแบบลงลึกมากขึ้น ที่ความดังที่มีอัตราสะวิงสูงๆ เสียงจะยังคงนิ่ง ให้ความเปิดกว้างเวทีเสียง และคืนมาซึ่งความคมชัดหัวโน้ตดนตรี และเสียงร้อง Clear ให้เนื้อเสียงเข้มข้นมากกว่าเดิมครับ

ด้วยสนนราคา เจ้า Isolate transformers ชุดนี้ อยู่ที่สี่หมื่นกว่าบาท

ของมันต้องลอง ถึงจะรู้ ว่าดีแค่ไหน คุ้มจริงหรือไม่

เพราะ “รู้สิ่งใดไม่สู้รู้จากการฟังด้วยตัวของคุณเอง” จริงๆ ครับ

หมายเหตุ สนใจ สอบถามจากเพจ HiFi 99 Thailand ได้เลยครับ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here