ข้ามเวลามาหากัน : ความเป็นมาอัลบั้มสุดยอดแห่งปี ตอนที่ 3 หนึ่งศิลปิน หนึ่งอัลบั้ม สี่โปรดิวเซอร์!  โดย วิจิตร บุญชู

          ทำไมเป็นเช่นนั้น? เพราะตามปกติแล้ว การรังสรรค์เพลงขึ้นมาหนึ่งอัลบั้ม ยังไม่เคยมีใครแหวกแนว หรือมีความตั้งใจมาแต่เริ่มต้นว่า นอกจากคัดเลือกเพลงที่ดีที่สุดแล้ว ยังจะต้องเลือกโปรดิวเซอร์มาทำงานเพลง เรียบเรียงดนตรี ควบคุมการบันทึกเสียงให้ได้ความเหมาะสมถึง 4 ท่านด้วยกันแบบนี้

          แต่สำหรับอัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” คัดเลือก ซื้อลิขสิทธิ์เพลงมานับสิบเพลง ให้ศิลปินเพียงท่านเดียวขับร้อง  มีโปรดิวเซอร์เก่งๆ เพียงท่านเดียวก็น่าจะโอเคแล้ว แต่ คุณกิติพงษ์ กุลไพศาลธรรม แห่งเปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า กลับมองภาพก่อนล่วงหน้าด้วยความคิดอันแยบยล

           เพลงทุกเพลงที่คัดเลือกมา แม้จะเป็นเพชรน้ำเอกของวงการเพลงไทยที่เป็นอมตะยืนยงมายาวนาน แต่ก็มีความแตกต่างกันในรสชาติของดนตรี เนื้อหาในถ้อยร้อยวจี กวีศิลป์ ของครูเพลงแต่ละท่านนั้น ล้วนมีบุคลิกเฉพาะตัว

           ความคิดก็คือ หากคัดเลือกโปรดิวเซอร์มือทองของไทย ที่เหมาะสมกับเพลงแต่ละบทเพลง ที่ท่านเหล่านั้น เชี่ยวชาญ หรือเป็นเอตทัคคะเฉพาะด้านมาเป็นผู้เรียบเรียง และควบคุมการบันทึกเสียง เพลงในอัลบั้มนี้จะยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นไปอีกสักเพียงไหน เป็นกำไรของผู้ฟังอย่างแท้จริง

            หนึ่งศิลปิน หนึ่งอัลบั้ม สี่โปรดิวเซอร์!

            เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า จึงวางแผนงาน ด้วยการจัดเพลงมอบให้โปรดิวเซอร์แต่ละท่าน อเร้นจ์ดนตรี ในแต่ละแนวทาง เพื่อให้รสชาติดนตรีมีความงดงามหลากหลาย

            โดยคุณอภิสิทธิ์ วงศ์โชติ (แจ็ค) จะเป็นผู้รับผิดชอบการทำเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้ม ซึ่งจะคอนดักต์วงออเคสตร้าด้วยตนเอง โดยเพลงจะเป็นแนวคลาสสิค-ร่วมสมัย มุ่งเน้นการบันทึกเสียงจากเครื่องดนตรีสด เพื่อถ่ายทอดความละเมียดละไมจากการบรรเลงโดยนักดนตรีที่คัดสรรมาเป็นพิเศษสำหรับแต่ละบทเพลง

            คุณจักรวาร เสาธงยุติธรรม (หนึ่งจักรวาล)  จะทำดนตรีออกมาในแนวร่วมสมัย เพื่อให้บทเพลงบางเพลง สวยงาม รังสรรค์ความมีชีวิตชีวา เหมาะกับแนวทางดนตรียุคใหม่

            คุณจู๊ด วงเยื่อไม้ (ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์) ทำดนตรีในเพลงแนวสุนทราภรณ์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และได้รับความเชื่อมั่นจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ว่าจะคงเนื้อหาความเดิมของสุนทราภรณ์เอาไว้อย่างดียิ่ง

            คุณบรรณ สุวรรณโณชิน (บรรณ ใบชา) จะให้รับผิดชอบ การบันทึกเพลงที่เป็นแบบอนาล็อก และแบบ 2 แชนแนล แบบออดิโอไฟล์ เพื่อแสดงศักยภาพ อันละเอียดอ่อนของผู้ฟังในระดับที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ชัดเจนในแบบนักเล่นเครื่องเสียง

           ต้องบอกว่า การทุ่มเท ทุ่มแรงกายแรงใจครั้งนี้ มีทั้งจุดดีและจุดเสี่ยงครับ จึงต้องทำงานทุกขั้นตอนอย่างละเอียด ประณีตที่สุด

            เปรียบเสมือนเราได้เชิญศิลปิน กัน นภัทร นักร้องเสียงไพเราะผู้ขับร้องเพลงอมตะได้อย่างยอดเยี่ยม มาร้องเพลงในคอนเสิร์ตฮอลล์ โดยมีวงดนตรีแบ็คอัพ สลับกันถึงสี่วง ตามบุคลิกของอารมณ์เพลงที่แตกต่างไปจากกัน!

            ซึ่งทุกเพลงล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น การเลือกงานเพลงที่เหมาะสมกับโปรดิวเซอร์ เป็นการช่วยขับเอาความโดดเด่นในบทเพลงออกมาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด อย่างไม่เคยมีมาก่อน

           อย่างที่เรียนไว้ตอนต้นว่า ในหนึ่งอัลบั้ม หนึ่งศิลปิน มีโปรดิวเซอร์แยกกันทำงาน ถึงสี่ท่าน แต่เราก็จะต้องนำผลงานเพลงทั้งหมดมารวมอยู่ในอัลบั้มเพียงหนึ่งเดียว

            จุดที่ดีคือจะได้รสชาติดนตรีที่ดีที่สุดแตกต่างกันไปตามแนวทางของโปรดิวเซอร์ แต่จุดที่ต้องระวังก็มีเช่นกัน

           คือเพลงทั้งอัลบั้ม จะทำการจัดลำดับร้อยเรียงกันอย่างไร จึงจะผสานผสมกลมกลืนต่อเนื่องได้เป็นหนึ่งเดียว ในแง่ของอัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” ที่สรรค์สร้างเพลงอมตะให้มีคุณค่า เป็นที่ติดตาตรึงใจชั่วกาลนาน

            ทีมงานเปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า ได้วางแผนเอาไว้อย่างรอบคอบรัดกุม นั่นคือ  จะให้ทุกอย่างประณีตจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ในการทำ Mastering

            กล่าวโดยรวบรัด กระบวนการบันทึกเสียงนั้น เริ่มจากการเรียบเรียงดนตรี การบันทึกดนตรีสดพร้อมกันทั้งวง การบันทึกเสียงร้องแยกแทร็ก และการรวมเสียงร้องและดนตรีมามิกซ์ดาวน์ ให้ได้ความสมบูรณ์ แยกกันไปแต่ละผลงานของโปรดิวเซอร์       

            ขั้นตอนสุดท้ายคือ การมาสเตอริ่ง ทำให้เพลงทุกเพลงมาร้อยเรียง จัดลำดับ ปรับแต่งให้กลมกลืนกันอย่างสมบูรณ์

            Mastering นั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนเพลงจะถูกบันทึกเป็นไฟล์เพลง นำไปบันทึกเป็นแผ่นซีดี แผ่นเสียง

           มาสเตอริ่งซาวนด์เอนจิเนียร์ จะทำการปรับแต่งระดับเสียงความดัง-เบา โทนเสียงแหลม-ทุ้ม มิติเสียงความลึก ความกว้างเวทีเสียงด้วย

ดังนั้น เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า จะทำการเลือกผู้ที่มาทำหน้ามาสเตอริ่ง ที่เชี่ยวชาญระดับสุดยอดของเมืองไทย มาทำหน้าที่นี้

            ซึ่งครั้งต่อไป ผมจะมาเล่าถึงกระบวนการนี้ ว่ามาสเตอริ่งเอนจิเนียร์เขาทำอย่างไร เพื่อให้ทุกเพลงมีความยอดเยี่ยม สมกับเป็นผลงานระดับ “มาสเตอร์พีซ”

           เชื่อมั่นได้เลยว่า ความประณีตละเอียดพิถีพิถันของอัลบั้ม “ข้ามเวลามาหากัน” จะเป็นอีกอัลบั้มหนึ่งซึ่งมิตรรักนักเพลงทั้งหลาย จะต้องเก็บสะสมเอาไว้ฟัง และเป็นสมบัติทางดนตรีมอบแด่คนรุ่นต่อๆ ไป ให้ได้รับความทราบซึ่งประทับใจชั่วกาลนาน

#ช่วยสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้อัลบั้มนี้ด้วยนะครับ

#เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า

#ข้ามเวลามาหากัน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here