LFD Audio NCSE Signature

งานศิลปกรรมแอมปลิไฟร์ ที่ไร้ขอบเขต

            สำหรับการได้ทดสอบฟังอินทิเกรเต็ดแอมป์ LFD ช่างเป็นช่วงเวลาที่แปลก ช่วงแรกๆ ดูพิลึกกึกกือเอาเสียด้วยซ้ำ เป็นผลงานที่ดูไม่น่าสนใจอะไรเอาเสียเลย จากภายนอกมองๆ แล้วจับไปวางเทียบเคียงแอมป์ถูกๆ บ้านหม้อ มันช่างเข้าพวกเสียจริงๆ พับผ่า!!!

            แต่พอต่อไฟเข้าเครื่อง เท่านั้นละ ผมอดร้องในใจไม่ได้ นี่เราประสาทฟั่นเฟือน หรือว่า LFD มันให้เสียงสวยงามไหลลื่นราวน้ำไหล อย่างนี้จริงๆ

            ที่สุดยอมรับครับ โดยเฉพาะตอนที่ได้รับ LFD Audio NCSE Signature มาจาก Sound Box ผมฟังกันชนิดงงงันสงสัย ในเบื้องต้น ชื่นชมในเบื้องกลาง พอลองแกะภายในเครื่องดู เห็นเครื่องในก็หงายผลึ่ง มันใช้อุปกรณ์น้อยชิ้นขนาดนี้ เสียงดีไฮเอ็นด์ขนาดนี้ได้ไง (วะ!!)

            ฟังนานเท่าไร เราก็เข้าใกล้อารมณ์ดนตรีมากขึ้นเท่านั้น ผมขอย้ำนะครับว่า “อารมณ์ดนตรี” ที่ไม่เคยได้เจอะเจอจากเครื่องที่มีเครื่องในแน่นเอี๊ยดหลายเชิงชั้น เค้าคิด เค้าทำได้ยังไง ตอบแบบ ไม่รู้จริงๆ ว่า …ไม่รู้

            แอมป์อะไรที่บอก หรือไม่บอกกำลังขับก็เท่านั้น แต่สามารถขับลำโพงที่ผมมีได้ทุกคู่แบบสบายๆ อย่าไปถามหาสเป็คฯ เดี๋ยวคนออกแบบจะมาย้อนว่า รู้ไปทำซากอะไร? คุณชอบไม่ชอบ ก็แค่นั้น

            ผมว่าตอนที่ผมถามเจ้าของบริษัท คนออกแบบคนแรกของแอมป์ Exposure สมัยโน้นว่า คลาสสิกแล้วนะ ที่ว่า “ทำไมปล่อยให้กดปุ่ม Power แล้วเสียงดังปุ! “แกตอบแบบยียวน ย้อนถามว่า แล้วคุณใช้รถยนต์ สตาร์ทตอนแรกดังไหม เอ้อ .. ใช่ รับคำตอบมาแล้ว …ไปไม่เป็นครับ

            LFD Audio ก็คงไม่ต่าง อาจจะหนักข้อกว่าด้วยซ้ำ คือมีเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ตจริง แต่ ก็เพียงเพื่อให้รู้ว่ามีตัวมีตนของบริษัทแค่นั้นไม่ต้องส่งจดหมายอีเมล์ไปสอบถามรายละเอียดอะไรเพราะจะไม่มีการตอบ

            แอมป์ LFD จึงติดต่อผ่านตัวแทนจำหน่ายแต่ละประเทศได้เท่านั้นครับ

            ผมเข้าใจว่าอีตาคนออกแบบ กับทีมของเค้าคงไม่ค่อยอยากยุ่งกับสังคมภายนอกนักเท่าไหร่ มีความตั้งใจมุ่งมั่นทำแอมปลิไฟร์เสียงยอดเยี่ยมให้มันมีคุณภาพมากขึ้นทุกวันๆ โดยกระโดดออกจากกรอบเดิมๆ หรือจะเรียกว่าแอมป์ “นอกคอก” ก็คงจะได้

            เท่าที่จะพอค้นหาข้อมูลมาได้ สุภาพบุรุษผู้ดีชาวอังกฤษผู้ที่ออกแบบ แอมป์ LFD Audio คือ ดร.ริชาร์ด บิวส์ ซึ่งจบการศึกษาจาก Essex University ด้านการออกแบบ Audio โดยตรง บริษัท LFD ก่อตั้งเมื่อปี 1987 โดยได้รับความร่วมมือจากปรมาจารย์อีกท่านหนึ่งคือศาสตราจารย์ Malcolm Halksford เริ่มวิจัยและผลิตด้านออดิโอ โดยลงลึกไปในหัวใจการไวร์ ริ่งระหว่างอุปกรณ์เป็นหลัก

            นั่นคือได้นำไปสู่การผลิตสายเคเบิลที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ และมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งใช้ภายในผลิตภัณฑ์เครื่องขยายสัญญาณของบริษัท

            LFD Audio ทุกรุ่นทุกเครื่องทั้งหมด สร้างขึ้นด้วยมือโดยใช้สายเชื่อมต่อด้วยตัวนำที่คัดเลือกมาเองทั้งสิ้น และ LFD ยังคัดเลือกส่วนประกอบทุกชิ้นในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดอย่างรอบคอบพิถีพิถัน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ตัวต้านทาน ตัวเก็บประจุ เซมิคอนดักเตอร์ สายไฟ และสายเคเบิลแต่ละตัวถูกเลือกเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่านั้น

            งานของ LFD Audio เป็นงานศิลปะเฉพาะตัว ไม่สามารถเอาไปเทียบเคียงกับใครได้

            ใช่ครับ ฟังที่ไร เสียงของมัน เป็นคำจำกัดความว่า “เสียงดี” ได้เลย อย่าไปหาเหตุผลอะไรทางกายภาพ และคอสเมติคภายนอก หรือถ้าจะซื้อแอมป์แบบนับตัวอุปกรณ์เยอะๆ ก็ไม่ต้องเสียเวลามาฟัง LFD Audio จะสบายใจกว่า

           ผมเคยบอกคุณโจ้ ว่า แอมป์แหกคอกแบบนี้ คนเล่นมือใหม่ และคนยึดติดรูปลักษณ์ เค้าไม่เอาด้วยละ ต้องคนที่ฟังเครื่องเสียงและดนตรี มาครึ่งค่อนชีวิต และสำเร็จในระดับ “ปล่อยวาง” ได้ทุกเรื่องราว แบบสำเร็จอรหัตตผล ละมัง เค้าถึงจะเล่น LFD นี้ได้ ไม่งั้นเปิดฝาเครื่อง ทำใจลำบากแท้

            เมื่อศึกษา คลำทางเอาเอง สำหรับ คำว่า NCSE ย่อมาจาก New Chassis Special Edition 

            ก็แสดงว่า นอกจากวงจรขยายแล้ว ตัวถังที่ออกแบบมาแบบไร้เสียงก้องสะท้อนนี้ เป็นเคล็ดลับของเขาอย่างแน่นอน คือเล่นจูนอัพทั้งตัวถัง มาผสานกับวงจรภายในให้เป็นหนึ่งเดียว และใช้สายไวริ่งภายในเป็นของ LFD Audio เองทั้งหมดด้วย

            (สาย LFD ถือเป็นสายสัญญาณไฮเอ็นด์ที่แพงในระดับโลก)

            ผมพิเคราะห์วงจร แผ่น PCB อันนี้ ก็น่าจะกัดแผ่นพริ้นท์เอง อะไรๆ ที่ดูเรียบง่ายนั้น ได้ซ่อนความลับอย่างมากมาย คนเล่นเครื่องเสียงที่ชอบต่อเครื่องเล่นเอง เห็นภาพเครื่องใน หัวเราะดิ้น แล้วก็ลองไปทำเลียนแบบ เพราะมันน่าจะง่ายแสนง่าย มิใช่หรือ

            ทว่าเอาเข้าจริงๆ หงายเก๋งกันเป็นแถว เสียงไม่ได้ติดฝุ่น

            อะไรๆ ที่เห็นอยู่ เหมือนดังเส้นผมบังภูเขาเลยจริงๆ อันนี้ยอมใจเขาเลยครับว่า ทำแอมป์ที่เรียบ เบสิก ได้เสียงดีขนาดนี้พ่อเจ้าประคุณ ต้องผ่านวงจรขยายแบบซับซ้อนหลายเชิงชั้นมาจนโยนทิ้งไปจากสมองหมดสิ้นแล้ว จึงมาทางสายโปร่ง เรียบ สะอาด และยิ่งใหญ่ในคุณภาพเสียงได้ เป็นการเฉพาะตัว (ห้ามลอกเลียนแบบ)

            และงานระดับ LFD Audio นี้ ผมอยากเปรียบเทียบว่า

            เมื่อคนเราต้องการเห็นภาพเป็นธรรมชาติดุจที่สายตามองเห็น  มีสองวิธีคือ คิดค้นอุปกรณ์ถ่ายภาพ เลนส์ ให้ดีที่สุด พัฒนากันมานับร้อยๆ ปี จนทำให้คนเราได้ถ่ายภาพดิจิตอล กันทั้งรายละเอียดและสีสันเสมือนจริงมากในปัจจุบัน

            แต่อีกวิธีหนึ่งคือ ศิลปินผู้ชำนาญการวาดภาพ มีจินตนาการสุดเพริศแพร้ว วาดภาพธรรมชาติ โดยอาศัยแม่สี สามสีผสมกันไปมา วาดลงบนเฟรมแบบเรียบง่าย แต่ประณีตสุดขีดด้วยไอเดีย

            ดังนั้นก็คล้ายดัง LFD Audio พยายามทำอยู่ในปัจจุบัน

            ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เป็นแค่ภาพเขียนที่ แสง สี มุมมอง รายละเอียดสวยงาม เป็นงานศิลปะ ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ทุกอย่างแฮนด์เมด ไม่มีระบบกลไกซับซ้อน ไม่ต้องมีโปรแกรมปรับภาพ ไม่ต้องเลือกเลนส์หลายระยะ แต่วาดเอาไง‼️

            ใครที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีความรู้อย่างขีดสุด และรู้ว่าศิลปะแห่งเสียงดนตรีคืออะไร ทางลัดสั้นที่สุดคืออะไร

            นั่นเป็นเพียงแง่คิดของผมเท่านั้น

            ผู้ออกแบบเครื่องเสียงในโลกใบนี้ ทุกรายเขาย่อมมีวิถีทางเป็นของตัวเอง และทุกรายก็สามารถมอบความสำเร็จมาสู่ผู้ฟังได้เช่นกัน

            เพียงแต่วิธีของ LFD Audio อาจจะเป็นวิถีทางที่ต่างออกไป จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่าแอมป์ทุกรุ่นขายได้ด้วยการบอกต่อๆ กัน และการได้ฟังของจริงมากกว่า การตลาดหรือคำเล่าขานจากนักวิจารณ์ คนหนึ่งคนใดบนโลกใบนี้

            ก็ขนาดมีเว็บไซต์บริษัท ยังไม่ออกมาติดต่อโลกภายนอกเลย อะไรจะขนาดนั้น ท่านศิลปิน‼️

            ดังนั้นผมคงไม่มีอะไรวิพากษ์วิจารณ์มากนัก เอาเป็นว่า คุณอยากลองฟัง ไปลองด้วยตนเองดีกว่า

            อันที่จริงก่อนที่ผมจะมาถึงบทสรุป การทดสอบที่ไม่เหมือนการทดสอบครั้งนี้ อยากให้ท่านลองไปย้อนทวนต้นอ่านบททดสอบ LFD Audio รุ่น NCSE HR ที่

            แล้วมาต่อบทสรุปที่ว่า LFD เขาพัฒนาขึ้นมาจากรุ่น NCSE HR มาเป็นรุ่นนี้ คือ LFD Audio NCSE Signature เราได้อะไรเพิ่มขึ้นจากราคาสยิวใจ 349,000.- บาท มาเป็น 390,000.- บาท!

            ดังที่เรียนว่า กำลังขับมันจะเท่าไรไม่สำคัญ แต่สำหรับ LFD Audio NCSE Signature ยังคงมีพลังขับเท่าที่สเป็คฯ คร่าวๆ แจ้งไว้ประมาณ 70 วัตต์ต่อแชนแนล แต่ ผู้ออกแบบเขาทำการโมดิฟายภาคจ่ายไฟใหม่ทั้งหมด ให้ทรงพลังมากยิ่งขึ้น จัดระบบไวริ่งสาย และเคล็ดลับที่ไม่เปิดเผยในการจัดการกับกระแส ทำให้ขับเสียงลำโพงคู่ใหญ่ๆ ท่วมบ้านได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำในสิ่งที่ LFD Audio NCSE HR อาจจะยังไปไม่ถึงขนาดนี้

            ถ้าถามว่าผมชอบอะไรมากที่สุดใน LFD Audio NCSE Signature และรุ่นอื่นๆ ที่อยากจารึกไว้ก็คือ

            LFD Audio ให้เสียงที่สะอาดเกลี้ยงเกลา ไหลลื่นราวสายน้ำ ถ่ายทอดเสียงดนตรีละเมียดละไมครบถ้วน แม้แต่สัญญาณละเอียดยิบย่อยชนิดที่เราจะไม่เคยได้ยินจากแอมปลิไฟร์ขยายอื่นใดมาก่อน และฮาร์โมนิคสวยงามเป็นที่สุด     

            LFD Audio NCSE Signature อัพเกรดมาเพื่อให้สมบูรณ์ที่สุด เราจะได้พลังลึกเร้นของไฮเอ็นด์ออดิโอที่เดินเข้าไปเฉียดเกือบใกล้ รุ่น Top ที่สุดของเขาคือ LFD Audio LPCD DM ได้อย่างงดงาม เป็นผลงานออกแนวศิลปะการขยายสัญญาณเสียงขั้นสูง แบบหลุดโลกของ Dr. Richard Bews

            ในโลกใบนี้ ยังมีแอมปลิไฟร์แบบ LFD Audio NCSE Signature อยู่อีกด้วยหรือนี่ คุณอย่าเพิ่งคล้อยตามสิ่งที่ผมบรรยาย อยากให้ฟังด้วยตนเองดีกว่า เพราะนี่ไม่ใช่คำเชิญชวน เมื่อเราพบสิ่งที่น่าทึ่ง เหลือเชื่อก็เป็นเรื่องที่เราทั้งหลายจะพึ่งทดสอบทดลองด้วยตนเองแล้วถึงค่อยลงความเห็นว่าจะรับไว้ใน “อ้อมใจ” หรือจะวางเฉยต่อมัน นั่นก็แล้วแต่ว่า หูของคุณได้บอก อะไรกับคุณนั่นเอง

            คุณภาพเสียงของ LFD Audio NCSE Signature อีกระดับหนึ่งของแอมปลิไฟร์ ซึ่งอธิบายได้ด้วยคำสั้นๆ ประโยคเดียว “ดีเยี่ยม” ไม่รู้จะเสริมเติมแต่งอะไร ทุกสำเนียง เข้าถึงความลึกซึ้งใน “อารมณ์ดนตรี” ชนิดถอนใจไม่ขึ้น ใช่ ผมอยากเรียกว่า นี่คืองานศิลปกรรมแอมปลิไฟร์ ที่ไร้ขอบเขตอย่างแท้จริง‼️

ทดลองฟัง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่

 Sound Box อาคารศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ชั้น 3  โทร.02 642 1448

คุณธงชัย : 092-890-4660 , Line ID : tsoundbox

Facebook เพจ : https://www.facebook.com/soundboxthailand/?ref=bookmarks

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here