LFD Audio NCSE HR

0
5319

LFD Audio NCSE HR

ดีไซน์เครื่องเสียงแนวอาร์ต

รักแรกจบ…มิใช่รักแรกพบ!!!

            การออกแบบเครื่องเสียง มีทฤษฎีที่ยึดถือกันมานาน การพลิกแพลงใดๆ มักจะอยู่ในกรอบเดิมๆ เสมอมา แนวทางวนเวียนไป กลับไปกลับมาเหมือนดังว่า ไม่มีอะไรพิสดาร อีกต่อไป โดยเฉพาะแอมป์ระดับไฮเอนด์นั้น ต่างก็พัฒนากันมาหลายสิบปี จนถึงสุดยอดของแนวและวิถีทางของมันแล้ว

            อันวงจรขยายความถี่เสียง หรือ  Audio amplifier ว่าไปแล้ว คือวงจร ที่มีหน้าที่ขยายแรงดันในส่วนเพาเวอร์แอมปลิไฟร์เออร์ (Power amplifier) นำสัญญาณที่ผ่านมา ที่มีขนาดเล็ก มาขยายสเกล ให้ใหญ่ขึ้น (Large-signal amplifier)

            หลักๆ ก็เป็นเพียงแต่ขยายสัญญาณเอาต์พุตให้มีกำลังตกคร่อมโหลด อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง มั่นคงนั่นเอง

            รูปแบบวงจรที่เห็นชัด คือระบบการไบอัสกระแส ให้อุปกรณ์ หลอด หรือโซลิดสเตททำหน้าที่ส่งผ่านกระแสในแบบวงจรขยายกำลัง คลาส A, คลาส B, คลาส AB, คลาส D เป็นต้น

            พัฒนากันไป คำนึงถึงประสิทธิภาพ ที่ได้จากวงจรนั้นๆ บางแนวทางออกแบบยิ่งผ่านไป วงจรก็ยิ่งมุ่งไปสู่ความซับซ้อนหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวคิดของผู้พัฒนา

            หากย้อนคืนไป คิดในแบบ เบสิก

            บางครั้งเราลืมไปว่า บางวงจรมันช่างรกรุงรังเกินจำเป็นหรือไม่

            วงจร ยิ่งมีอุปกรณ์มาก ก็ยิ่งซับซ้อน เมื่อมีความซับซ้อน ก็ยิ่งต้องมีความผิดพลาดเบี่ยงเบนมากขึ้น

            เมื่อผิดพลาดมากขึ้น ก็ต้องวาง “กับดัก วงจร”  ให้มีการปรับแก้ไขมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

           ความเที่ยงตรงบริสุทธิ์ ของสัญญาณ ตามความตั้งใจแต่เดิมนั้น เมื่อต้องผ่านความซับซ้อนมากมายตามเส้นทางขยาย มันยัง Clean จริงหรือไม่?    

            มันถูกปรุง จนเราเข้าใจผิดว่า มันคือความถูกต้องหรือเปล่า? ก็ไม่อาจทราบได้

            บางครั้งนักออกแบบยึดตามกรอบของการออกแบบวิศวกรรม ที่เคยชินกันมานาน จนอาจลืมไปว่า ทุกสรรพสิ่งนั้นเกิดจาก เบสิก

            หลักของเครื่องขยายเสียง มีหนึ่งเดียว นั่นคือขยายสัญญาณที่มีขนาดเล็กให้มีสเกลใหญ่ขึ้น โดยคงรูปเดิมไว้อย่างบริสุทธิ์โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

           หลายปีมาแล้ว ที่ LFD Audio กำเนิดขึ้นอย่างเงียบๆ และใช้หลัก ย้อนกลับไปสู่ความเรียบง่ายอย่างมีชั้นเชิง แอมป์ที่ออกแบบโดยหนีออกจากกรอบกำหนด และลดชิ้นส่วนอุปกรณ์ ให้เหลือน้อยที่สุด ในขณะที่องค์ประกอบทั้งหมดให้ถือเป็น “หน่วยเดียว” หรือเอกะ นับตั้งแต่ตัวถังเครื่อง ลงไปถึงวงจร

            นักออกแบบ LFD Audio ที่ต้องเป็น เอตทัคคะ พิเศษเฉพาะตน และหลุดพ้นจากกรอบการออกแบบเครื่องเสียงดั้งเดิมทั้งสิ้นทั้งปวงจริงๆ หาวิธีจัดการแบบ back to the basic ทุกองคาพยพ คือ natural sound

           LFD Audio NCSE HR เป็นอินทีเกรเต็ดแอมป์ที่เรียบง่าย ทุกอย่างเป็นงานออกแบบเบสิกที่มีนัยยะสำคัญทั้งสิ้น ตัวถังเครื่องที่จูนอัพให้ลงตัวกับวงจรขยายและภาคจ่ายไฟ การเคลือบสี การแดมปิ้งโครงตัวถังแผ่นหลัง แผ่นด้านใต้ ด้านข้าง ด้านหน้า ไม่มีเสียงก้องสะท้อนของโลหะใดๆ ใช้มือเคาะลงไป เหมือนเรากำลังเคาะผืนกระดาษ มิใช่โลหะ 

            มีปุ่มโวลุ่มปรับระดับเสียง และ ซีเล็คเตอร์ เลือกอินพุต พร้อมสวิตช์ ตัวเลือกสวิตช์สลับแบบธรรมดาทำหน้าที่เป็นปุ่มเปิดปิด และมีไฟ LED ขนาดเล็กมากเพียงดวงเดียวบนแผงหน้าปัด ที่แจ้งให้คุณทราบว่า NCSE เปิดใช้งานอยู่

            อินพุตด้านหลัง มีเพียง RCA ไม่มีช่อง Balanced ไม่มีโฟโนสเตจ เล่นได้เฉพาะภาคไลน์ หากต้องการเสริมภาคขยายหัวเข็มแผ่นเสียงต้องสั่งต่างหาก

            LFD NCSE HR เป็นเครื่องขยายเสียงแบบบูรณาการ มันเรียบๆ มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว และเจียมเนื้อเจียมตัวในทุกด้าน ยกเว้นคุณภาพเสียงที่ ทำให้เราตะลึงพรึงเพริด!!!

            การออกแบบที่เสมือกับ การศึกษาธรรมในลัทธิ ลัดสั้น ฉับพลัน หรือ เซน (ZEN) ในความมุ่งมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวคือ เสียงดนตรี ที่บริสุทธิ์  รูปทรง รูปแบบ ตราโลโก้สินค้าอาจเป็นเรื่องที่ล้าสมัยหรือแปลความหมายไม่ออกสำหรับบางคนที่ตั้งใจมองเห็นเฉพาะภายนอก

           แต่สิ่งสำคัญสำหรับพวกเราคนที่รักเสียงเพลงทั้งหลาย ที่สุดของความจริงแท้ คือ “คุณภาพเสียงแท้ๆ ไม่ใช่ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฮไฟ และไม่ใช่เครื่องสำอางฟุ่มเฟือย”

            เรารู้แต่เพียงว่า LFD NCSE HR มีกำลังขับประมาณ 70 วัตต์ RMS ในมาตรฐานสากล เท่านั้นเอง และความหมายในชื่อรุ่น NCSE น่าจะย่อมาจาก New Chassis, Special Edition แค่นั้นเอง รายละเอียดวิธีการออกแบบ จูนอัพต่างๆ ในวงจร เขาไม่มีคำอธิบายอะไรแม้แต่นิดเดียว

            ถ้าหากเป็นเพื่อน เป็นสหายกัน พูดแบบกันเอง เหมือนจะท้าทายเราว่า อยากฟังเสียงไม่ใช่เหรอ เธอก็ฟังสิ ไม่ใช่มาถามเรื่องการออกแบบบ้าบอไร้สาระ (555) มันก็จริงแฮะ ซื้อเครื่องเสียงมาฟัง ไม่ได้ซื้อมานับอุปกรณ์ชิ้นส่วน และซื้อมาฟังเสียง ไม่ได้ซื้อมาเพื่อมาดูรูปร่างหน้าตาว่าสวยเหมือนนางงามหรือเปล่า

            ทีมออกแบบแฮนด์เมด ที่เปรียบเสมือนอาร์ตติส จากอังกฤษ ที่ไม่ค่อยเปิดเผยตัว และยอมสนทนากับผู้คน อย่าง Omar Hawksford และ Richard Bews คงพยักหน้า แค่เชื้อเชิญให้ ฟังเสียงอย่างเดียวจากแอมป์ที่เขาทำด้วยมือ เน้นการ ไวริ่งสายทุกขั้นตอน (ใช้สายของ LFD เองที่ขึ้นชื่อว่าแพงที่สุดของโลก) นี้ว่า คุณชอบมันหรือเปล่าล่ะ?

            ใช่เลย พอเปิดฝาหลังเครื่อง ลงไปเห็นวงจร เราต้องถามตัวเอง อะไรวะ แอมป์ราคาสามแสนบาท มีไส้ในแค่นี้เอง โซลิดสเตทในแบบบูรณาการที่ใช้โซลิดสเตทขยาย สองคู่  เป็นการออกแบบที่มีชิ้นส่วนน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ บางทีอาจเปรียบเปรยเสมือน บ้านสักหลัง หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ว่างเปล่าที่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์รกรุงรัง

            ในความเป็นจริง คนออกแบบ คือ Richard Bews เขาสำรวจโลกเพื่อหาชิ้นส่วนที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะได้สามารถผลักดันประสิทธิภาพเสียงของแอมป์ ตัวเล็กๆ นี้ ผสานกันทั้งองคาพยพ ให้สำแดงความอัศจรรย์ของเสียงทุกความถี่ ให้เสมือนบรรลุธรรมขั้นสุดยอด

Test Report

            สำหรับอุปกรณ์ทดสอบร่วมด้วย จะมี Harbeth Monitor 30.2 Anniversary, Denon DCD-2500NE SACD Player และ BluOS Streaming ใช้เฉพาะภาค Pre Out ส่วนสายไฟ สายสัญญาณ สายลำโพง เป็น TQ Black Il ทั้งหมด

            เมื่อทดลองฟังคุณภาพเสียงแล้ว เกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง?

            LFD NCSE HR มีคุณภาพเสียงยอดเยี่ยม มีความเป็นธรรมชาติอย่างน่าอัศจรรย์ ความอบอุ่นอนาล็อก ด้วยความเรียบสะอาดของ LFD NSC HR ได้ชำระล้างหน้าประวัติศาสตร์การออกแบบเครื่องเสียงที่คุ้นชินไปเสียทั้งหมด

            มันเก็บรายละเอียดทุกเมล็ดเสียงก็ว่าได้ครับ

            ในขณะที่ฟังเสียงคุณอาจจะไม่เคยได้ยินความสะอาดของเสียงในระดับอณูเล็กๆ แบบนี้มาก่อน ซึ่งจะเป็นเสียงเล็กๆ รายละเอียดระยิบระยับที่น่ารักเป็นที่สุดเลยทีเดียว

            แม้แต่ไดนามิคจากเพลงอัลบั้มคลาสสิก อาจฟังดูใหญ่โตและหนักแน่น เต็มอิ่มน่าตกใจสำหรับแอมปลิไฟร์เออร์ที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเราเปรียบเทียบเสียงยิ่งใหญ่โอฬาร รับรองว่าคุณจะต้องประทับใจอย่างคาดไม่ถึง

            หลายเพลงหลายอัลบั้มที่ทำให้เรานั่งนิ่งอึ้งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เรียกว่าเพลิดเพลินไปตามเสียงดนตรีแบบยั้งใจหยุด ฉุดใจไม่อยู่กระนั้น

            เราได้ยินเสียงดนตรีที่ลึกล้ำกว่าที่เคยเป็นมา มันเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เหมือนการท่องจินตนาการดนตรี ที่อธิบาย “ลายเซ็นต์อันบริสุทธิ์” ของ LFD Audio คุณภาพเสียง ที่มีทั้งความอบอุ่น อบอวล มีความเปิดกว้าง และความโปร่งใสอย่างสุดยอดแทบไม่น่าเชื่อจริงๆ

            เสียงสะอาดแบบฝ่าทะลุทุกชิ้นดนตรีที่บันทึกมาครับ!

            สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ท่านที่กำลังจะหาโอกาสไปฟัง LFD Audio ว่า คุณควรวางทุกสิ่งในใจของคุณ ทิ้งไปให้หมด เหมือนปลดเปลื้องทุกพันธนาการ เคยเห็น เคยได้ยินอะไร จงชะล้างความรู้สึกยึดติด ให้ใจหลุดออกจากกรอบเดิม ไปให้หมด แล้วนั่งฟังเสียงเพียงประการเดียว

            ยิ่งฟัง คุณจะเกิดความรู้สึกว่า มันไม่ใช่เครื่องเสียงแล้วละครับมันคืองานศิลปะ และมันคือดนตรีเท่านั้น

            LFD Audio NCSE HR คือการปฏิวัติแนวทางการออกแบบอันเต็มไปด้วยกรอบ และความสลับซับซ้อน กลับไปสู่เบสิกดั้งเดิม ที่บ่งชี้ ยืนยันความหมายว่า เครื่องเสียงมีหน้าที่ขยายเสียงที่บริสุทธิ์เท่านั้น และคุณจะรักเสียงของมันแบบถอนใจไม่ขึ้นครับ

            อาจเป็นครั้งแรกที่ คุณหลุดจากทุกๆ พันธนาการ และรับมอบเสียงคุณภาพไฮเอนด์เนื้อแท้ โดยไม่มีอะไรแอบแฝง

            อย่างไนก็ตาม ผมไม่เห็นด้วยที่นักเล่นเครื่องเสียงทั่วไปที่ยังคงยึดติด หลงใหลในรูปทรง หรือยินดีกับ กลิ่น รส คอสเมติค ความเชื่อเดิมๆ ทั้งหลาย ให้มาปลงใจเกิดความรู้สึกอยากเล่นLFD Audio แบบปัจจุบันทันด่วน

            เพราะ LFD เหมาะกับนักเล่นที่ “หลุดพ้น” รูปแบบ หรือกรอบ และ หรือวังวนเดิมๆ ที่ฟัง แล้ว พร้อมที่จะบรรลุ ไปสู่คำว่า “เสียง” อย่างเดียวเท่านั้นครับ

            เมื่อพร้อมต่อการเล่น LFD Audio NCSE HR เครื่องนี้ ก็หมายความว่ามันน่าจะเป็นแอมป์เครื่องสุดท้ายในชีวิตของคุณ แบบว่า รักแรกจบ มิใช่รักแรกพบ แต่ประการใดทั้งสิ้นครับ!!!

ทดลองฟัง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่

 Sound Box อาคารศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ชั้น 3  โทร.02 642 1448

คุณโจ้ : 089-920-8297

คุณธงชัย : 092-890-4660 , Line ID : tsoundbox

Facebook เพจ : https://www.facebook.com/soundboxthailand/?ref=bookmarks

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here