AUDIO GD R1 R2R DAC
มิติแห่งเสียงงดงามที่เราแสวงหา
มูลเหตุแห่งการแสวงหาเครื่องแปลงรหัส DAC งบประมาณปานกลาง คุณภาพดี มาใช้งานกับเครื่องเล่นซีดี สตรีมเมอร์ และอื่นๆ จึงมีคำถามมายังผมมากมายว่า NAD M51 ที่เคยขึ้นชื่อในตลาดออดิโอไฟล์ ไม่ผลิตออกมาแล้ว และแม้กระทั่งตลาดมือสอง ก็หายากมาก
จะมีอะไรที่ทดแทนได้? ซึ่งคำถามยอดฮิตมากๆ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมตอบท่านสมาชิก แฟนคลับไปทาง Messenger และ In Box ในแบบที่ลำบากยากเย็นตามสมควร เพราะ เครื่อง DAC ระดับ 30,000 – 60,000 บาท ทั้งมือหนึ่ง มือสอง หาที่ถูกใจผมไม่ค่อยได้ ถ้ามีก็มักจะราคาหนึ่งแสนบาทขึ้นไป
วันนี้มาพบกับเครื่องเล่น DAC รุ่นเล็ก Audio GD R1 ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม เสียงอิ่มเอม สะอาด ราคาประมาณ 35,000.- บาท จึงอยากนำมาทดสอบ ให้ท่านได้พิจารณา ซึ่งจะเป็นบทสรุปแห่งการรอคอยที่แท้จริงของผมครับ ส่วนจะพึงพอใจท่านแค่ไหนอย่างไร หาโอกาส ทดลองกันดูครับ
ผมลองเข้าไปค้นหาข้อมูลจากเว็บทางการของเขา ทราบว่าเป็นรุ่นพัฒนามาในเวอร์ชั่นใหม่สุด หารายละเอียดก็ไม่ได้อะไรมามากนัก เหมือนกับว่า อยากรู้ลองฟังเอาดีกว่านะ แต่ก็ทราบว่า ในแต่ละช่องอินพุตเค้าซัพพอร์ตรายละเอียดขนาดใด ดังต่อไปนี้ คือ
• USB mode and HDMI: 44.1kHz – 384kHz /32Bit
• USB mode and HDMI: DSD64-256
• Coaxial mode: 44.1kHz – 192kHz /24Bit
• Optical mode: 44.1kHz – 96kHz /24Bit
และเนื่องจาก มีการทดสอบ พรีวิว พูดถึง Audio GD R1 กันมาแล้วอย่างมากมายทั้ง ในและต่างประเทศ ผมเห็นว่าแต่ละสำนักก็มีการบรรยายกันมาหมดแล้ว ซึ่งทุกท่านสามารถศึกษารายละเอียดได้อย่างหลากหลาย และพอเพียง ดังนั้นผมจะไม่ร่ายยาวทางเทคนิคละครับ
จะพยายามจะสรุปให้สั้นๆ สำหรับนักเล่นที่แสวงหา DAC จะได้เข้าใจ และตัดสินใจได้
Audio GD R1 เป็นผลงานแหวกตลาดของเจ้าของ-ผู้ผลิตอัจฉริยะ ที่เคยชนะเลิศการออกแบบวงจรระดับโลกมาแล้ว โดยเลือกที่จะนำเอาวงจรแบบ Discrete R-2R Resistor Ladders DAC มาเป็นหลัก หมายความว่า ไม่ได้ใช้วงจรชิปสำเร็จรูปจากผู้ผลิตยอดนิยม ที่บริษัทเครื่องเสียงดังๆ เกือบทุกแบรนด์ใช้บริการ นั่นเอง
เอาเป็นว่า เค้าไม่ใช้ของสำเร็จรูป แต่กลับเลือกวิธีไปใช้การคัดเกรดอุปกรณ์ รีซิสเตอร์ มาพ่วงการทำงานในวงจรแบบขั้นบันใด เพื่อถอดรหัสสัญญาณจากภาคดิจิตอล หรือนัยหนึ่ง การออกแบบโดยวางพิมพ์เขียววงจรเอาเอง ไม่ใช้ชิปทั่วไปที่มีจำหน่ายมาทำ และเวอร์ชั่นนี้ก็ปรับปรุงอุปกรณ์ คัดเกรดระดับสุดๆ และปรับวงจรให้มีคุณภาพดียิ่งกว่าเดิม
การใช้วงจร R2R DAC แบบนี้ คือสามารถควบคุมคุณภาพเสียงได้ด้วยความต้องการของผู้ออกแบบเอง แต่แน่นอน คุณจะคัดเกรดอุปกรณ์กันละเอียดละออมากยากกว่า ระบบสำเร็จรูปหลายเท่า ไม่เก่ง ไม่อัจฉริยะจริงๆ ผลสำเร็จมีทั้งเจ๊าและเจ๊ง ทั้งสองทางครับ และ อุปกรณ์ที่วางในวงจรจะถูกจัดไว้ในรูปของโมดูล สวยงามตาดีทีเดียว
เดิมที Audio GD เองทำตลาดด้วยการขายโมดูลให้บรรดานักดีไอวาย ไปผลิตเครื่องDAC ด้วยครับ ถือว่าประสบผลสำเร็จมาก
และ Audio GD R1 คือผลงาน DAC ประกอบสำเร็จรูป ที่น่าชื่นใจ ทำให้เป็น DAC ขายดีแห่งปีของเขา กระทั่ง HiFi House by Msound มีของป้อนตลาดแทบไม่ทันละครับ
TEST REPORT
โอเค เรามาดูทรงดีไซน์เครื่องกัน เห็นครั้งแรกบางคนอาจจะรัก ชอบ บางคนอาจจะเกลียดไปเลย เพราะทรงออกไปทางลึก คือหน้ากว้าง 24 ซม. ลึกถึง 36 ซม. และสูง 8 ซม. น้ำหนักประมาณ 3.7 กิโลกรัม เครื่องอโนไดซ์ดำมืดมิดทั้งเครื่อง วางคู่เครื่องเสียงหน้ากว้าง 17 นิ้ว หรือ 43 ซม.ทั่วไปเหมือนหดเล็กกว่าชาวบ้านเขา (นึกถึงสไตล์ของแอมป์ Mission เลยครับ)
ออกแบบเครื่องแบบเมินคอสเมติค ขนาดหน้าปัดยังไม่มีสกรีนชื่อรุ่นเลย บร๊ะเจ้า บร๊ะจ่าง!
เรียกว่า ทุ่มเทไปกับวงจรและอุปกรณ์ภายในอย่างเดียวกับวงจร R-2R Resistor Ladders นี้ และสมใจนึกบางลำพูไหม ไปอ่านย่อหน้าสุดท้ายกันดูครับ
นอกจากปุ่มกดปิดเปิดเพาเวอร์ หน้าปัดดิสเพลย์แล้ว จะมีแค่ปุ่ม Setting และ Selector เพื่อเลือกปรับค่าในเมนู ด้านหลังมีช่องต่อ อร่ามตาเลยครับ ครบถ้วนกระบวนความ
มีช่องเสียบอินพุตแบบ Coaxial (RCA), Optical, BNC, ช่องรับอินพุต HDMI เพื่อรองรับสัญญาณดิจิตอลจากเครื่องเล่น ดีวีดี, บลูเรย์ และช่อง USB สำหรับต่อระบบคอมพ์ เพื่อเล่นไฟล์เพลงรายละเอียดสูง
โดยช่อง USB นี้ จะตอบรับสัญญาณดิจิตอล PCM ตั้งแต่ 16 บิต 44.1 ทั้งไฟล์ WAV, FLAC, AIFF, MP3 อีกทั้งไฟล์ไฮเรส ฟอร์แมต PCM, DSD และ DXD ครบถ้วนเลยทีเดียว ขึ้นกับไฟล์ในสตอเรจของคุณ
ในส่วนอนาล็อกเอาต์พุต มีให้ใช้ 3 รูปแบบคือ ขั้วบาลานซ์ (XLR), ขั้วต่อ ACSS และอนาล็อกแบบ RCA หรือ Unbalanced ที่เราคุ้นเคย และตั้งหลักกันที่ตรงนี้เป็นนิจ เพื่อส่งต่อให้กับเครื่องขยายของเรา
สุดท้ายด้านหลังเครื่อง มีช่องปลั๊กไฟ ที่ถอดสายออกได้ ตรงนี้ที่หลายท่านจะอัพเกรดสายรุ่นสูงๆ ได้เลยครับ
ความมึนงง อาจจะเกิดขึ้นกับวิธีใช้งานที่หน้าปัดดิสเพลย์ ของ Audio GD R1 R2R DAC เพราะมีปุ่ม Power ซ้ายสุด และอีกสามปุ่ม ที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน
เรียงจากปุ่มเซ็ตอัพหลักคือ Setting สำหรับเลือกหัวข้อปรับตั้ง ตามด้วยอีกสองปุ่ม สำหรับ Select ฟังก์ชั่นที่ต้องการปรับตั้ง ให้สังเกตว่า คุณกำลังปรับอะไร จากการกดแล้วฟังก์ชั่นนั้นกระพริบแว็บๆ เมื่อหยุดลง คือสิ่งที่คุณเลือก
ให้พยายามดูจากคู่มือทบทวนด้วย เพราะช่วงแรกบางท่านใจร้อน กดมั่วไปมาจะยิ่งมึนตึ้บ ครับ
สรุปคือ รูปแบบการเซ็ต อัพ ของฟังก์ชั่น นั้นมีการซ้อนทับกันอยู่
สำหรับอักษร O กับ N คือให้เลือกที่จะปรับค่าให้วงจร DAC ให้มีการ Over Sampling หรือจะไม่มีการใช้วงจรยกระดับ คือ N = Non-Over Sampling
แล้วคุณจะเลือกอัตราสุ่มดิจิตอลเป็นกี่เท่า ก็เลือกเอา คือ 0 – 2 – 4 – 8 เท่าตัว เสียงก็จะแตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจนมาก
กรณีใช้ฟังก์ชั่น HDMI จะมีให้ปรับค่าการเหลื่อมเวลา หรือใช้ Clock ดิจิตอลควบคุมการซิงโครไนซ์ (Synchronizer) ด้วย
และยังมีระบบช่วยซิงค์สัญญาณ แบบ PLL = Phase-Lock Loop เพื่อใช้กับสัญญาณจากช่อง USB และ HDMI นั้นให้มีการถอดรหัสที่แม่นยำ โดยจะเลือกได้ในระหว่างการแอคทีฟ (Active=1 และ Disable=0) นั้นคือหลักๆ การเลือกเซ็ตติ้ง รวมทั้งการปิดดิสเพลย์บนจอให้มืดสนิทไม่ต้องทำงาน สำหรับท่านที่มีหูระดับน้ำกลั่น จะได้ฟังออกว่า เสียงต่างจากเปิดดิสเพลย์อย่างไร
(ขอบอกว่า มีความต่าง แต่ก็ฟังออกได้ประมาณหนึ่ง)
ในการปรับเลือกอินพุต ปุ่มก็ซ้ำซ้อนกันอยู่กับ 3 ปุ่มหลักนี้ คุณกดวนไปก็จะไล่เรียงอินพุตจาก 1-2-3-4 ถ้า งง ให้ทดลองปรับดู (ควรหรี่ ปรับโวลุ่มแอมป์ให้ต่ำที่สุด เพื่อป้องการเสียงดังแต็กๆ ออกลำโพง)
ขอตอกย้ำว่าคนที่ไม่คุ้นเคยกับการทำงานแบบนี้ให้ใช้งานสักพักนึงแล้วจะคล่องมือขึ้นมาเองนะครับ
การใช้งาน O = Oversampling เปรียบกับ N = Non-Oversampling การใช้โอเวอร์แซมปลิ้งคือกระบวนการปรับแต่ง หรืออัพแซมปลิ้งผ่านวงจรกรองฟิลเตอร์ให้สูงขึ้น ถ้าไม่ใช้โอเวอร์แซมปลิ้งก็คือการปล่อยให้กระบวนการทำงานไปตามอินพุตที่เข้ามา
สมมุติไฟล์ที่ส่งผ่านวงจรเป็น PCM (อาทิจากเครื่องเล่นซีดี) ที่ 44.1/16 บิต การปรับโอเวอร์แซมปลิ้ง จะปรับได้ สอง สี่ แปดเท่า ขึ้นกับความต้องการของคุณ และความสามารถของไฟล์ที่จะอัพได้สูงสุดเท่าใด ที่ไฟล์จากการเก็บไว้ในสตอเรจ ถ้าเป็นพวก DSD ก็จะให้คุณภาพรายละเอียดระยิบระยับมากขึ้น
ลองเล่นดูเถิดครับ สนุกมากทีเดียว คุณจะไปได้ถึงรายละเอียดสุดๆ ของคุณภาพเสียง
ในการเปรียบเทียบระหว่าง การโอเวอร์แซมปลิ้ง (O) กับไม่ใช้ระบบโอเวอร์แซมปลิ้ง (N) สัญญาณ มีความแตกต่างทางด้านคุณภาพเสียงรายละเอียด และคาเเรคเตอร์ค่อนข้างมากเลยทีเดียว ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของคุณเอง
ฟังแบบโอเวอร์แซมปลิ้ง อาจจะดูเหมือนรายละเอียดหยุมหยิมมากขึ้นแต่บางทีมันก็เหมือนกับการปรับแต่งเสียงมากเกินไป
ในขณะที่ส่วนตัวผมเองจะฟังที่ไม่มีการโอเวอร์แซมปลิ้ง (N) เสียมากกว่า เพราะว่าได้เสียงเป็นธรรมชาติ และมีรายละเอียดพร่างพราวสวยงามเฉียดความเป็นเสียงอนาล็อกที่เราเคยชิน แล้วมันก็ให้คุณภาพเสียงที่น่ารักมากๆ พลิ้ว สวยงาม น่ารักน่าใคร่ เล่นจากแผ่นซีดี นี่ก็สวรรค์น้อยๆ แล้วละครับ จะขอบอกให้
อะไรไม่ว่า การแปลงรหัสจากเพลงทางสตรีมมิ่ง TIDAL ทำให้เรารู้สึกว่า นี่คือเสียงดนตรีที่สวยงาม น่าประทับใจมากขึ้นกว่าเดิมๆ ราบรื่น อิ่มเอม และให้ความโปร่งใสที่สวยงามอย่างเหลือเกิน ทำให้นึกถึงเครื่องแรกระดับราคาแสนขึ้นมาทันที
ส่วนใหญ่ผมจะเน้นการฟัง Digital Out Put มาจากเครื่องเล่น CD เสียเป็นส่วนใหญ่ รองลงไปก็คือต่อจากเครื่องสตรีมเมอร์ ซึ่งในสองกระบวนการนี้ให้ผลได้ใกล้เคียงกันในแง่ของรายละเอียดเสียง กรณีต่อจากคอมพิวเตอร์ทาง USB เล่นไฟล์เพลงที่รายละเอียดสูงสุดแบบDSD น่าประทับใจก็จริง แต่เพลงที่เลือกเล่น เลือกฟังของผมจะไม่มากเท่าแผ่นซีดี และสตรีมมิ่งทั่วไป
เรียกว่า โชว์รายละเอียดได้สุดยอดจริงๆ
เป็นเครื่องดิจิตอลคอนเวอร์เตอร์เครื่องหนึ่ง ซึ่งถือว่ามีคุณภาพสูงมาก ราคาสามหมื่นกว่านี้ เอาคุณภาพเสียงจริงๆ มันชนหลังเครื่องระดับแสน หน้าตาเฉย เอาละ มันก็แลกกับ ความสวยงามดีไซน์เครื่อง หรือฟังก์ชันการใช้งานที่ง่ายกว่านี้ มันอ่อนด้อยไปก็นับว่า โค-ตระคุ้ม ครับ
คือถึงแม้ว่าจะอยู่ในรูปของเครื่องเล่นที่มีการออกแบบหน้าปัด การสั่งงานอย่างหยาบๆไปสักหน่อย และชวนมึนหัวในตอนแรกที่เซ็ตอัพ แต่มันก็เป็นวิถีทางหนึ่งของการดีไซน์เครื่อง ให้เน้นในเรื่อง “คุณภาพเสียง” มากกว่าที่จะมาสนใจคอสเมติค หรือให้การอำนวยความสะดวกยิบย่อยที่ฟังก์ชั่นดิสเพลย์ ตัวอักษรสวยงามใดๆ
การทำงานของ Audio GD R1 R2R DAC นี้ สามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เป็นมัลติรูมเช่น roon หรือ Blue OS ได้กลมกลืน สะดวก เพราะหน้าที่หลักคือ แปลงรหัสดิจิตอล แม่นยำ เที่ยงตรง ไร้การเหลื่อมช่วงเวลาเป็นสำคัญ
จะว่าไปผมฟังจากไฟล์เพลงจากแผ่นซีดี 44.1 ทั่วไป จากแผ่นโปรดที่ฟังอยู่ทุกวี่วัน (ทางช่อง Coaxial) ก็รู้สึกเหมือนกับว่าเราได้ล้างหู มาฟังเสียงที่มีรายละเอียดระยิบระยับยอดเยี่ยมจากแผ่นเดิมนั้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แค่นี้คุ้มจนเกินคุ้มครับ
ใช่ครับเสียงที่ละเมียดละไมสวยงาม เปิดโปร่งและให้ความอบอุ่นนุ่มนวล ของเสียงต่ำได้อย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว และนี่คือ Audio GD R1 R2R DAC ที่อยากจะบอกว่าคุ้มที่สุดสำหรับ DAC ในปี 2022 เลยทีเดียว
สนใจทดลองฟัง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ร้าน Msound โทร. 096-978-7424
ร้าน HiFi House สาขาหาดใหญ่ โทร.096-978-7424
ร้าน เต่า ออดิโอ กทม. โทร. 088-005-5156
ร้าน เพื่อนกันไฮไฟ ชลบุรี โทร. 081-982-0282