Zensonice TWIRELIGHT SAGA แนวคิดใหม่ สาย RCA

            การครบรอบสี่ปี ทาง Zensonice แบรนด์ไทยของเราได้ผลิตสินค้าที่ช่วยปรับเฟสเสียงของช่วงปลายสายลำโพงในรุ่น Melodic ปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ก็ยังผลิตแบบแฮนด์เมดไม่ทันต่อความต้องการของออดิโอไฟล์ ก็นับว่าเป็นผลสำเร็จที่ดีเยี่ยม

            โครงการต่อไปของทีม Zensonice ที่แพลนไว้ว่าจะออกวางตลาดสิ้นปีนี้ คือสายนำสัญญาณ RCA ที่นำเอาเทคโนโลยีไดอิเล็กตริก (Dielectric) มาใช้ในสายเป็นครั้งแรก และได้ส่งต้นแบบมาให้ผมได้ทดลองใช้งาน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

           ความรู้เรื่องไดอิเล็กตริกของผมมีอยู่แค่เล็กน้อย อาจจะเพราะไม่ได้ให้ความสนใจมาก่อน จึงอธิบายได้ลำบากนิดหนึ่ง ทราบคร่าวๆ เพียงแค่ว่า มันเป็นลักษณะวัสดุกึ่งฉนวนไฟฟ้า ที่สามารถปล่อยให้ไฟฟ้าวิ่งผ่านได้โดยใช้ลักษณะของสนามไฟฟ้าให้เป็นเป็นทางผ่าน

           สิ่งที่เคยได้ยินมา เรื่องของ Dielectric Polarization เป็นลักษณะเกี่ยวกับการควบคุม หรือส่งผ่านโมเลกุล โดยที่ประจุบวกจะถูกผลักไปในทิศทางหนึ่ง และประจุลบก็จะขยับไปในทิศทางตรงกันข้าม ทฤษฎีก็น่าจะประมาณนี้

           แต่การนำมาใช้งานในทางเทคนิค ต้องบอกว่าผมยังไม่ค่อยได้ศึกษาลึกลงไปถึงแก่นของมัน

            ได้ยินเรื่องนี้ทีไร สมมุติฐานของผม ชวนให้นึกไปถึงโมเลกุลที่เป็นส่วนประกอบในไดอิเล็กตริกหนึ่งๆ ที่เราสามารถนำมาใช้เป็นตัวส่งสัญญาณ ด้วยการเรียงตัวอย่างสมมาตรของโมเลกุลนั่นเอง

           ซึ่งมันก็น่าจะมีอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย

           เพื่อความกระจ่าง จึงสอบถามรายละเอียดจากทีม Zensonice ซึ่งเขาอธิบายเอาไว้ละเอียดพอสมควรว่า สาย Zensonice TWIRELIGHT SAGA นั้นเป็นสาย RCA ที่ได้นำเอา วัสดุตัวนำ Metal in oil และ ขบวนการ Dielectric ซึ่งเป็นวัสดุตัวนำ และ Know-how ที่ปกติจะใช้ในรุ่นราคาสูง ของ Zensonice นั่นเองมาประยุกต์ใช้

           สำหรับวัสดุและกระบวนการนี้ อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนักสำหรับนักเล่นเครื่องเสียง นัก DIY หรือผู้ผลิตสาย Audio ในเมืองไทย แต่สำหรับในต่างประเทศ แวดวงการผลิตสายสัญญาณ แบบ Custom made ต่างรู้จักกันดี ถ้าเอ่ยถึงวัสดุตัวนำประเภท Metal in oil ก็จะนึกถึงขบวนการ Dielectric ในสายเคเบิ้ล

           หลักการแนวคิดและการออกแบบของสายในซีรีส์ TWIRELIGHT เป็นการนำเอาระบบ Dielectric มาใช้โดยการเลือกตัวนำประเภท Metal in oil (ซึ่งผลิตโดย ผู้ผลิต OEM ที่ทำตามสเปคที่ทาง Zensonice กำหนด) มาประกอบโดยในสายสัญญาณแต่ละเส้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ขั้วบวกและขั้วลบ

            ในแต่ละกลุ่มจะประกอบปอย 2 ปอย แต่ละปอยจะมีสายตัวนำที่มีจำนวนและขนาดที่ต่างกัน โดยมีการแยกชีลด์ตัวนำทุกเส้นในแต่ละปอยแต่ละกลุ่มเป็นอิสระซึ่งกันและกัน ในการควบคุมโทนัลบาลานซ์ให้สมดุล

           และยังมีการนำวัสดุ Dielectric เข้าไปในเส้นทางการเดินสายสัญญาณ เพื่อสร้างวงจรเชิงซ้อนภายในสำหรับการจัดเก็บ และแพร่กระจายของพลังงานไฟฟ้า สนามแม่เหล็กในวัสดุตัวนำของสายสัญญาณ เพื่อควบคุมการเรียงตัวของประจุ (Capacitance) ให้อยู่ในแกนสมมาตรแนวเดียวกันกับสนามแม่เหล็กภายในสาย

            การกระทำนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเสถียร ให้กับประจุไฟฟ้าภายในสายไม่ให้ผันแปรไปตาม ค่าความต้านทานที่แปรเปลี่ยนขึ้นๆ ลงๆ ตามสัญญาณที่ผ่านเข้ามา ส่งผลให้สายสัญญาณเส้นนี้มี Impedance ที่ค่อนข้างจะคงที่

            ส่งผลให้การแมตชิ่งค่าความต้านทานระหว่างเครื่องต้นทาง และปลายทางมีความสมดุลตลอดเวลาที่มีการส่งผ่านสัญญาณ

           ซึ่งหมายถึง ความถูกต้องความสมบูรณ์ของสัญญาณ การลดการบิดเบือนและสูญเสียของสัญญาณให้มีน้อยที่สุด ทำให้ทุกสัญญาณทุกความถี่ที่ส่งผ่านมีความเป็นอิสระ ไร้ซึ่งการบีบอัด หรืออั้นใดๆ

           ทาง Zensonice อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับในการพันลวดตัวนำในแบบ Phase Balance Control ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของ Zensonice เอง ก็เพื่อควบคุมและลดการบิดเบือนผิดพลาดของ Phase shift และ Timing (เฟสและช่วงเวลาที่ผิดพลาด) ในทุกความถี่เสียง ส่งผลให้รู้สึกรับรู้ได้ถึง อิมเมจ และ Soundstage ที่แตกต่างออกไปจากสายอื่นๆ ทั่วไป

            ในส่วนตัวผม ในการทดลองใช้งาน Zensonice TWIRELIGHT SAGA สาย RCA  ชุดนี้ โดยหลักๆ ผมทดลองต่อระหว่างเครื่องเล่น CD และแอมปลิไฟร์ เพราะคุ้นเคยวิถีของการฟังแบบดังกล่าว

           ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ช่วงแรกๆ สายอาร์ซีเอ TWIRELIGHT SAGA มีอัตราการสะวิงขึ้นลงของเสียงแบบจับไม่ค่อยติดในช่วงแรกๆ ฟังแล้วชวนมึนงงอยู่ไม่น้อย ช่วงแรกทำท่าเหมือนจะเสียงนุ่มๆ เบลอๆ แต่สัก 3-4 ชั่วโมง มันจะใสขึ้น จนรู้สึกว่า เสียงกลางแผดกล้าเกินจริงไปเล็กน้อยอย่างชัดเจน

            เหมือนดังว่า สาย RCA เส้นนี้ เป็นม้าพยศ ที่กำลังโลดแล่นฝีเท้าไปตามสัญชาติญาณอย่างอิสระ ไม่ยอมขึ้นกับสิ่งใด อารมณ์ดีๆ ร้ายๆ เป็นพักใหญ่ และแล้วก็จะมาถึงซึ่งช่วงเวลาแสดงผล เป็นตัวเองชัดเจนในที่สุด

            ผมก็ยัง รอดู รอฟังอยู่ อย่างใจเย็น รอดูปรากฏการณ์ ไปเรื่อยๆ พอย่างเข้าวันที่สอง วันที่สาม ชั่วโมงการเบิร์นเกิน 20 -30 ชั่วโมง ทุกอย่างเริ่มสงบนิ่ง พบว่าเสียงมีพลังอิ่มแน่นน่าฟังขึ้น ไม่มีอาการคุ้มดีคุ้มร้าย เหมือน 3-4 ชั่วโมงแรกครับ

           และมาถึง ชั่วโมงที่ 40-50 นี้เอง ที่สายอาร์ซีเอ TWIRELIGHT SAGA สงบนิ่งสุขุม หลังจากทำการผาดโผนแบบนักกายกรรมไต่ลวดมาพักใหญ่แล้ว

            และนี่คือลักษณะคล้ายๆ การทำงานเก็บประจุของคาปาซิเตอร์ อันน่าจะมาจากผลการเรียงตัวของ โมเลกุล ในระบบไดอิเล็กตริก ส่งผลต่อทิศทางของมันอย่างมั่นคง

            คือถ้านับจาก 20 ชั่วโมงไปแล้ว คุณจะได้พบสิ่งดีๆ ขึ้นเรื่อยๆ จนนิ่ง และอยู่ตัวในที่สุด แล้วจะต้องชอบมันมากๆ ด้วย

            เพราะอิมเมจ และช่องไฟดนตรีของสาย Zensonice TWIRELIGHT SAGA แสดงผลออกมาดีมากๆ ครับ กระจ่างสะอาด ให้ผลด้านไดนามิคเสียง เวทีเสียงกว้างลึกโอ่โถง และรายละเอียดที่เหมือนเปลี่ยนจากขั้นที่หนึ่ง กลายเป็นขั้นที่สิบ ขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญเลยทีเดียว น่าทึ่งมากครับ

           การปลดสายชุดนี้ออก ทิ้งไว้วันสองวัน แล้วต่อเข้าไปใหม่ จะเจอปรากฏการณ์ ม้าพยศอีกนะครับ จะต้องบอกไว้ก่อน

            เพียงแต่จะใช้ช่วงเวลาผ่านพ้นไปไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ก็จะเข้าสู่ความสมบูรณ์แบบดังที่เราต้องการเหมือนเดิม ดังนั้นเขาถึงบอกว่า เทคนิคสายแบบนี้ เสียบแล้ว เสียบเลย จะเห็นผลดีในที่สุด

           ถ้าปลดประจำการออก แล้วย้อนกลับมาใช้อีก ในเที่ยวต่อๆ มา ก็ไม่ต้องเสียเวลาเบิร์นซ้ำซ้อนอีกยาวนานแต่อย่างใด นั่นเอง

            เป็นโครงการสาย RCA ที่น่าสนใจครับ จึงนำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง เพียงแต่สายรุ่นนี้ ยังไม่ได้มีกำหนดวางจำหน่าย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้ (ขึ้นปีที่ 5 ของ Zensonice) ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงทดสอบพัฒนา และหาจุดสมดุลที่ดีที่สุด ก่อนเป็นผลิตภัณฑ์ตัวจริง

สนใจติดต่อสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณอัครเดช อรุณศิริวงศ์  โทร 081-446-7141

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here