The Art of Speaker Design Chapter 8


Edgar Marion Villchur ผู้ให้กำเนิดลำโพงAR ระบบลำโพงตู้ปิดสะท้านโลก

บุคคลสำคัญที่เป็นคุณูปการของวงการเครื่องเสียงและลำโพงมีอยู่หลายท่านด้วยกัน แต่ถ้าพูดถึงในแง่ของการดีไซน์ออกแบบลำโพง ที่เป็นรากฐานหรือต้นแบบลำโพงไดนามิค นั้นเราคงจดจำชื่อของ คุณ เจมส์ บี.แลนซิ่ง ได้เป็นอย่างดี เพราะเขาเป็นผู้ให้กำเนิดลำโพงJBLและ Altec Lansing และแน่นอนย่อมไม่ควรลืมว่า มีอีกบุคคลหนึ่งซึ่งสามารถสร้างสรรค์ลำโพงแบบตู้ปิดทึบ Acoustic Suspension สร้างขนาดเล็กลงไม่เกะกะพื้นที่ แต่ยังได้คุณภาพเสียงที่ดีมาก
ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าลำโพงตู้ยักษ์ปากHorn ทั้งหลาย เขาคือ Edgar Marion Villchur นักประดิษฐ์ นักการศึกษา และนักเขียนที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในฐานะผู้คิดค้นลำโพง AR (Acoustic Research) ที่มีขนาดกะทัดรัด ให้เสียงที่เที่ยงตรง 


โดยในปี 1954 ถึง 1967 วิลเชอร์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานบริษัท Acoustic Research และทำการพัฒนาปรับปรุงลำโพง AR ให้มีขนาดตัวตู้เล็กลง และการตอบสนองของเบสดียิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังทำการพัฒนาและผลิตเทิร์นเทเบิ้ล เครื่องแรกของโลกที่ใช้ระบบสปริง แขวนลอย รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องเสียงสเตริโออื่น ๆ อีกด้วย
ความสำคัญคือ วิธีการออกแบบนั้น เอ็ดการ์ วิลล์เชอร์ ได้ใช้การอ้างอิงเสียงดนตรี จริงที่บันทึกตรงมาจากสตูดิโอ ชั้นนำในยุคนั้นเขาเป็นต้นแบบสำหรับการเทียบเคียงเสียงของลำโพง
ทุกครั้งของการออกแบบ ได้ใช้วิธีสาธิตคุณภาพเสียงด้วยการเปรียบเทียบระหว่างการแสดงดนตรีสด สลับกับเสียงดนตรีที่บันทึก เพื่อให้มั่นใจว่าเสียงที่ทุกคนจะได้ยินจากลำโพงของAR เป็นเสียงที่ใกล้เคียงดนตรีจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เพราะในยุคนั้น เราต้องยอมรับว่าไม่ได้มีเครื่องมือ วัดและคอมพิวเตอร์ใดๆมาช่วยเหลือ นอกจากการใช้หลักฟิสิกส์พื้นฐานโดยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินของมนุษย์ มาทำเปรียบเทียบและใช้หูฟังเป็นหลัก
ลำโพงระบบตู้ปิด Acoustic Suspension เป็นรูปแบบของการใช้อากาศเป็นตัวสปริงภายในตู้ เพื่อช่วยเร่งแรงผลักดันของตัวขับเสียงหลักก็คือวูฟเฟอร์ให้แสดงพลังเบสได้แม่นยำและเที่ยงตรง
มีคุณภาพใกล้เคียงกับลำโพงขนาดใหญ่กว่า
เอ็ดการ์ วิลล์เชอร์ ใช้ทัศนะใหม่ สร้างและทดลองอยู่นาน เพื่อต่อสู้กับ ลำโพงในยุคก่อนมีขนาดที่ใหญ่โตเกินไป แนวคิดที่ว่า มนุษย์เราไม่ได้มีบ้านขนาดยักษ์เอาไว้สำหรับลำโพงตู้ฮอร์นโหลดทั้งหลาย จึงพยายามค้นสูตร ที่จะสร้างลำโพงตัวเล็กที่มีคุณภาพสูงออกมา
แล้วมันประสบผลสำเร็จอย่างน่าตื่นเต้นจนทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ AR พุ่งกระฉูดสูงถึง 32% ในปี 1966

ชีวิตพลิกผันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

Villchur จบด้านปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ Art History ซึ่งเดิมทีเขาตั้งใจว่าจะเป็นนักออกแบบฉากในโรงละคร แต่เนื่องด้วยการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ทุกอย่างพลิกผัน 
โดยในระหว่างสงครามเขาเข้าทำงานในกองทัพสหรัฐในฐานะช่างซ่อมบำรุงวิทยุและเครื่องมือไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งมันก็เป็นงานที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ร่ำเรียนมาโดยสิ้นเชิงแต่โดยพื้นฐานในส่วนนี้ก็ถือว่าเขามีมาตั้งแต่เด็กแล้วเหมือนกัน
มันเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบรองลงไปจากด้านศิลปะ
หลังสงคราม เขาจึงหันมาเปิดธุรกิจรับซ่อมวิทยุ และทำการออกแบบเครื่องรับวิทยุตามสั่ง พร้อมกันนั้นก็เริ่มหันเหมาศึกษาวิศวกรรมด้านเสียงอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค 
ระหว่างนั้นเขาลองเขียนบทความส่งให้นิตยสาร Audio Engineering (ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Audio เฉยๆ) ปรากฏ ว่าเป็นที่ถูกใจนักอ่านที่เป็นออดิโอไฟล์. เลยกลายเป็นนักเขียนประจำคอลัมน์ไปด้วยอีกอาชีพหนึ่ง
แม้ว่าเขาจะจบสาขา Art History เขาก็ยังสมัครเป็นอาจารย์สอนหลักสูตร Reproduction of Sound ที่มหาวิทยานิวยอร์ค 
ซึ่งหลักสูตรใหม่นี้ก็ได้รับการอนุมัติจากทางมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่ไม่เคยมีสอนที่ไหนมาก่อน และในช่วงเวลาเดียวกันเขาก็ทำงานให้กับมูลนิธิเพื่อคนตาบอดในเมืองแมนฮัตตันด้วย
โดยเข้าไปช่วยออกแบบอุปกรณ์หรือนำเอาอุปกรณ์ที่มีอยู่ มาทำการออกแบบใหม่เพื่อให้คนตาบอดใช้งานได้ง่ายขึ้นและทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีอิสระได้มากขึ้น 
หนึ่งในผลงานที่เขาได้ทำการออกแบบใหม่คือ โทนอาร์มของเทิร์นเทเบิ้ลที่ทำมูลนิธิสร้างไว้ใช้งาน สำหรับคนตายอด มันจะมีความเพี้ยน (distortion) สูงถึง 12% อันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยาก
Villchur ได้ทำการออกแบบโทนอาร์มขึ้นมาใหม่ให้มีความเพี้ยนต่ำกว่า 4% ในขณะเดียวกันก็ได้ทำการคิดค้นกลไกของโทนอาร์มใหม่ให้สามารถค่อย ๆ วางลงบนแผ่นเสียงได้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนตาบอดที่อาจวางโทนอาร์มโดยไม่ระวังหรือทำหล่นไปกระแทกกับแผ่น ทำให้หัวเข็มหรือแผ่นเสียงเสียหาย 
นี่คือความรู้และประสบการณ์ที่ภายหลังเขานำมาใช้กับเทิร์นเทเบิ้ลของ AR
ในส่วนของเครื่องเสียงบ้านนั้น Villchur เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ถือเป็นจุดอ่อนที่สุดก็คือลำโพง เนื่องจากในส่วนของแอมป์ฯ เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องเล่นเทป จูนเนอร์ต่างก็สามารถถ่ายทอดเสียงที่บันทึกมาได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว
จะ มีแต่ลำโพงเท่านั้นที่ไม่สามารถถ่ายทอดเสียงออกมาได้โดยไม่เกิดความเพี้ยน 
เขาเลยเกิดไอเดียว่าจะต้องคิดค้นลำโพงใหม่ที่มีความเพี้ยนต่ำโดยใช้ หลักการ linear air cushion แทนรูปแบบเชิงกลกลแบบนอนลิเนียร์ (nonlinear mechanical spring) 
โดยเบื้องต้นเขาได้สร้างลำโพงต้นแบบจากกล่องไม้อัด ขนาดของหน้าลำโพงก็ได้จากกรอบรูปที่แขวนอยู่ในห้องรับแขกนั่นแหละครับ
🔆จากการปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย สู่การลงมือสร้างด้วยตนเอง🔆
เมื่อสร้างตัวต้นแบบสำเร็จ เขาก็วิ่งเต้นยื่นจดสิทธิบัตรจนสำเร็จ แล้วนำเอาไอเดียไปขายให้กับผู้ผลิต แต่เนื่องจากความคิดของผู้ผลิตสมัยนั้น ยังยึดติดกับรูปแบบลำโพงเดิมๆ จึงไม่มีใครยอมซื้อความคิดเขา
ของดีย่อมคู่กับคนที่เห็นคุณค่าของมัน ในที่สุด เพื่อนที่เรียนมหานิวยอร์คด้วยกัน Henry Kloss หลังจากได้ฟังคำอธิบายของ Villchur เกี่ยวกับ acoustic suspension แล้วเห็นด้วยว่า ลำโพงที่สร้างด้วยหลักการนี้จะให้เสียงดีขึ้นอย่างเห็นๆ 
และ Kloss ก็ผลิตตู้ลำโพงขายอยู่แล้ว Villchur เลยตัดสินใจว่า ในเมื่อไม่มีใครยอมซื้อไอเดียวเขา วิธีเดียวที่จะทำให้ไอเดียของตัวเองเป็นรูปธรรมได้ก็คือลงไปลุยเอง 
เขาตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Acoustic Research, Inc. (AR) ร่วมกับ Kloss ในปี 1954 จนตอนหลัง Kloss ออกไปตั้งบริษัทของตัวเองโดยนำเอาหลักการของ Villchur มาผลิตลำโพงของตัวเองภายใต้การอนุญาตจาก Acoustic Research, Inc. หลังจากนั้นต่อเนื่องอีกหลายทศวรรษ ผู้ผลิตรายอื่น ๆ ต่างก็หันมาซื้อสิทธิในการผลิตจาก AR 
แต่มาสะดุดเอาเมื่อบริษัท Electro-Voice ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าใบอนุญาตการผลิตจนเกิดการฟ้องร้องแล้ว แต่ถูก Electro-Voice ฟ้องกลับด้วยข้อโต้แย้งว่าตัวเองไม่ได้ละเมิดเพราะระบบที่เขาใช้นั้นแตกต่างจากของ Acoustic Research สุดท้ายศาลก็ตัดสินให้ Electro-Voice ชนะคดี
Villchur แม้จะรู้ว่าคำตัดสินของศาลไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ขออุทธรณ์ เพราะไม่อยากค้าความ และมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าต้องทำ เลยตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
Villchur เริ่มหันมาพัฒนาทวีตเตอร์ และ direct-radiator dome tweeter ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมานั้น สามารถยกระดับคุณภาพเสียงแหลมได้ดีกว่าเดิมมาก มีการตอบสนองที่สมูธยิ่งขึ้น
และมีการกระจายที่กว้างขึ้น เมื่อผสมผสานกับ acoustic suspension woofer ที่เขาได้พัฒนาก่อนหน้านั้น ที่ส่งผลงานลำโพง AR-1, AR-2 ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย 
เขาจึงนำเอาทวีตใหม่นี้มาออกเป็นลำโพงรุ่น AR-3 ลำโพงรุ่นนี้ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของ Villchur ก็ว่าได้

☘️จัดคอนเสิร์ตประชันเปรียบเทียบเสียงดนตรีกับเสียงจากลำโพงครั้งแรกในโลก🧚‍♀️
และเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ในวงการเครื่องเสียงในยุคนั้นคือ Villchur นำเอาอุปกรณ์เครื่องเสียงของเขาออกมาโชว์เปรียบเทียบกับการแสดงดนตรีสด 
โดยจัดคอนเสิร์ต “Live versus Recorded” อย่างต่อเนื่อง โดยให้นักดนตรีที่เชี่ยวชาญเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมาแสดงและเปรียบเทียบเสียงกับสิ่งที่บันทึกโดยถ่ายทอดผ่านเครื่องเสียงของ AR จนเป็นที่ฮือฮาอย่างมากจน Washington Post ถึงยอมอุทิศครึ่งหน้ากระดาษด้วยภาพและบทความที่เขียนถึงเหตุการณ์นี้ของ ACoustic Research AR
AR ยังคงขยายสายผลิตภัณฑ์ลำโพงโดยออกรุ่น AR-4 ซึ่งเป็นที่นิยมใน
หมู่นักศึกษา และส่วนแบ่งตลาดของ AR ก็กินเข้าไปเกือบ หนึ่งในสามของตลาดทั้งหมด 
แต่งานเลี้ยงย่อมมีการเลิกรา ในปี 1967 Villchur ได้ขาย AR ให้กับ Teledyne และเซ็นของตกลงว่าเขาจะไม่เข้าสู่ธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องเครื่องเสียงอีก เมื่อ Teledyne ซื้อกิจการไปแล้ว ยังคงผลิตเครื่องเสียงสเตริโอภายในแบรนด์ AR ต่อมาอีกหลายทศวรรษ โดยมีเพื่อนในสาขาชีพเดียวกัน อย่างRoy Allison มาเป็นผู้สานต่อ


☘️โปรดติดตามอ่านThe Art Of Speaker Design ในChapter 9 ต่อไป ที่จะว่าด้วย คุณสมบัติของลำโพงรุ่นเด่นๆ ของAR: Acoustic Research ☘️

ส่งความเห็นที่ นิรนาม ยกเลิกการตอบ

Please enter your comment!
Please enter your name here