เรื่องของ MQA และ MQA CD กันอีกสักครั้งเถอะนะ

           อันที่จริงมีผู้เขียนบทความทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษเอาไว้ในอินเตอร์เน็ตมากมายพอสมควร ไม่อยากเอาเรื่องที่มีการนำเสนอกันมาอย่างแพร่หลายเป็นปีๆ มาพูดซ้ำอีก แต่เนื่องจากบรรดาแฟนคลับและเพื่อนๆ ต้องการให้ผมกล่าวถึงเรื่องนี้โดยสรุป ก็จึงนำมาเสนอดังต่อไปนี้ครับ

            MQA หรือ Master Quality Authenticated เป็นเทคโนโลยีในการเข้ารหัสเสียงระดับ Hi-res Audio จากสตูดิโอ ที่บันทึกและเข้ารหัสนี้ไว้ แล้วนำส่งผ่านมายังผู้บริโภคที่มีเครื่องเสียงถ่ายทอดในระบบเดียวกัน

            MQA ถือกำเนิดมาจากการคิดค้นของบริษัท Meridian

            หลักการก็คือ ยังคงมีความถี่เสียงอีกจำนวนมากซึ่งมีผลต่อการรับฟังดนตรี แต่กลับไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในรูปแบบซอฟท์แวร์ต่างๆ อาทิ แผ่นซีดี หรือการส่งเพลงผ่านระบบสตรีมมิ่ง ยกตัวอย่างระบบซีดี 16 บิต 44.1 kHz ทั้งหลาย ก็ยังเก็บรายละเอียดดนตรีจริงมาไม่ได้ทั้งหมดนั่นเอง

            ความถี่ต่างๆ เหล่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นย่านความถี่สูง-ความถี่เหนือสูง ความถี่ต่ำลึก ที่มีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย ฮาร์โมนิคอันมีผลต่อการรับฟัง หรือสร้างอารมณ์ในการฟังเพลงกับเราได้มากกว่าระบบ 16 บิท ที่ใช้เป็นมาตรฐานฟอร์แมตช์ CD Philips + Sony ในปัจจุบัน

            หลักการของ MQA ก็คือการใช้เทคโนโลยีในการ “เข้ารหัส” ข้อมูลรายละเอียดสูงที่มีอยู่ทั้งหมด ไปพร้อมกับการบันทึกเสียง แล้วไปทำการ “ถอดรหัส” ในขณะ play back

            ต้นทางหรือสตูดิโอ ต้องบันทึกเข้ารหัสแบบ MQA และปลายทางผู้บริโภค ก็จะต้องมีระบบถอดรหัส MQA ด้วย จึงจะได้คุณภาพเสียงแบบไฮเรสที่บันทึกมาได้ครบถ้วน

            เป็นเรื่องปกติธรรมดา เมื่อมีการเข้ารหัส (encoding) ก็ต้องมีการถอดรหัส (decoding) ในแบบเดียวกัน

            แต่ที่ผ่านมา ระบบที่เป็นไฟล์ Hi-Res มักจะใช้วงจร สุ่มสลับ กรองความถี่ ยุ่งเหยิงวุ่นวายหลายระดับในระบบ Digital Audio

            ระบบ MQA ทำให้ง่ายขึ้นได้อย่างไร เพราะแต่เดิมมา SACD HDCD ก็ค่อนข้างจะล้มเหลวในการนำเสนอฟอร์แมตช์ที่สลับซับซ้อน มีวงจรกรองดิจิตอลวุ่นวายหลายขนาน และที่สุดคือแผ่นมีราคาสูงต่อผู้บริโภค

            คือทาง MQA เป็นเทคนิคใหม่ ที่โละวิธีการเข้ารหัสแบบเดิมทิ้งไปเลย โดยการเข้ารหัสแบบ MQA ใช้ระบบการสุ่มสัญญาณแบบใหม่ ที่ช่วยลดปริมาณการกรองสัญญาณลง ลดความซับซ้อนทางเทคนิคแบบดั้งเดิม และช่วยให้คุณภาพเสียงดีขึ้น แถมป้องกันการถูกก็อปปี้ได้ด้วย ด้วยวิธีการ “ฝังข้อมูล” Hi-Res Audio ลงไปในไฟล์เพลง อาทิ ไฟล์ FLAC ที่ 44.1 kHz (ซีดีฟอร์แมตช์) หรือ 48 kHz (กรณีส่งเป็นไฟล์ )

            ถ้าเครื่อง DAC ปลายทางในการเพลย์แบ็คของผู้บริโภค มีตัวถอดรหัส MQA ก็จะได้ฟังคุณภาพเต็มๆ จาก Studio แบบไฮเรส แต่ถ้าไม่มีตัวถอดรหัส MQA ก็ยังเล่นแผ่นได้ แต่จะได้ฟังแค่ไฟล์ธรรมดาๆ

            ความน่าสนใจคือไฟล์แบบ MQA ที่ฝังมากับแผ่น CD-MQA หรือไฟล์ในระบบสตรีมมิ่งเป็น Hi-Res Audio ที่มีไฟล์รายละเอียดสูง ตั้งแต่ 24bit/96kHz ไปจนถึง 32bit/352.8kHz ขึ้นกับสตูดิโอที่บันทึกเสียงมาให้เราจะใจดี ปล่อยมาให้เราขนาดไหน (รวมถึงไฟล์สตรีมมิ่งด้วย)

            และด้วยเทคโนโลยีอันชาญฉลาด ผู้ที่เล่นระบบเครื่องเล่นซีดีทั่วไป ที่ซื้อแผ่นซีดีแบบMQA มา จึงไม่ต้องกังวล เพราะคุณสามารถเล่นแผ่น ได้ตามปกตินั่นเอง 

            ระบบนี้ทำให้ผมนึกถึง HDCD (High Definition Compatible Digital) ในอดีต ที่ฝังบิตเรต อีก 4 บิต เข้าไปในแผ่นซีดี 16 บิต ซึ่งถ้าต้องการระดับเสียง 20 บิต ก็ใช้เครื่องเล่นซีดี Player ที่มีตัวถอดรหัส DAC แบบ HDCD

            ทีนี้หลายท่านอาจอยากใช้ เครื่องเล่นซีดีธรรมดาของเราที่ไม่มีตัวถอดรหัส MQA มาใช้ฟังให้เป็น MQA Hi-Res มันก็มีวิธีอยู่ครับ ด้วยการใช้ช่อง Digital Out ของเครื่องเล่นซีดี นี่แหละครับ

            นั่นคือนำ External DAC ภายนอกที่มีชิปถอดรหัส MQA มาต่อใช้งาน โดยเราใช้ช่องCoaxial หรือ Optical จากเครื่องเล่นซีดีของเรา ส่งออกไปให้ DAC ดังกล่าว นำไปแปลงรหัส แค่นั้นเองครับ

            และที่สะดวกมากยิ่งขึ้นว่านั้น เราแค่ซื้ออินทิเกรเต็ดแอมป์ ที่มี DAC ถอดรหัส MQA ในตัวมาใช้ก็ยิ่งสะดวกครับ อาทิ ROTEL RA6000

ตัวอย่างเครื่องเสียงตัวเด่นๆ ที่เล่นกับระบบ MQA ในปัจจุบัน เช่น

– Moon 390 ปรีแอมป์ และDAC MQA

– เครื่อง DAC Mytek Brooklyn DAC+

– เครื่องเล่นซีดี Audiolab 8300 CDQ

– เครื่องเล่นซีดี LUXMAN D-03X

– Bluesound NODE 2i DAC for Tidal MQA

– SMSL M500 MQA DAC

            สำหรับคนเล่นสตรีมมิ่งกับเครื่องเสียงของผู้ผลิตอย่าง NAD และ Bluesound เครื่องรุ่นใหม่ เขามีการอัพเดทเฟิร์มแวร์เพื่อรองรับระบบ MQA แทบทุกรุ่นแล้วละครับ

            ค่ายเพลงญี่ปุ่น ยูนิเวอร์แซลมิวสิก เป็นรายแรก ที่ปล่อยอัลบั้ม MQA-CD ออกมาหลายอัลบั้ม รวมทั้งค่ายอื่นๆ ด้วย ท่านใดสนใจก็ลองเสิร์ชหาดูครับ

            ผมเห็นร้าน CAP Music สั่งนำเข้ามาหลายเบอร์ รวมทั้งค่ายเพลงไทย อย่างเปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า, Zonic Records และ ใบชา Song ก็เริ่มผลิต MQA-CD ออกมา แล้วนะครับ

            ผมยังไม่สามารถบอกได้ว่า ฟอร์แมต MQA จะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน (แต่เสียงมันละเอียดกว่า CD ปกติทั่วไปแยะ) อีกทั้งบรรดาเครื่องเล่นที่เป็น DAC ก็มักจะอยู่ในตลาด Streaming เสียเป็นส่วนใหญ่

            คงต้องรอดูกันอีกซักระยะหนึ่งกับการพัฒนาว่าจะมีการเอื้อเฟื้อมาให้คนเล่นแผ่นได้สะดวกยิ่งขึ้นขนาดไหนครับ

            ต้องการอ่านบทความรายละเอียดเรื่อง MQA มากกว่านี้ แนะนำบทความที่ Conice ครับ   https://conicelife.wordpress.com/2016/09/26/mqa-คืออะไร-ทำไมวงการเครื่/

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here