ศิลปะในการแมตช์เครื่องเสียงและลำโพง

0
3536

ศิลปะในการแมตช์เครื่องเสียงและลำโพง

          ประสบการณ์จากการเล่นเครื่องเสียงของผมที่ยาวนานหลายสิบปี คงพอจะสรุปได้ว่า ในเรื่องของเครื่องเสียงที่สำคัญมีอยู่สองเรื่องนั่นก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบเครื่องเสียง และศิลปะในการแมตช์ชิ่งเครื่องเสียงและลำโพงเข้าด้วยกัน  ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอันสำคัญที่สุดของนักเล่นเครื่องเสียงทั่วไป

           แม้ว่าผู้ผลิตเครื่องเสียงทั่วโลกจะได้พยายามสร้างมาตรฐานทางไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เครื่องเสียงต่างยี่ห้อ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์เท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเราจะพบเห็นได้จากการระบุค่าความต้านทานเฉลี่ย ความไวของลำโพง กำลังขับของแอมปลิไฟร์ ที่มีข้อกำหนดมาตรฐานใกล้เคียงกัน

            แม้ว่าผู้ผลิตเครื่องเสียงทั่วโลกจะพยามสร้าง “มาตรฐานกลาง” เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทั่วโลกสามารถแมตช์เข้าด้วยกันโดยปราศจากปัญหา แต่ในความเป็นจริงมันก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เราคิดเสมอไป

            เมื่อนักเล่นเครื่องเสียงจากระดับมิดเอ็นด์ถึงไฮเอ็นด์ แสวงหาคุณภาพเสียงที่ดีและลงตัว พวกเขากลับพบว่าศิลปะในการแมตช์เครื่องเสียง กลับไม่สามารถเรียนรู้ได้จากทฤษฎีทางไฟฟ้าเพียงประการเดียว

            และเราพบเสมอว่ามีเครื่องเสียงและลำโพงหลายแบรนด์ต่างไม่สามารถไปด้วยกันได้เลยทั้งทั้งที่มีความแมตช์ชิ่งทางไฟฟ้าค่อนข้างที่จะดีมากก็ตาม  

            ด้วยประสบการณ์ของผม สรุปว่าต้องทดลองแมตช์เครื่องเสียง – ลำโพง มาเซ็ตอัพและใช้งานคู่กันเพียงประการเดียวเท่านั้น จึงจะรู้ว่า ทุกอย่างสามารถเข้ากันได้อย่างราบรื่นหรือไม่อย่างไร

            เมื่อประมาณปี 2530 ผมเริ่มนำเสนอ “การจัดชุดเครื่องเสียง” เป็นบทความลงในนิตยสาร โดยอาศัยประสบการณ์ ในการจับคู่ระหว่างลำโพงและแอมปลิไฟร์ รวมทั้งแหล่งโปรแกรมเข้าด้วยกัน ซึ่งนับว่าเป็นการเรียนรู้ความจริงจากภาคปฏิบัติ แล้วนำมาสร้างข้อสมมุติฐานว่า เครื่องเสียงลักษณะบุคลิกใด เข้าคู่กับลำโพงรุ่นและแบรนด์ใด จึงราบรื่นลงตัวอย่างสวยงาม

            แอมป์ที่เสียงโปร่งบาง สะอาด อาจจะเหมาะกับลำโพงเสียงอิ่มหนา หรือแอมป์ที่มีบุคลิกพิเศษบางอย่าง ก็สามารถกลมกลืนไปกับลำโพงที่มีคุณสมบัติเป็นระบบตู้ปิด ตู้เปิด ท่อระบายเบส ออกด้านหน้า หรือด้านหลัง ฯลฯ

            การทดสอบเครื่องเสียงที่ยาวนานกว่า 30 ปี ทำให้ผมมีประสบการณ์ แมตช์คู่ลำโพงและแอมปลิไฟร์ที่มากมายพอสมควร

            และไม่นานมานี้ การเซ็ตอัพลำโพง Harbeth Monitor 30.2 XD เข้ากับแอมป์ LFD Audio NCSE HR  ที่ห้องฟังของ The Wave Online โดยทีม Sound Box ดูจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่ากล่าวถึงอย่างยิ่ง แน่นอนว่าความพยายามเซ็ตอัพเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้ชุดซิสเต็มเครื่องเสียงเปล่งประกาย ส่งผลให้มีศักยภาพสูงสุดได้

            ทว่า ความแมตช์ลงตัวระหว่าง Harbeth และ LFD ดูจะเป็นเหตุผลที่สำคัญ ของจุดเริ่มต้นมากกว่า

            พื้นฐานของ Harbeth Monitor 30.2 XD คือคุณภาพเสียงที่อิ่มเอิบสะอาดสะอ้าน เที่ยงตรงในฐานะลำโพงระดับมอนิเตอร์ที่ผ่านการพัฒนาจากรากฐานของ BBC  มาจนถึงสุดปลายทางของเทคโนโลยีลำโพงที่มีความผิดเพี้ยนต่ำสุด

            การใช้แอมปลิไฟร์ที่ดี จึงจะรู้ว่าลำโพงนั้นมีศักยภาพสุดยอดเพียงไร

            ที่ผ่านมาการแมตช์กับ NAT Audio แอมป์หลอดซิงเกิลเอ็นด์  เราคิดว่าเป็นการเข้าคู่กันที่ดีที่สุดอยู่แล้ว และไม่คิดว่าการใช้แอมป์ โซลิดสเตทอย่าง LFD จะสามารถมีอะไรที่เหนือไปกว่าได้

            แต่ในความเป็นจริง แอมป์ที่ดูเรียบง่ายเบสิก อย่าง LFD Audio เมื่อจับคู่กับ Harbeth กลับทำให้เกิดความประหลาดใจอย่างล้นเหลือ เพราะคุณภาพเสียงลงตัวเสมือนถูกจับคู่มาด้วยกันจากโรงงานผลิตเลยด้วยซ้ำ!!!

           ผมพยายามมาวิเคราะห์หาสาเหตุ ดูว่าเหตุใด จึงเป็นเช่นนั้น? เมื่อทดลองฟังภายในห้องทดสอบ และทำการ Live ผ่านไปทาง Facebook  ได้รับคำชมจากแฟนคลับทั่วประเทศว่า เสียงดีมาก

           บทสรุปในการแมตช์ชิ่งระหว่างลำโพง Harbeth Monitor 30.2 XD กับแอมป์ LFD Audio NCSE HR  ที่ห้องฟัง ของ The Wave Online  ก็คือทั้งแอมป์และลำโพงมีความเที่ยงตรงในระดับสุดยอดด้วยกันทั้งคู่นั่นเอง

           เมื่อลำโพงที่มีเสียงสะอาด หรือ Clean อย่างมาก และแอมป์ที่ Clean เช่นเดียวกัน มาจับคู่ผสมผสาน จึงกลายเป็นความลงตัวที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ทั้งคู่เสมือนซิสเต็ม “Reference” มีการทำงานสอดประสานกลมกลืนเป็น “หนึ่งเดียว” เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าจะใช้เป็น มาตรฐานที่เราจะใช้เป็นแนวทางการแมตช์ซิสเต็มต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี

           ไม่น่าแปลกใจที่งานแสดงเครื่องเสียงระดับโลกมักนำเอา LFD Audio และ Harbeth มาจับคู่กันเสมอ

            นั่นคือคำตอบที่ว่า ความลงตัวในการแมตช์ชิ่ง ทั้งความเที่ยงตรง บุคลิก และศักยภาพของเครื่องเสียงนั้นสำคัญที่สุด ก็ต่อเมื่อได้นำเอาเครื่องเสียงและลำโพง ที่มีความสมดุลซึ่งกันและกันมาจับคู่นั่นเอง

            การจับคู่แมตช์ชิ่ง จึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยครับ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here