ชั่วโมงเรียนวิจิตร ออดิโอไฟล์ เช้านี้

aptX, aptX HD, AAC, LDAC มันคืออันใดฤา

            เห็นรหัสตัวอักษรตัวย่อแล้วก็มึนกันไปเรื่อย โดยเฉพาะวัยรุ่นอย่างผม และท่านที่อยู่กับอนาล็อกมาเสียจนขึ้นคานปานฉะนี้

            คราวนี้ผมขอหยิบยกเรื่อง aptX, aptX HD, AAC, LDAC มาเสวนาย่อๆ พอประดับกาย จะได้คุยกับเขารู้เรื่องบ้าง เดี๋ยวเด็กวัยรุ่นเล่นเครื่องเสียง เขาจะมาฮาลุงๆ เข้าให้

            ตัวรหัสอักษรพวกนี้คือรูปแบบการส่งสัญญาณการส่งไร้สาย บลูทูธ หรือ Bluetooth Codec

            อ่ะนั่น.. แล้วไง โควิด…เอ๊ย โคเด็ค มันคืออะไร ถามต่อ

           โคเด็ค มาจากคำเต็มว่า  Coder-Decoder หรือ Compressor-Decompressor อันหมายถึงรูปแบบของฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ที่ใช้ในการเข้า หรือถอดรหัสนั่นเอง

            จะว่าไปมันเป็นวิธีการบีบอัดและคลายข้อมูลอย่างหนึ่ง

            ไอ้เจ้าวิธีบีบอัดชนิดนี้ จะใช้รหัสกับแทร็กเสียงเพื่อส่งให้ได้ด้วยความรวดเร็ว ในการส่งไร้สาย ก็คือจะทำให้เราได้ของจากต้นทางมาถึงปลายทางอย่างครบถ้วนเท่าที่จะเป็นไปได้

            การเดินทางไปเชียงใหม่มีหลายวิธี จะนั่งรถโดยสารเริ่มต้นจากคลองตัน จะขับรถจากสนามหลวง หรือนั่งเรือล่องเจ้าพระยาไปต่อ แม่ปิง วัง ยม น่าน ดีที่สุดคือนั่งเครื่องจากสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ใช่ไหมครับ?

            ดังนั้น การใช้ Codec ก็เฉกเช่นกัน  มีวิธีการหลากหลายในการบีบอัด ส่งข้อมูล การจับคู่อุปกรณ์ไร้สาย ที่ได้ทั้งข้อมูลต่ำ และข้อมูลความละเอียดสูงได้ การส่งบลูทูธ ที่แตกต่างกันก็ใช้กับวิธีการและอุปกรณ์ต่างกันไปตามเวอร์ชั่นของมันด้วยครับ

           เพราะบริษัทต่างๆ ก็มีรูปแบบของตน ทั้งวิธีการเชื่อมต่อ รูปแบบการหน่วงของสัญญาณ (Latancy) ที่แตกต่างกัน โดยที่พื้นฐานของบลูทูธแต่แรกกำหนดว่า ระบบของเขาจะต้องรองรับโค้ดสัญญาณ SBC เป็นพื้นฐาน ชื่อเต็มยศมาตั้งแต่กำเนิดระบบ Bluetooth (คือ Low Complexity Subband Coding)

            และ Codec ที่นำเสนอกันขึ้นมา จะมี AAC ที่ทาง Bell Labs, Fraunhofer Society, Dolby, Sony และ Nokia ร่วมมือกันพัฒนา LDAC ของ Sony ที่หลายๆ บริษัทได้ใช้อยู่ และ aptX ของ Qualcomm, HWA ของบริษัทโทรศัพท์ HUAWEI

            แต่ละแบบมีวิธีการส่งสัญญาณไร้สายที่ให้คุณภาพรายละเอียดต่างกันไป

            ดุจดังธรรมมะ เมื่อมีปุจฉา ย่อมมีวิสัชนา มีถามแล้วต้องอธิบายดังเรื่องของระบบ ต่อไปนี้ครับ

            SBC (Low Complexity Subband Coding) เป็น Codec ที่พื้นฐานมาก ใช้ได้เกือบทุกอุปกรณ์ มี bit-rates ประมาณ 192-320 kbps ซึ่งให้เสียงระดับธรรมดา เหมือนว่าฟังรายละเอียดขนาด MP3

            ระบบ aptX พัฒนาโดย Qualcomm จะให้การรองรับเสียง 48 kHz / 16 bit LCPM (352 kbps) เอาเป็นว่าเทียบเคียง กับแผ่น CD แต่ก็ยังด้อยกว่าตามสมควรนะครับ เมื่อนำมาส่งแบบไร้สาย

            ระบบ aptX HD เป็น Codec ที่มีการพัฒนาต่อยอดให้เล่นไฟล์ แบบไฮเรส ได้ที่ 48 kHz / 24 bit LCPM (576 kbps) ได้ ซึ่งการรับรายละเอียดเพิ่มขึ้นมากกว่า ระบบ AptX อย่างชัดเจน

            ระบบ AAC (Advance Audio Coding) เป็นมาตรฐานที่พัฒนามาแบบให้ใช้กันโดยแพร่หลาย ทั่วไป เช่น YouTube, PlayStation และอุปกรณ์ iOS ของแอปเปิลด้วย มี รายละเอียดบิตเรตอยู่ที่ 250 kbps ค่อนข้างจะต่ำไปสักหน่อยสำหรับการฟังเพลงในแบบออดิโอไฟล์

            ระบบ LDAC เป็นมาตรฐานที่คิดค้นโดย Sony ระบบนี้สามารถส่งสัญญาณเสียงระดับ ไฮเรส 96 kHz / 24 bit และสูงสุดที่ 990 kbps นับว่ารายละเอียดสูงมากกว่า รูปแบบ Codec อื่นๆ

            แต่ก็อย่างว่าละครับ รูปแบบโคเด็คนี้ ใช่ว่าการมีรายละเอียดที่สุด ต้องดีและเหมาะที่สุดกับการใช้งานเสมอไป มันจะต้องประกอบด้วย ความหนาแน่นของสัญญาณ คุณภาพของไฟล์เพลง คุณภาพวงจรของตัวรับและตัวส่งเช่นโทรศัพท์มือถือ และหูฟัง ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ดังนี้เป็นต้น

           คุณภาพของการส่งสัญญาณบลูทูธ (Bluetooth) หรือที่ผมชอบแซว เป็นการส่วนตัวว่า “ฟันสีฟ้า” นั้น ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ ที่พัฒนาโดยบริษัทเครื่องเสียงและอุปกรณ์สื่อสาร ถึงแม้ว่าจะสามารถรองรับรายละเอียดไฟล์ ได้สูงสุดแค่ไหนก็ตาม

            เราก็พบกันเสมอว่าอุปกรณ์หูฟัง และสมาร์ทโฟนรุ่นที่มีราคาแพง คุณภาพสูงมีคุณสมบัติที่ดี ก็จะได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่ารุ่นถูกด้วยเสมอ

            ในการเข้าเรียนภาคเช้า ของนักศึกษา วิจิตรออดิโอไฟล์ก็หมดชั่วโมงเรียนพอดี พบกันชั่วโมงถัดไปครับผม!

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here