ชวนท่านมาฝึกหู  

          ควรเล่นซับวูฟเฟอร์ในระบบฟังเพลง 2 แชนแนลหรือไม่? และต้องเซ็ตอัพอย่างไร (ภาคแรก)

           มีคำถามซ้ำๆ กันในเรื่องการเล่นเครื่องเสียงแบบ 2 แชนแนล ว่าสมควรจะเล่นซับวูฟเฟอร์หรือไม่ อย่างไร จึงขออนุญาตนำมาตอบไปพร้อมๆ กันดังนี้เลยนะครับ

🔘 แต่ก็ขอตอกย้ำว่าเป็นทรรศนะส่วนตัว

          การเล่นเครื่องเสียงแนวออดิโอไฟล์-มิวสิกเลิฟเวอร์นั้น อาจจะแตกต่างไปจากระบบชมภาพยนตร์มัลติแชนแนล ที่มีการกำหนดทิศทางและแชนแนลเสียงจากระบบ Dolby มาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้วว่า จะต้องมีช่องเสียงความถี่ต่ำลึกพิเศษ หรือช่อง .1 แชนแนล

          ระบบปัจจุบันโฮมเธียเตอร์จึงเป็น 5.1, 7.1 ดอลบี้ดิจิตอลพื้นฐาน และ 5.1.2, 7.1.2 หรือ7.1.4 ระบบดอลบี้แอทมอส นั่นขึ้นกับจำนวนแชนแนลที่ใช้งานตามที่ระบบ “กำหนดไว้”

          ในขณะที่การเล่นเครื่องเสียงโฮมออดิโอแบบ Stereophonic ไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่าจะต้องมีช่องเสียง Sub-Woofer ระบบการมิกซ์เสียงของสตูดิโอก็ไม่ได้สร้างแชนแนลพิเศษนี้มาตั้งแต่การบันทึกเสียงในภาพยนตร์

          แต่การเล่นเครื่องเสียงสองแชนแนลนับแต่ยุคแรกๆ ก็ล้วนแต่ประสบปัญหาเรื่องความถี่สูงสุด 8-20KHz และความถี่ต่ำสุด 200-20Hz เสมอมา

          เราในฐานะออดิโอไฟล์วิเคราะห์กันมาตลอดก็คือ เราจำเป็นต้องเสริมเพดานความถี่ด้านบนสุด กับด้านล่างสุดหรือไม่?

           สำหรับส่วนตัวผม หลัก 3 ประการในการพิจารณาเบื้องต้นคือ

• หนึ่ง หูมนุษย์เรานั้นดื้อความถี่ต่ำมากกว่าความถี่อื่น หรือพูดง่ายๆ ก็คือได้ยินความถี่ต่ำน้อยกว่าความถี่อื่น ในระดับความดังที่เท่าเทียมกัน

สองหูมนุษย์เรามักจะดื้อต่อการได้ยินความถี่ต่ำลึกและสูงสุดอยู่เสมอ เพราะความสามารถในการได้ยินความถี่เสียงช่วงปลายต่ำ และปลายสูงสุดจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามอายุ

• สอง ในแง่หลักจิตวิทยาการได้ยิน Psychoacoustics

          นักวิจัยกลุ่มแรกเคยศึกษาวิจัยเรื่องการได้ยิน พบว่าหูคนเราจะขาดความไวต่อเสียงเบส หรือความถี่ย่านต่ำ กราฟที่เห็นนี้แสดงถึงผลดังกล่าว โดย Fletcher และ Munson (เรียกตามชื่อนักวิจัยกลุ่มแรก)

           ดูง่ายๆ ตามกราฟ  คือถ้าจะให้หูมนุษย์เราได้ยินเสียงที่แฟลตทุกย่านความถี่จะต้องยกระดับเสียงต่ำให้สูงขึ้นกว่าความเป็นจริง (ดูจากเส้นเคิร์ฟ)

          ปัจจุบันนั้นได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทดสอบจนได้รับมาตรฐานสากล (ISO 226) โดย Robinson และ Dadson ซึ่งจะถือว่าเป็นหลักในการพิจารณาการตอบสนองความถี่ของมนุษย์อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

           ผลสรุปดังกล่าว ที่แสดงให้เห็นผลการทดสอบง่ายๆ คือ

           ที่ความถี่ต่ำ 20Hz เราจะต้องยกระดับความดังให้สูงกว่าระดับเสียงกลางที่ 1kHz มากขึ้นไปถึง 58dB ‼️

          หรือต้องเร่งความถี่ต่ำสุดถึงเกือบ 20 เท่า จึงจะได้ยินความถี่ต่ำได้เทียมเท่ากับความถี่กลาง ที่มนุษย์มีความไวต่อการได้ยินที่สุด

           นี่เป็นสาเหตุแรกที่ทำให้นักเล่นเครื่องเสียงส่วนมากจะรู้สึกขาดความถี่ต่ำเสมอ แม้ว่า ระบบเครื่องเสียงและลำโพงชั้นดีทั้งหลายจะพยายามสร้างผลการตอบสนองความถี่ได้อย่างราบเรียบเสมอกันแล้วก็ตาม

• สาม สเกลเสียงที่ถูกมองข้าม

           ประการต่อมา สิ่งที่ควรทำความเข้าใจให้มากที่สุดก็คือ ระบบเครื่องเสียงและลำโพงที่ใช้อยู่ในบ้านทั้งหลายนั้น แม้จะถูกออกแบบมาอย่างดี แต่สเกลของเสียงดนตรีก็คงไม่สามารถให้ระดับความดัง, ค่าไดนามิคเร้นจ์ และการตอบสนองความถี่ได้เท่าดนตรีจริง (ซึ่งแสดงอยู่ในคอนเสิร์ตฮอลล์ หรือสถานที่แสดงดนตรีจริง)

           ลำโพงที่มีขนาดเล็กแบบ Bookshelf ทั้งหลาย มักให้สเกลเสียง เมื่อเปรียบเทียบดนตรีจริงนั้น แตกต่างเป็นอย่างมาก แม้แต่ลำโพงตั้งพื้นที่มีขนาดใหญ่ก็ยังไม่อาจให้สเกลเสียงเท่าดนตรีจริงได้

           ลำโพงที่ใช้อ้างอิงในสตูดิโอของ BBC อย่างเช่น LS3/5A จึงเป็นลำโพงที่กำหนดค่าสเกลเสียงเอาไว้ต่อดนตรีจริงที่หนึ่งต่อแปด (1:8)

           นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่า ถ้าเราจะให้ทุกย่านความถี่ และค่าไดนามิคเร้นจ์สมจริง ต้องใช้ลำโพงและระบบที่มีขนาดใหญ่มาก

          ลำโพง Bookshelf ขนาดเล็กทั่วไปก็มักจะขาดเสียงต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

          เรามาลองดูสเป็คซิฟิเคชั่นของลำโพงขนาดกลาง อันเป็นที่นิยมทั่วไป อย่าง B&W รุ่น 606 S3 ที่ตอบสนองความถี่ได้ 52Hz – 28kHz ±3dB

          หรือลำโพง BBC LS3/5A ตอบสนองความถี่ได้ 70Hz – 20kHz ±3dB

          พบว่าความถี่ต่ำลงลึกลงไปไม่สุดจากการวัดค่าสเป็คจากโรงงานอยู่แล้ว

           ระบบลำโพงที่ให้เสียงดีที่สุดขนาดนี้ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องตัดย่านความถี่บางย่านทิ้งไป เพื่อให้การทำงานของตัวขับเสียง สามารถทำได้อย่างเต็มที่ตามที่สเป็คระบุ ไม่ให้เกิดการพร่าเพี้ยน

           ถ้าเราวิเคราะห์หรือคำนวณจากค่ามาตรฐานสากล (ISO 226) โดย Robinson และ Dadson ก็จะยิ่งพบว่าความไวต่อการได้ยินความถี่ต่ำของเรากับลำโพงขนาดเล็ก เมื่อได้นำมาใช้ในบ้าน เสียงต่ำจะยิ่งลดลงจากความเป็นไปจริงอีก

           ความต้องการความถี่ต่ำที่สมดุลกับความถี่อื่นนั้น จึงมีความเป็นไปได้ยากยิ่ง มีสองทางเลือกที่เป็นไปได้คือนักเล่นจะต้องยกระดับไปเล่นลำโพงรุ่นที่ใหญ่กว่า

          หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือเสริม Sub-Woofer เข้าไปในระบบ

🔘 หลักคิดในเรื่องสเกลเสียงดนตรี

           ในฐานะออดิโอไฟล์ซึ่งต้องการทั้งความเป็นมิวสิกเลิฟเวอร์ และการเล่นเครื่องเสียงที่พยายามถ่ายทอดความสมจริงจากการบันทึกเสียงของ Studio ให้คืนมาสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

           ถ้าจะต้องเสริมซับวูฟเฟอร์ คุณจะต้องเพิ่ม มากหรือน้อยเพียงไร? อันนี้ผมอยากให้นึกถึงสเกลเสียงดนตรีครับ

          ในการแสดงดนตรีในคอนเสิร์ตฮอลล์ เราจะพบว่ามีเครื่องดนตรีประเภทดีด-สี-ตี-เป่า-เครื่องเคาะจังหวะนั้น เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะมีสเกลเสียงเป็นของตนเอง

           ทั้งคาแรกเตอร์ เสียงแรก เสียงหลัก และโอเวอร์โทนที่ไม่เหมือนกัน

           เสียงไวโอลินแตกต่างไปจากเปียโน ดับเบิ้ลเบส-ปี่โอโบ-กีตาร์-ตรัมเปท กลองทิมปานี เป็นต้น เสียงมีสเกลขนาดใหญ่เล็ก แตกต่างกันไป นี่คือสิ่งที่เราเห็นและได้ยินอย่างชัดเจนในธรรมชาติของเสียงดนตรี

          ถ้าจะย่อส่วนหรือสเกลเสียงดนตรีทั้งหมดให้มาอยู่ในห้องฟังเพลง สัดส่วนเดิมที่ย่อมานั้นก็จะต้องคงอยู่ โดยไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

           ผมสมมติให้เห็นง่ายขึ้นอีกเล็กน้อย ถ้าเราจัดตะกร้าใส่ผลไม้ มีทั้งเงาะ มังคุด สับปะรด องุ่น มะละกอ และอื่นๆ รวมกันอยู่ในหนึ่งตะกร้า

           เราเห็นแล้วว่าสัดส่วนของผลไม้แต่ละชิ้นเป็นอย่างไร นักวาดภาพก็คงไม่วาดให้องุ่นใหญ่กว่าสับปะรด หรือวาดให้มะละกอเล็กกว่ามังคุดเป็นต้น

🔘 ดังนั้นการเล่นเครื่องเสียงโดยการเสริม Sub-Woofer เข้าไป ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาดังเหตุผลหลายหลายข้อที่กล่าวมา

           เพียงแต่ว่าเราควรพิจารณาให้สเกลของเสียงเบสนั้นไม่เกินความถี่ของดนตรีชิ้นอื่นๆ เช่นเสริมกระทั่งจนเบสมีปริมาณล้ำหน้าเกินสเกลดนตรีจริง หรือท่วมทับเสียงในย่านความถี่อื่น

          เสียงเบส หรือย่านความถี่ต่ำที่มักจะขาดหายไปในระบบเสียง ถ้าเราเสริมซับวูฟเฟอร์เข้าไปอย่างมีหลักการและสามารถเซตอัพได้ดีก็จะทำให้ระบบเครื่องเสียงของคุณมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น

           อีกทางหนึ่งถ้าคุณเลือก ที่จะไม่เล่นซับวูฟเฟอร์

           แต่ต้องการขยับตู้ลำโพงในโมเดลขนาดเล็กให้เป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ขึ้น ก็เป็นอีกวิธีทางหนึ่ง ในการค้นพบเสียงเบสที่ดีขึ้นกว่าเดิม

           ส่วนท่านที่ต้องการเสริมซับวูฟเฟอร์ อาจมีความจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเซ็ตอัพโดยพื้นฐานซึ่งผมจะมานำเสนอต่อไปในภาคที่สองโปรดติดตามนะครับ