ชวนท่านมาฝึกหู ภาคพิเศษ

ตอนเซ็ตอัพลำโพงให้มีเสียงทุ้มสมดุลกับย่านความถี่อื่น

           ก่อนอื่นต้องกราบขออภัยอย่างสูงนะครับ ที่ผมทำให้บทความชิ้นนี้ล่าช้าเกินจำเป็น อันเนื่องจากภารกิจส่วนตัว อย่างไรก็ตามบทความซึ่งเป็นหลักปฏิบัติเฉพาะตัวผมเองนั้น คงไม่อาจใช้เป็นหลักยึดใดๆ ได้ เนื่องจากไม่ได้อ้างอิงวิชาการ ดังนั้นถือให้เสมือนเป็นการแชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกันจะเหมาะกว่า

           การเซ็ตอัพลำโพงในหลักการแบบบ้านๆ ที่ได้มาจากหลักปฏิบัติของผม ที่เรียกอย่างขำๆ ว่า “หลักกู” ดังที่เรียนไว้นี้ ขอกล่าวไว้เป็นเบื้องต้นว่า

  1. แต่ละห้องฟัง แต่ละลำโพง ปรับหาความสมดุลจากการเซ็ตอัพได้ แต่จะไม่สามารถปรับลำโพงเสียงเลวให้เสียงดีขึ้นมาได้

            แต่ถ้าขาดความพยายามความตั้งใจจริง เซ็ตตำแหน่งแค่พอผ่านๆ ไป ลำโพงเสียงดี ก็อาจจะกลายเป็นเสียงเลวได้ อันนี้จึงเป็นคำเตือนเพื่อให้ทุกท่านพยายามมากขึ้น และคิดทบทวนหาเหตุผลเสมอๆ ครับ

2. ทุกครั้งที่เซ็ตอัพ ควรมีสมุดจดบันทึกให้คะแนน ถึงการขยับเซ็ตอัพลำโพงของเราว่า พอใจแค่ไหนอย่างไร เพราะการขยับแต่ละครั้ง มีได้ มีเสียครับ เมื่อได้จุดที่สมดุลที่สุดแล้ว จึงจะถือว่ากระบวนการยุติ

            ที่ต้องมีสมุดบันทึก คอยจดให้คะแนน ก็เพราะว่าสมองคนเราไม่สามารถจดจำได้ทุกสิ่ง เมื่อเวลาผ่านไปเราก็อาจจะลืมได้ครับ

            หัวข้อที่ท่านต้องให้คะแนนในแต่ละจุดของการเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพง โดยคะแนนเต็มหัวข้อละ 10 คะแนน อย่างน้อยมี 8 หัวข้อ มีดังต่อไปนี้

2.1 ความถี่สมดุล หรือโทนัลบาลานซ์ ที่จะต้องไม่มีเสียงใดเสียงหนึ่งล้ำหน้ากันเกินจริง ต้องทำให้เรารับรู้ความเป็น Natural Sound ให้ได้

2.2 รายละเอียดเสียง (Detail) มาก-น้อยกว่ากัน

2.3 อิมเมจ (Image) การแสดงจุดตำแหน่งชิ้นดนตรี แม่นยำ หรือคลุมเครือ

2.4 เวทีเสียง (Soundstage) ความกว้างลึกของเวทีเสียง เพดานเสียงด้านบนที่แสดงมิติเสียงหรือ Dimension

2.5 ทรวดทรงของดนตรี (Contour) และเสียงร้องสมจริงหรือไม่อย่างไร

2.6 พลังความพั้นช์ ไดนามิค และไดนามิคเร้นจ์ มาก-น้อย หรือพอดี

2.7 ฮาร์โมนิคเสียง ตรงนี้หมายถึงเสียงดนตรีทุกชิ้นที่มีการบันทึกมาจากสตูดิโอ จะมีความถี่ซ้ำซ้อนที่เกิดจากโอเวอร์โทนของดนตรีชิ้นนั้นๆ เสมอ

            ยกตัวอย่างคือ ความถี่ที่ต่ำที่สุดเมื่อเกิดขึ้น (Fundamental frequency) และมีความถี่ที่สูงกว่า 1 เท่า จาก Fundamental Frequency เดิม ก็คือ ฮาร์โมนิค ที่ 1

            และความถี่ที่สูงกว่า 2 เท่า เรียกว่า ฮาร์โมนิค ที่ 2 ตามลำดับ ไล่เรียงกันไป สิ่งเหล่านี้จะไม่เหมือนเสียงเอคโค่

            แต่จะเป็นการแสดงความอิ่มเอมของเสียง ที่แสดงตัวตน เอกลักษณ์ ของการบรรเลงเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ

2.8 ความสอดคล้อง ช้า-เร็ว ของจังหวะเสียง ที่ฟังแล้วลงตัว ไม่ดูขัดแย้งกัน

           สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการจดบันทึกไว้ในการเซ็ตอัพแต่ละจุดตำแหน่ง เพื่อประเมินคุณภาพเสียงที่ได้ว่าเราจะยอมรับจุด ตำแหน่ง ใดมากที่สุด

3. การเซ็ตอัพลำโพง จุดตำแหน่งที่วางลำโพงแต่ละจุดต้องมั่นคง ไม่เกิดไวเบรชั่นอ่อนไหวที่ทำให้ลำโพงขยับตัวได้เมื่อเปล่งเสียง ลำโพงวางขาตั้ง หรือวางพื้น ต้องมี Spike จานรองที่ดี เพื่อลดจุดสัมผัสกับพื้นให้เหลือน้อยที่สุด

4. การตีเส้น เพื่อวัดพื้นที่ ตีตารางบนพื้นด้วยเทปกระดาษ เพื่อแบ่งสัดส่วนเพื่อวัดถึงความแม่นยำ ในการเซ็ตอัพจุดตำแหน่งลำโพง จะทำหรือไม่ทำ ขอให้อยู่ในดุลพินิจแต่ละท่าน

            ส่วนตัวผมในบางครั้งจะไม่ตีตารางบนพื้น บางครั้งจะตีตารางบนพื้น ขึ้นกับสถานการณ์ และความอ่อนไหวของลำโพงและห้องฟัง

            แต่ที่แน่ๆ คือต้องใช้เครื่องมืออย่างน้อย คือตลับเมตร วัดสัดส่วนทุกครั้งในการจัดการ ความกว้างลึก ระยะห่างผนัง- ลำโพง กับลำโพงซ้าย-ขวา

            และยังต้องวัดความสมดุลด้วยลูกน้ำช่วยวัดระดับเฉลี่ยการตั้งลำโพงในแนวดิ่งทั้งสี่มุมของตู้ลำโพงแต่ละตู้ มิให้เอียงลาดไปทางด้านใดด้านหนึ่งอย่างเด็ดขาด

           อย่างไรก็ตาม การวาดหรือตีเส้นตำแหน่งด้วยเส้นตารางเทปกระดาษบนพื้นห้อง (ที่นิยมปฏิบัติกันของนักเซ็ตอัพ) จะช่วยนำทางให้วางลำโพงซ้ายและขวาสมดุลง่ายกว่า ช่วยในการบันทึก ในการขยับแต่ละครั้งจะได้ไม่ผิดพลาด สามารถบันทึกการเปลี่ยนแปลงแต่ละจุดSetup ได้ง่ายขึ้น

            และเมื่อเซ็ตจนได้ตำแหน่งที่ดีที่สุดแล้ว ควรรื้อเส้นเทปกระดาษ ที่ลากไว้บนพื้นออกให้หมด‼️

            เพราะสิ่งที่เหลืออยู่บนพื้น อาจจะส่งผลรบกวนสายตา ทำให้เสียสมาธิในการดื่มด่ำกับเสียงเพลงครับ

5. การแบ่งสัดส่วนห้องออกเป็น 3-5 ส่วน เพื่อหาจุดตำแหน่งวางลำโพง จำเป็นหรือไม่?

            หรือวางลำโพงในจุดที่พอใจโดยไม่ยึดหลักการแบ่งสัดส่วนห้อง จะดีกว่า?

            อันนี้อยากให้ทุกท่านปฏิบัติมาจากสิ่งที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเองครับว่า จะเริ่มจากตรงไหนตามที่เคยปฏิบัติมา

            ไม่มีอะไรขีดคั่น อยากให้ขึ้นกับความถนัดของแต่ละท่าน หรือสิ่งที่ท่านเรียนรู้มาจากคำแนะนำ การอบรมของกูรู ตำรับตำรา ที่เหมาะสมกับแนวทางของแต่ละท่านมากกว่า เริ่มตรงไหนก็ตาม แต่ที่สุดเราจะไปบรรจบที่จุดเดียวกันคือ

            การเซ็ตอัพ = ความถี่ที่บาลานซ์

            สำหรับหลักและวิธีการของผม เป็นหลักปฏิบัติจริง มาจากประสบการณ์ ซึ่งจะขอเริ่มจากภาพประกอบ 2A เป็นสำคัญ ต้องการให้ท่านขยับตำแหน่ง ด้วยการทดสอบฟังจากอัลบั้มเพลงที่คุ้นเคยไปจนกว่าจะลงตัวและพึงพอใจครับ

            ถ้าต้องการเสียงเบส สมดุล ในการเซ็ตอัพ อย่าลืมมุมห้องซ้ายขวา ที่เป็นมุมฉาก 90 องศา ต้องลดจุดพร่าบวมของเบส ตรงจุดนี้ด้วย Tube Trap ครับ (ดังปรากฏในภาพ 2A) จะช่วยได้มากครับ

6. สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือ การเซ็ตอัพใดๆ ต้องทำให้ตัวเราเองพอใจมากกว่าให้คนอื่นพอใจ

            ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกคือเสียงที่ดังเฉลี่ยในการฟังเพลงภายในห้อง

• เราฟังเพลงด้วยความดังเฉลี่ยระดับใดในห้องฟัง ก็จะต้อง Set up ด้วยความดังนั้น ตลอดการเซ็ตตำแหน่ง อย่าลืมความข้อนี้เด็ดขาดครับ เพราะความดังจะมีผลต่อการเซ็ตอัพอย่างแน่นอน

• การเซ็ตอัพ ไม่เฉพาะตำแหน่งวางตู้ลำโพง แต่ “ระยะนั่งฟัง” จะมีผลต่อความเข้มของเสียง ที่เหมาะสมกับเราด้วย บางครั้งต้องกำหนดจุดและขยับเข้าหากัน

• ระยะการวางของลำโพงห่างจากผนัง ทั้งผนังหลังและผนังข้างนั้น จะต้องสมดุลกับ “ระยะนั่งหรือตำแหน่งฟัง” ด้วยเสมอนะครับ

            ควรขยับตำแหน่งนั่งฟัง ตำแหน่งที่ 1-2-3 (ภาพ 2A) ให้เป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว คือปลายจั่ว ต้องมีระยะมากกว่าระยะห่างของลำโพงทั้งคู่ ในอัตราส่วนประมาณ 1:1.2 – 1:1.5 (ลำโพงซ้ายขวาห่างกัน 1 ส่วน และจากระนาบลำโพงซ้าย-ขวา เราต้องนั่งห่างออกระนาบนั้นมา 1.25 – 1.5 ส่วน โดยประมาณ)

            ตรงนี้อาจจะขยับโซฟาที่นั่งฟังเพลงออก-เข้า ทีละ 2-6 นิ้ว ดูว่าตรงระยะห่างปลายยอดสามเหลี่ยมหน้าจั่วนั้น ควรเป็นตำแหน่งที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 มันจึงได้สมดุลที่ระดับความดังอันพอดีที่สุด

 • เทคนิคในการพิเคราะห์ ระยะห่างจากลำโพงถึงจุดนั่งฟัง ที่จะมีผลต่อทุกย่านความถี่โดยเฉพาะ ความลอยตัว และน้ำหนักของความถี่ต่ำ

• ให้พิเคราะห์ว่า เสียงทุ้มนั้นควรมีความเปลี่ยนแปลงคุณภาพเสียงน้อยที่สุด ในระหว่างที่ท่านนั่งเอน “หลังพิงโซฟา” และเมื่อโยกตัว มานั่งตัวตรงโดยหลังไม่ชิดติดโซฟา

• ให้ทดลองนั่งแล้ว สลับกันดูว่า เมื่อนั่งพิงหลังชิดโซฟา กลับการนั่งตัวตรงหลังไม่ชิดโซฟา เสียงเบสคงที่ดีที่สุดหรือไม่? ถ้าเสียงต่ำ ไม่แตกต่างจากกัน ก็แสดงว่าระยะห่างแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่วนั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้วครับ

            แต่ถ้าเสียงต่ำยังมีความแตกต่างกันมาก ก็แสดงว่าระยะของลำโพงและจุดนั่งฟังยังไม่สมดุลครับ

7. ระยะเซ็ตอัพเริ่มต้น

• ถ้าห้องฟังพื้นฐานที่มีขนาด 3×4 เมตร, 4×5 เมตร หรือ 4×7 เมตร ลำโพงวางขาตั้ง ลำโพงวางพื้นขนาดกลางทั่วไป ให้วางลำโพง ตำแหน่งแรกที่ประมาณการคร่าวๆ ก่อน คือลำโพงทั้งคู่ควรมีระยะห่างผนังหลัง 1 เมตร หรือมากกว่า (ในภาพ 2A คือระยะ A)

            จากภาพประกอบ 2A สมมุตว่าลำโพงทั้งคู่ห่างกัน เริ่มต้นที่ 1.80 เมตร (ระยะ Y1-Y2) แล้วจากนั้นให้ขยับระยะแคบลง หรือกว้างขึ้น ทีละ 1 เซนติเมตร (ท่านที่ประสบการณ์ของหู ยังไม่ไวพอเพียง จะเริ่มขยับทีละ 2 เซนติเมตรก็ได้)

• สิ่งที่ควรจำไว้เสมอคือระยะห่างของตู้ลำโพง จากผนังหลัง และผนังข้าง หรือระยะ A กับระยะB ต้องมีความแตกต่างกันให้มากที่สุด

• ดังนั้น สมมุติตามภาพประกอบ 2A ในห้องขนาดกว้าง 3 เมตร หากเราเซ็ตลำโพงห่างกันได้ 1.8 เมตร และลำโพงได้วางห่างผนังหลังออกมา 1 เมตร

            อัตราส่วนที่เหลือ ลำโพงซ้ายและขวา จะวางห่างผนังด้านข้างอยู่ที่ 60 เซนติเมตร โดยประมาณ

            ดังนั้นย่อมทำให้ระยะห่างของลำโพงจากผนังหลังและผนังข้างนั้นมีความแตกต่างกันได้มากที่สุดเกือบหนึ่งเท่าตัว นี่คือตัวอย่างที่ดีนะครับ

            เพราะเสียงที่ได้จะดีที่สุดหรือยัง? อาจไม่ทราบ แต่จะไม่มีความถี่ส่วนหนึ่งส่วนใดเกินขึ้นมามากนัก เรียกว่าเป็นการเริ่มด้วยทุกย่านความถี่มีความสมดุลแล้วครับ

• อัตราส่วนเหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามขนาดความกว้างของห้องด้วย ดังนั้นระยะห่างลำโพงต่อผนังหลังและผนังข้าง (ระยะ A และระยะ B) จะห่างเท่าใดก็ได้ แต่ควรจะต้องมีความแตกต่างกันให้มากที่สุดครับ

• เทคนิคการเซ็ตอัพหาความสมดุลของเสียงเบสกับความถี่อื่น

            โดยใช้ ระยะ X1-X2 เป็นการทดลองวางลำโพงซ้ายขวา ให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น คือชิดกันมากกว่าปกติ

• ในอัตราส่วนดังกล่าวนี้ ทำง่ายๆ ด้วยสมมุติว่า ให้มีการแบ่งความกว้างของห้องเป็น 5 ส่วน 

            สมมุติห้องกว้าง 3 เมตร ตรงนี้แบ่งเป็น 5 ส่วนแล้วจะได้แต่ละส่วนเพียง 60 เซนติเมตรเป็นจุดทดสอบเสียงเบสเริ่มต้น

            ดังนั้นระยะของการวางลำโพงซ้ายขวาอาจจะชิดกัน ทำให้เหลือระยะห่างน้อยกว่า 60เซนติเมตร เพื่อเป็นการเริ่มต้น จากนั้นทดลองฟังเสียงต่ำจากลำโพงว่า หนักแน่นเพียงไร 

            ตรงนี้พิเคราะห์ได้ว่า ลำโพงโดยส่วนใหญ่เมื่อวางกันใกล้ชิดกันที่ระยะห่างประมาณ 60เซนติเมตร ถึง 1 เมตร มักจะให้เสียงเบสที่รุนแรงทรงพลังได้มากกว่าการวางลำโพงห่างกันตามปกติที่ 1.5 – 2.5 เมตรอย่างแน่นอน

            แต่นั่น คือน้ำหนักเบสแรง แต่กระจุกตัวตรงกลางห้อง

• จากนั้นให้ลองขยับ ตำแหน่งลำโพงซ้าย และขวา ถอยห่างออกจากกันเรื่อยๆ

            คือจากจุด X1 ไปหาจุด Y1 และจากจุด X2 ไปหาจุด Y2 

            ฟัง พิเคราะห์ดูว่า เสียงเบสหนาขึ้น หรือเบสจางลง ตรงไหน และจุดใดที่จะสมดุลให้โทนัลบาลานซ์ดีที่สุด

            และมันจะเป็นจุด Y1-Y2 ที่สมบูรณ์ครับ

• อย่าลืม ขยับทีละ 1 -2 เซนติเมตร จนได้เสียงที่ดีที่สุดจากตำแหน่งนั่งฟังของท่าน

            อย่าให้ลำโพงชิดกันได้เบสแรงดี แต่อิมเมจในการแยกซ้ายขวาเสียหายนะครับ คือที่สุดแล้ว

            จากประสบการณ์ของผมในการเซ็ตอัพลำโพงนั้นพบว่าระยะห่างของลำโพงทั้งคู่โดยทั่วไป 1.8 เมตรถึง  2.50 เมตร ดูจะเป็นจุดที่สมดุลที่สุด ได้ความถี่ครบถ้วนและเสียงเบสที่อิ่ม กลางแหลมที่มีรายละเอียดครบถ้วน

            ส่วนจะมากน้อยกว่านี้ ต้องทดลองปรับขยับด้วยตัวของท่าน และในห้องท่านเอง

            ขอย้ำว่าสิ่งเหล่านี้ต้องฝึกฝนฟังด้วยตนเอง และเซ็ตอัพ บันทึกและวิเคราะห์ไปด้วย หลักปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยให้ถึงฝั่งฝันของการเซ็ตอัพลำโพงได้ในที่สุดนะครับ

            หลักการ หรือหลักกู ในหลักปฏิบัติใดๆ จะได้ผลก็ต่อเมื่อได้ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้นครับผม

หมายเหตุ: เพลงหรืออัลบั้มที่เหมาะสมสำหรับการเซ็ตอัพ ควรเลือกเพลงจากแผ่นหรือสตรีมมิ่งที่ท่านคุ้นเคย แต่ผมขอแนะนำ 5 อัลบั้มเป็นหลักในการเซ็ตอัพของผม ดังนี้

            1. The Hunter: Jennifer Warnes

            2. Don’t Smoke in Bed: Holly Cole Trio

            3. Ein Straussfest: Erich Kunzel and the Cincinnati Pops Orchestra

            4. I’ve Got The Music In Me: Sheffield Lab LAB 2

            5. Breaking Silence: Janis Ian

หมายเหตุ: เกี่ยวกับเทคนิคในการขยับตำแหน่งลำโพง สำหรับขั้นตอน Setup นั้น ในหลักปฏิบัติ (หลักกู) ของผมจะยึดถือเสมอว่า ลำโพงแต่ละคู่หรือแต่ละข้างนั้นสามารถขยับตำแหน่งของลำโพงได้ถึงสี่ทิศทางด้วยกัน จากภาพ B1 นั่นก็คือ

            – ขยับถอยหลังใน ทิศทาง a

            – ขยับเดินหน้าในทิศทาง b

            – ขยับออกจากผนังด้านซ้ายหรือขวาทิศทาง c

            – และขยับเข้าหาลำโพงอีกข้างหนึ่งในทิศทาง d

  (บางครั้ง ลำโพงบางโมเดล อาจจะต้องมีการโทอิน ลำโพง ถ้าวางลำโพงทั้งคู่ห่างกัน อันนี้พิจารณาเป็นเคสไปครับ)

            การขยับตำแหน่งในการเซ็ตอัพลำโพงนั้น  จะมีความอ่อนไหวต่อการได้ยินความเปลี่ยนแปลงของเสียงค่อนข้างมาก

            ไม่ว่าท่านจะฟังออกได้มากหรือน้อยก็ตาม ขอให้มีแรงพยายามในการผลักดันตัวเองสำหรับการเซ็ตอัพนี้ ให้ได้ดีที่สุด

            จากการขยับระยะเป็นนิ้วอาจจะเหลือเป็นเซนติเมตร และเป็นมิลลิเมตร เมื่อเรียนรู้และลองปฏิบัติ

            แล้วท่านจะแปลกใจในว่าทำไมความสามารถในการวิเคราะห์ความถี่และการได้ยินนั้นได้ซุกซ่อนอยู่ในตัวเองอยู่นานแล้ว มันสามารถปรากฏขึ้นมาได้เมื่อท่านมีความตั้งใจในการเซ็ตอัพลำโพงอย่างจริงจังอย่างสม่ำเสมอครับ

            อีกเรื่องหนึ่งคือเทคนิคสำหรับพิเคราะห์ ความสูงของการวางลำโพงแต่ละแบบนั้น ผมขอเสนอรายละเอียดตามในภาพนะครับ

• เนื่องจากมีผู้สอบถามกันค่อนข้างมากเกี่ยวกับระดับความสูงของขาตั้งลำโพงล่ะ จะยึดเอาความสูงของลำโพงที่ตรงระดับใด เพื่อจะได้ตรงกับหูของเรามากที่สุด

            หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ลำโพงทุกคู่เราควรเซ็ตอัพด้วยระดับความสูงของลำโพงที่ทวีตเตอร์ ใช่ไหม?

            เพราะนี่คือคำแนะนำของนักทดสอบเครื่องเสียงทั้งต่างประเทศ และในประเทศมาอย่างยาวนาน

            ในอดีตเราต้องยอมรับว่าความต้องการรายละเอียดของเสียงดนตรีซึ่งมักจะอยู่ที่ความถี่กลางแหลมนั้นมีส่วนทำให้ผู้แนะนำทั้งหลายมักจะให้ทุกท่านยึดกันที่ความสูงของ Tweeter เป็นสำคัญ

            อีกทั้งลำโพงที่ผลิตในอดีต ตัว Tweeter ของลำโพง มักจะกระจายเสียงทั้งในแนวราบและแนวดิ่งไม่เป็นมุมที่กว้างมากนัก ผิดแผกจากลำโพงในปัจจุบัน ซึ่งตัวขับเสียงแหลมจะมีความสามารถในการกระจายเสียงที่กว้างมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก

            ผมจึงมักแนะนำให้ท่านทั้งหลายพิเคราะห์ “ความถี่เสียงกลาง” เป็นหลัก นั่นหมายถึงยึดตรงที่มิดเรนจ์ของลำโพง หรือศูนย์กลางของลำโพงระหว่าง Tweeter  และ Woofer เพราะตรงจุดนี้เราจะได้ความสมดุลของเสียงมากที่สุด (ลำโพงสองทาง จะมีการทำงานร่วมกันของTweeter และ Woofer ในการเปล่งความถี่ mid-range)

            ภาพ B2 คือแนวไอเดีย ที่ผมวาดขึ้น เพื่อใช้พิจารณาระดับความสูงของลำโพง และระดับหูผู้ฟังนะครับ

            ขอให้ทุกท่านโชคดีในการเซ็ตอัพลำโพงของท่าน

            ค่อยเป็นค่อยไปนะครับ ไม่ต้องเครียดและจริงจังจนเกินเหตุ การปรับการขยับแต่ละครั้งคือพัฒนาการเรียนรู้ และช่วยฝึกฝนการฟังที่ดียิ่งขึ้นครับ