MUSICAL FIDELITY A1

ที่สุดของแอมป์คลาส A อมตะ ภาคที่ 1

            ในแวดวงเครื่องเสียงไฮไฟ MUSICAL FIDELITY A1 กลายเป็นหนึ่งในสุดยอดแอมป์คลาสสิกที่สวยงามทั้งภายนอกและภายใน

            ย้อนหลังไปในปี 1985 การเปิดตัว MUSICAL FIDELITY A1 ได้สร้างแรงกระเพื่อมอันมหาศาลต่อตลาดอุปกรณ์เครื่องเสียงในฐานะม้ามืดจอมพลังที่สามารถรับมือกับลำโพงแทบทุกคู่ที่ว่ากันว่าขับเสียงยากๆ ในช่วงเวลานั้น

            ทั้งที่มี Spec ว่าเป็นอินทิเกรทแอมป์ที่มีกำลังขับไม่มาก แต่ในความเป็นจริง MUSICAL FIDELITY A1 เป็นแอมปลิไฟเออร์แบบคลาส A แท้ๆ ภายในถูกออกแบบอย่างชาญฉลาดในการวางผังวงจรเป็นอิสระอย่างสมดุล และใช้ชิ้นส่วนเกรดสุดยอดทุกชิ้น

            A1 จึงประกาศตัวอย่างโดดเด่นให้เห็นว่า แอมปลิไฟเออร์มิได้มีความหมายเพียงการมีกำลังขับมากๆ

            ด้วยความสำเร็จอันท่วมท้น ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา A1 จึงถูกพัฒนาและปรับปรุง และมีรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเครื่องเสียงเสมอมา

            ณ ปัจจุบันปี 2023 นับเป็นวาระพิเศษที่ทีมออกแบบ ตัดสินใจนำเอา Spec ของ MUSICAL FIDELITY A1 รุ่นแรก ทุกรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์หรือผังวงจรของแอมป์ในปี 1985 นำมาให้ผู้ที่ถวิลหาความคลาสสิกอันเป็นต้นฉบับได้สัมผัส

            แต่สิ่งสำคัญที่ถูกพัฒนาก้าวกระโดดไปคือภาคจ่ายไฟ ทรานสฟอร์เมอร์ที่พัฒนาดีขึ้น ภาคเพาเวอร์ซัพพลายรุ่นใหม่ และชิ้นส่วนแบบ Low noise ที่ดีกว่าเดิม ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทีมออกแบบใช้ในการชุบชีวิตให้กับ MUSICAL FIDELITY A1 เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าในรูปลักษณ์เดิมๆ หลังจากกาลเวลาผ่านไปกว่าสามทศวรรษ

เรื่องราวด้านเทคนิค

            อินทิเกรทแอมป์ A1 ถูกออกแบบวงจรให้แยกกันอย่างอิสระ และวางวงจรภาคขยายเป็นคลาส A แบบสมดุล ดังนั้นจึงสามารถให้ Output ถึง 25W แบบ Pure class A ที่ความต้านทาน 8 โอห์ม ด้วยกำลังขับสูงสุด 25 วัตต์ แม้ตัวเลขกำลังขับจะไม่สูง แต่ก็สามารถขับลำโพงที่กินกำลังวัตต์สูงได้อย่างอัศจรรย์

            เคล็ดลับคือ ภาคขยายถูกออกแบบเป็นไดนามิกคลาส A ดังนั้นหากกำลังขับสูงกว่ากระแสของคลาส A วงจรก็ยังมีกำลังสำรอง โดยจะปรับไปเป็นการทำงานแบบคลาส B อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ ช่วยให้มีกำลังขับมากพอในช่วงเวลาสั้นๆ

ภาคเพาเวอร์ซัพพลาย

            อินทิเกรทแอมป์ A1 รุ่นใหม่ ใช้ทรานสฟอร์เมอร์ที่ปรับปรุงใหม่ (จากรุ่นปี 1985) โดยเทคโนโลยีพันขดลวด “Dual mono split rail” อันทรงประสิทธิภาพ ภาคขยายรับกระแสที่มาจากภาคจ่ายไฟซ้ายและขวาที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด จึงสามารถควบคุมกำลังขับได้เต็มที่ ให้สเตอริโออิมเมจดีเยี่ยม เพาเวอร์แอมปลิไฟเออร์แต่ละแชนแนลจึงมีกำลังขับเหลือเฟือ ขจัดความพร่าเพี้ยน และเสียงรบกวนได้หมดจด

            เสียงรบกวนและปัญหาเรื่องความร้อนขณะทรานสฟอร์เมอร์ทำงานลดลงมาก จากการใช้ชิ้นส่วนประกอบที่ดีขึ้น มีการฟิลเตอร์ภาคจ่ายกระแส เพื่อให้ได้กระแสไฟฟ้าที่สม่ำเสมอ และลดปัญหาของไฟกระชาก

            วงจรภาคปรีแอมปลิไฟเออร์ Low noise ยังคงเหมือนเดิมเช่น A1 รุ่นปี 1985 แต่มีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก เพราะภาคเพาเวอร์ซัพพลายที่ให้กระแสได้สม่ำเสมอ และราบเรียบกว่าของเดิม ตามที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น

            นอกเหนือจากการปรับปรุงต่างๆ ที่กล่าวมา สิ่งหนึ่งที่จะสะดุดตา (สำหรับผู้ที่คุ้นชินกับหน้าปัดเดิม) ทันทีที่เห็นคือ ปุ่มใหม่ “Direct” สวิตช์สำหรับภาคปรีแอมป์ การกดสสวิตช์นี้จะช่วยให้สามารถบายพาสสัญญาณข้ามอุปกรณ์ Gain Block ก่อนเข้าไปยังตัวปรับระดับเสียง ซึ่งจะทำให้ลดค่า Gain ลงได้ราว 10dB คุณสมบัตินี้เป็นประโยชน์มากเมื่อเชื่อมต่อใช้งานกับแหล่งโปรแกรมดิจิตอล High-output ช่วยให้คุณสามารถปรับชุด Volume Potentiometer โดยละเอียด และสามารถใช้ขับลำโพงที่เซนซิทีฟมากๆ ได้เป็นอย่างดี

            ยิ่งไปกว่านั้นชุดปรับระดับเสียง Volume Potentiometer ก็ได้รับการอัพเกรดเป็นแบรนด์ ALPS RK ระดับพรีเมียม อุปกรณ์คุณภาพสูงเยี่ยมนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และความแม่นยำระดับสุดยอด ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งคือ เราได้เพิ่มมอเตอร์เข้ากับชุดปรับระดับเสียง Potentiometer คุณจึงสามารถปรับระดับความเบา-ดังของเสียงได้ง่ายๆ แม้จะนั่งฟังอยู่ที่เก้าอี้ตัวโปรด ด้วยการใช้อุปกรณ์รีโมทคอนโทรล ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ให้สำหรับ A1 รุ่นใหม่

            ภาคที่ 2 ต่อไปเราจะเข้าไปพิเคราะห์การออกแบบปรีโฟโน ที่ A1 รุ่นใหม่ ที่มีทั้งส่วนขยาย RIAA ทั้ง MM/MC