กู้เซิ่งยิง (顾圣婴)-นักเปียโนผู้สังเวยพิษการเมือง

0
2758

กู้เซิ่งยิง (顾圣婴)-นักเปียโนผู้สังเวยพิษการเมือง                                           by: Tawatchai Meng

เครื่องดนตรีเปียโนเริ่มเข้าสู่ประเทศจีนในสมัยปลายราชวงศ์ชิง (1644 – 1911) และเริ่มแพร่หลายสู่วงกว้างหลังจากสิ้นราชวงศ์ชิงสู่สาธารณรัฐ รวมทั้งด้านการเรียนการสอนเปียโน ทำให้อาชีพนักเปียโนชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาทำมาหากินในจีนมากขึ้น ส่วนนักเปียโนที่เป็นคนจีนแท้ๆ นั้น เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ต้องรับทั้งศึกนอก คือ การรุกรานจากญี่ปุ่นและสงครามภายใน กว่าที่นักเปียโนจีนจะผลิดอกออกผลได้ก็หลังจากที่ก่อตั้งประเทศจีนใหม่แล้ว

แต่หลังจากก่อตั้งประเทศจีนใหม่ได้ไม่นาน ก็เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งกลุ่มเรดการ์ด (Red Guard) ซ้ายจัดที่ต่อต้านสิ่งที่เป็นของตะวันตกทุกอย่าง รวมทั้งดนตรีด้วย ดังนั้น นักดนตรีที่เล่นดนตรีตะวันตกจำนวนไม่น้อยจึงประสบชะตากรรมอันเลวร้ายต่างๆ นานา ขั้นเลวร้ายสุดก็ถึงขั้นเสียชีวิต และกู้เซิ่งยิง (顾圣婴) ก็คือหนึ่งในนั้น ซึ่งเธอไม่ใช่คนแรก และก็ไม่ใช่คนสุดท้ายที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้

นับตั้งแต่การปฏิวัติวัฒนธรรมอุบัติขึ้น กู้เซิ่งยิงก็ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างขวัญผวาตลอดเวลา เพราะเธอกลัวว่าจะถูกจับไป ”วิพากษ์” (ซึ่งก็คือการตั้งศาลเตี้ยพิพากษากลางที่สาธารณะ) ดังนั้น ชีวิตประจำวันของเธอจึงมีแค่ไปสถาบัน Shanghai Symphony Orchestra เพื่อร่วมศึกษาวิชาการเมือง(ในช่วงนั้นก็คือ แนวคิดเหมาเจ๋อตงเป็นหลัก)แล้ว ก็จะหลบอยู่แต่ในบ้านไม่กล้าออกไปไหน แต่แล้วเมื่อเดือนกันยายน 1966 เพื่อนบ้านสนิท ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์ของเธอและเป็นนักเปียโนเช่นกันฆ่าตัวตายพร้อมกันทั้งสองสามีภรรยา ทำให้เธอสะเทือนใจยิ่ง แต่ก็ได้แต่เก็บเงียบอยู่ในใจ

แต่แล้ววันที่ 31 มกราคม ปี 1967 ขณะที่เธออยู่ในห้องซ้อมดนตรีของ Shanghai Symphony Orchestra เธอก็ถูกพวกเรดการ์ดลากเธอขึ้นเวที และตบหน้าพร้อมกับกระชากผมเธอต่อหน้าผู้คนมากมาย และบังคับให้เธอคุกเข่าลงต่อหน้ารูปถ่ายของเหมาเจ๋อตงเพื่อขอโทษ โดยเธอถูกตั้งข้อหาว่า “เป็นพวกสมคบต่างชาติทำการขายชาติ” “ต่อต้านการปฏิวัติ”… แล้วบอกให้เธอวันรุ่งขึ้นมารับคำพิพากษาแต่โดยดี

เช้าวันรุ่งขึ้น เธอกับแม่และน้องชาย ได้ใช้แก๊สรมตัวเองจนเสียชีวิตในขณะที่เธออายุได้ 30 ปีเท่านั้น นักเปียโนจีนที่ได้รับฉายาว่า “นักเปียโนระดับมือพระกาฬ” ก็ต้องจบเส้นทางชีวิตของตัวเองลงเช่นนี้

ความสามารถด้านเปียโนของเธอฉายแววตั้งแต่เด็ก พออายุ 16 เธอได้ร่วมงานกับ Shanghai Symphony Orchestra และในปีถัดมาเธอก็ได้เป็นมือเดี่ยวเปียโนของวง พออายุ 18 ก็มีการแสดงเดี่ยวเปียโนของเธอและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

ปี 1957 เธอเข้าแข่งขันเปียโนเยาวชนโลกครั้งที่ 6 ที่มอสโก และเป็นนักเปียโนจีนคนแรกที่ได้เหรียญทอง จนเป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องจากทั่วโลกในความสามารถของเธอ โดยเฉพาะการเล่นเพลงของ Chopin จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า ไม่มีใครเล่นได้ดีเท่าเธอแล้ว และเธอเกิดมาเพื่อบรรเลงเพลงของ Chopin โดยเฉพาะ และเมื่อครั้งที่ไปแสดงที่โปแลนด์นั้น เธอได้รับของขวัญจากรัฐบาลโปแลนด์เป็นรูปปั้นปูพลาสเตอร์ของ Chopin ที่ถือเป็นของขวัญล้ำค่าที่สุดในชีวิตสำหรับเธอ

เธอเป็นคนที่จริงจังกับเปียโนมาก และมักจะฝึกซ้อมจนลืมกินลืมนอน เมื่อเวลาอยู่เฉยๆ เธอจึงดูซีดเซียวเหมือนคนอมโรค แต่เมื่อไหร่ที่ได้เล่นเปียโนแล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นคนละคน มีชีวิตชีวาเหมือนมีอะไรเข้าสิงทันที และเนื่องจากตั้งแต่วัยเด็ก เธอใช้ชีวิตอยู่แต่ในหอคอยงาช้าง แม้เธอจะโตเป็นผู้ใหญ่แต่ก็เหมือนเด็กที่ไม่ยอมโต เธอจึงมองดูโลกด้วยสายตาที่ใสซื่อ ดังนั้น การต้องมาเผชิญกับเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรม เธอจึงรับไม่ได้

น่าเสียดายที่ตลอดชีวิตของเธอนั้น เธอได้บันทึกผลงานการบรรเลงเปียโนของเธอไว้น้อยมาก และที่พอจะหาได้ก็คือ ผลงานที่เก็บไว้ที่ China Record Corporation (บริษัทนี้มีผลงานของศิลปินจีนรุ่นเก่าเก็บไว้ค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นบริษัทบันทึกเสียแรก ๆ ที่ก่อตั้งในจีน) ซึ่งเป็นผลงานบรรเลงเปียโนซึ่งเป็นแผ่นคู่    

ฟังเพลงบรรเลงจากกู้เซิ่งยิง ในบทเพลง Etude in F major Op. 10 No 8 ของ Chopin

*ภาพจากอินเทอร์เน็ต

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here