การฟังเพลงจากเครื่องเสียง คือการจำลองเสียงดนตรี
ดังนั้นการเล่นเครื่องเสียง จึงเป็นการจำลองดนตรีขึ้นในบ้าน หรือห้องฟังของเรา 1. ความใกล้เคียงความจริง กับ 2. ความพอดีในรสนิยมของเรา จึงต้องประสานกันให้พอดี
และ นัยยะ ความหมายของเครื่องเสียง คือ มีไว้เพื่อฟังดนตรีเท่านั้น
สิ่งที่สตูดิโอต่างๆ ได้ทำการบันทึกเสียงมาให้เราฟัง ก็ต้องบอกว่าเป็นจินตนาการของซาวนด์เอนจิเนียร์บวกกับอารมณ์เพลงของศิลปินหรือผู้แต่งเป็นพื้นฐาน
การจัดชุดเครื่องเสียงภายในบ้านเพื่อฟังเพลงนั้นถ้าเราเดินไปจนถึง ความมุ่งหมายสากล ที่เรียกว่าไฮฟิเดลิตี้ก็นับว่าเป็นจุดที่ดีที่สุด high fidelity (ใกล้ความจริงที่สุด)
ทุกสิ่งคงไม่สามารถ สมจริงที่สุดได้ ถ้าเราขาดประสบการณ์ที่ว่า จริง นั้นจริงแค่ไหน? แค่ไหนพอดี อย่างไรเรียกขาด อย่างไรคือเกิน
เมื่อรสนิยมของเรา มาผูกติด กับตัวเอง การเลือกเครื่องเสียง จึงมีความ ขาด เกิน ไปตามจริตของแต่ละคน
แต่หลักการข้อที่ 1. จะต้องไม่สูญหายไป ถ้าจริต สไตล์รูปแบบของตัวเรามีมากไป เราก็จะห่างไกล คำว่า high fidelity โดยไม่รู้ตัว
การรู้จักสิ่งที่จะฟัง ดนตรี!
ผมเชื่อว่าตรงนี้ มีความจำเป็นในระดับหนึ่ง เนื่องจากทุกคนฟังดนตรี ถ้าไม่รู้จักดนตรี ไม่รู้แนวทาง ไม่เปิดใจให้กว้างขวาง เมื่อฟังเพลงที่ชอบอย่างเดียว สไตล์เดียว โลกทัศน์เดี่ยว ก็จะเดินเข้าสู่จุดที่เรียกว่าคับแคบ
ดังนั้นเรื่องของประเภทเพลงศิลปินความชื่นชอบในสิ่งเหล่านี้ควรจะขยายขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้เราได้ฟังเพลงที่แตกต่างทำให้ไม่เบื่อในการที่จะเล่นเครื่องเสียง
สิ่งที่ผมอยากจะแชร์ประสบการณ์ครั้งนี้คือ องค์ประกอบดนตรีที่เรารับฟัง
เสียงดนตรี นั้น เป็นดั่งเสียงสวรรค์ที่พระเจ้ามอบแด่มนุษย์โลก ความไพเราะเริ่มต้นจาก โทนเสียง สูงต่ำที่จัดขึ้นอย่างมีรูปธรรม มีสัดส่วน กลมกลืน ขัดแย้งที่พอสมควร และประสานกันอย่างลงตัวทั้งเสียงร้อง เสียงดนตรี
เมโลดี้ เสียงสูงต่ำสั้นยาว จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง กำหนดรูปแบบให้เป็นศิลปะที่ติดตาตรึงใจผู้คนได้ การสร้างความเร้าใจ จะเกิดได้ด้วยท่วงทำนองแล้วประสานกับจังหวะ หรือ Rhythm จังหวะสั้น ยาว ช้าเร็ว ถูกกำหนดเป็นมาตรฐาน
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เพลงเพราะในจินตนาการของเรา คือ ฮาร์โมนี หรือการประสานกันของเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด และเสียงร้องศิลปิน การประพันธ์เพลงของนักแต่งเพลง ล้วนแล้วแต่มีรูปแบบเฉพาะตน
เพลงที่เกิดจากแรงบันดาลใจ มาสู่ การเรียบเรียงเสียงดนตรีให้มีลักษณะลีลาเฉพาะตัว และแตกต่างจากกันแม้ว่าจะเป็นเพลงนั้นๆ จะอยู่ในประเภทเดียวกันก็ตาม มันทำให้เครื่องเสียงที่เราใช้อยู่นั้นมีคุณค่าอย่างไม่สิ้นสุด
ตราบเท่าที่โลกนี้ยังมีเพลงให้เรา ฟังเครื่องเสียงก็ยังมีคุณประโยชน์มีความหมาย แต่ถ้าเมื่อใดโลกขาดการสร้างสรรค์เสียงดนตรี เครื่องเสียงของเราก็คือเศษเหล็กดีๆ นั่นเอง
และด้วยพลังอันมหาศาลของเครื่องดนตรี Energy ค่าไดนามิคที่สูง ชิ้นดนตรีที่มากมายหลายชิ้นนั้น ระบบใดๆ ไม่ว่า ดิจิตอล หรืออนาล็อก ก็ไม่สามารถที่จะยกทุกสิ่งทุกอย่างไปอยู่ในเครื่องเสียงได้ทั้งหมด
ความจริงของดนตรีร้อยชิ้นไม่อาจสำแดงความจริงผ่านการขยายให้กับลำโพงคู่เดียว
การย่อส่วนหรือการจำลองเสียงดนตรีโดยวิธีการต่างๆ ของซาวนด์เอนจิเนียร์ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมานาน พัฒนาจากยุค สู่ยุค จึงทำให้เราได้ฟังและใช้ประโยชน์จากเครื่องเสียงกันอย่างเป็นสุขตลอดมา
แต่ ไม่ควรลืมว่า ทุกอย่างคือโลกจำลองที่ให้เสมือนจริง
และ ”ความจริง” ของคนออกแบบ เครื่องเสียง ลำโพง ก็แตกต่างกันไป ความจริง ความพอใจของนักฟังทั้งหลายก็ต่างกันด้วย
รสนิยมเครื่องเสียง จึงหลากหลาย
งบประมาณในการเลือกซื้อเครื่องเสียงของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ความพึงพอใจในเครื่องเสียงแต่ละแบรนด์ก็แตกต่างกันไปด้วย
ความสุขในการเล่นเครื่องเสียงก็ยิ่งแตกต่างกันออกไปอีก แต่ละวิธีของแต่ละคนแต่ละกลุ่มจึงเป็นเสมือนดอกไม้หลากสีสันที่อยู่ในแวดวง Audiophile
เครื่องเสียงบางแบรนด์ ใช้การตลาดนำหน้า บางระดับบางรุ่น บางแบรนด์ ใช้เทคโนโลยีไอเดียความดีงาม ความสมบูรณ์อย่างไม่อั้น เอาความเป็นที่สุดนำหน้าการตลาด
เราจึงต้องเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงจุดมุ่งหมายของเครื่องเสียงเหล่านั้น ว่าผลิตอย่างไร และ เพื่อใคร กลุ่มไหน
ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีของเครื่องเสียงและความรู้ในเรื่องของดนตรีหรือเพลงจะต้องคู่กันไปตลอดในโลกจำลองเหล่านี้
ผมขันอาสามาบรรยายเรื่องราวเหล่านี้ตามประสบการณ์เพื่อให้ท่านได้ติดตามอ่านและใช้เป็นข้อคิด สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ก็เก็บเอาไว้ สิ่งใดที่คิดว่าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่จำเป็นต้องจดจำ
เราจะเดินทางสำรวจโลกจำลอง หรือโลกของเครื่องเสียงและดนตรีกันในครั้งต่อไปใน Chapterที่ 2 ขอบคุณครับ