ชีวิตกับเครื่องเสียง Chapter 2

0
7869

ชีวิตกับเครื่องเสียง  Chapter 2

เครื่องเสียง..เลือกด้วยเหตุผล

ตัดสินใจด้วยหัวใจ

ก่อนก้าวเข้าสู่ การเล่นเครื่องเสียง หลักสามประการที่ไม่ควรมองข้ามคือ หลักแห่งเหตุผล หาประสบการณ์ และเวลา ที่ต้องมีระยะเวลาให้เหมาะสม ไม่รีบร้อน คืนก่อนขณะฟังเครื่องเสียงอยู่ ผมก็คิดถึง ปฏิสัมพันธ์ ระหว่าง เครื่องเสียง และเพลงหรือดนตรี ขึ้นมา

มีเพลงจำนวนหนึ่งเมื่อฟังแล้ว ทำไมเราสนุกเพลิดเพลิน ได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น จากนั้นก็ค่อยๆ ลืมเลือนไปในเวลาไม่ช้าไม่นาน ทั้งที่เราทราบเสมอว่า กว่าที่ศิลปินจะสร้างผลงานมาได้ ต้องใช้เวลา ใช้ความคิดประดิษฐ์สรรค์สร้างอย่างสุดชีวิตของพวกเขา

และเพลงที่ฟังได้ครั้งเดียวแล้วผ่านไป นั้นมิใช่ว่าเพลงจะไร้คุณภาพนะครับเพียง แต่ไม่อาจตรงใจ หรือตรงกับความต้องการของเรา

เพลงนั้นๆ อาจไม่มีส่วนใดที่จะสร้างความไพเราะลึกซึ้งลงไปถึงก้นบึ้งของหัวใจของเราได้

ในขณะที่เพลงอีกจำนวนหนึ่ง กลับสามารถฟังได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แทบไม่เคยเบื่อ ต้องมีจิตวิญญาณ อะไรสักอย่างในเพลงที่สื่อถึงเราได้

มันเป็นเรื่องที่แปลกอยู่ไม่น้อย

เราชอบศิลปินบางคนอย่างมาก ทั้งในแง่เสียงร้องและดนตรี แต่ในเพลงสไตล์เดียวกัน. เรากลับไม่ได้ชื่นชมศิลปินคนอื่น  แม้ความสามารถก็ไม่ได้ด้อยกว่ากัน

อะไรคือความต่าง?

บทประพันธ์ เนื้อหา ความสอดคล้องเนื้อหาที่สอดคล้อง การแยกเสียงประสาน เสียงเมโลดี้ จังหวะ ฮาร์โมนี และการบันทึก เป็นองค์ประกอบโดยรวม ทำให้เพลงทุกเพลงต่างจากกัน

บางเพลงที่ทำให้รู้สึกลึกซึ้งตรึงใจก็อาจจะมาจากอดีตของเรา หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ได้สั่งสม ฟังมาซ้ำๆ หลายช่วงเวลา ความงดงามไพเราะมาพร้อมกับบทเพลงนั้นๆ เป็นเรื่องของ ระยะเวลา อีกส่วนหนึ่งด้วย

หลักในการรับรู้ก็คือเพลงที่ไพเราะ มักจะมีความหมายมากกว่าเพียงแค่ความสอดคล้องของดนตรี และเสียงร้องเท่านั้น มันสั่งสม และค่อยๆ ซึมลึก ครับ

อาจจะมีอะไรที่ลึกซึ้งไปยิ่งกว่านั้น  ที่เราไม่สามารถจะอธิบายออกมาได้ทั้งหมด ว่าทำไมชอบสิ่งนั้น ทำไมไม่ชอบสิ่งนี้

แต่เมื่อได้ฟังเพลงที่ถูกจริต อย่างรับรู้ได้ ก็คือความสุขและความอิ่มเอิบที่ได้รับจากเพลงดังกล่าว

เมื่อพูดถึงดนตรีหรือเพลงแล้ว ผมก็อดที่จะนำมาเปรียบเทียบกับเครื่องเสียงที่เราใช้อยู่ไม่ได้

จะมีเครื่องเสียงแบบใด ลำโพงรุ่นไหน ที่เป็นเสมือนเพลงที่เราชื่นชม ศิลปินคนโปรด คนใดที่ ฟังได้โดยมิรู้เหนื่อยหน่าย ไม่อยากเปลี่ยน และไม่อยากจากมันไป

เครื่องเสียง-ลำโพงจำนวนมาก ที่ได้ฟังแล้วรู้สึกตื่นเต้นเพียงชั่วขณะ เมื่อสนุกกับมัน

จากนั้น เมื่อผ่านไปนานชั่วโมง…. นานวัน เราจะค่อยๆ เกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่ายเครียดขึ้ง และจืดจางลง โดยไม่รู้สาเหตุ

อาจเป็นได้ว่าเราไม่ชอบ โดยไร้คำอธิบาย

คุณภาพเสียงหรือบุคลิกของซิสเต็มเครื่องเสียงจำนวนหนึ่ง เป็นเช่นที่ว่าจริงๆ ฟังดี แต่ไม่ไพเราะ?

ผมได้พยายามสังเกตอยู่เสมอในรอบหลายปีที่ผ่านมา

พบว่าเครื่องเสียงหรือลำโพงส่วนหนึ่งสร้างความตื่นเต้นเร้าใจได้มาก ในการฟังครั้งแรก ทำให้นักฟังเผลอลืมตัวเอง หลงใหลในความถี่ ที่เครื่องเสียงสร้างขึ้น แล้วตัดสินใจซื้อในระยะสั้นอย่างรวดเร็ว

เพราะว่า มันทำเสียงแบบนั้น หรือแบบนี้ได้ น่าตื่นเต้นจริงๆ

ที่สุดแล้ว กลับไม่ใช่เสียงที่เราต้องการจริงๆ ในระยะการฟังที่ยาวนาน เป็นเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนในที่สุด

ความตื่นเต้นความประทับใจในครั้งแรกฟังนั้น มักจะไม่ใช่สิ่งที่อยู่กับเราได้อย่างยั่งยืนมั่นคงเสมอไป

ดนตรีที่เปล่งออกมาอย่างมีชีวิตชีวาจากระบบเครื่องเสียงที่ทำให้เราประทับใจตอนแรก ส่วนใหญ่มีสีสัน  ทุกอย่างมัก ”ล้น” ออกมาจากความจริง

นั่นเอง คือสาเหตุที่ทำให้เครื่องเสียง ลำโพงหลายชุด ฟัง ”สนุก” ระยะสั้น แต่ไม่ ”สุข”  ในระยะยาว

โสตของผู้คนจำนวนมาก ล้วนเพลิดเพลินสนุกสนานกับความ “ฉับพลัน” ที่ได้ยินครั้งแรกเสมอ เป็นช่วงเวลาซึ่งสมองขาดความสังเกต

เพราะความแพรวพราวของเสียงที่ความถี่ต่างๆ มันเร้าใจนัก

อะไรที่มาฉาบฉวย ก็แค่ทำให้เข้าถึงแต่ส่วนที่เป็นผิว ทว่าไม่สามารถเข้าถึงแก่นดนตรีที่แท้จริงได้ 

เพราะหลงในความสนุกกับความ “เกินจริง” ในช่วงสั้นนั่นเอง

การเลือกหาเครื่องเสียงชุดแรกๆ ในชีวิต คนเล่นเครื่องเสียง มักจะประเมินด้วยการคิดคำนวณ แบบตั้งไว้ที่ “หลักการ”

สมองที่คิดด้วยเหตุผล ยึดติด เชื่อมั่นแบรนด์ ติดในเอกลักษณ์ ประเมินความคุ้มค่า ราคา กะเกณฑ์เอาความโดดเด่นของย่านความถี่ มันก็เป็นเรื่องที่ดี

แต่ในการเลือก จะเอาแค่เหตุผล หรือหลักการอย่างเดียวย่อมไม่ได้

ควรถามส่วนลึกในใจของเราเสมอว่ามันใช่จริงๆ หรือไม่?

สมองแรกสัมผัส แบบเอาหลักการ จึงมักหลงทาง กับสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ได้ง่าย หรือพลาดเสียงดีๆ ไปอย่างไม่น่าเชื่อ

อะไรที่อิงธรรมชาติน้อย นานไปเข้า ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย เพราะมัน “ขาด” หรือ “เกิน” มากไป

จากการสังเกตตลอดมาของผม ลำโพง และชุดเครื่องเสียงที่ดีจะต้องไม่ให้ความรู้สึกตื่นเต้นกับเราในฉับพลันทันที

แต่ความไพเราะ สวยงามจะค่อยๆ ปรากฏทีละเล็กน้อย ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนน้ำซึมบ่อทราย ทวีความน่าประทับใจไปได้อย่างไร้ที่สิ้นสุด

ลำโพงที่แรกฟังรู้สึกเรียบๆ จืดๆ ไม่มีสีสันเร่งเร้า แต่ฟังนานๆ เข้า เสียงดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเราและเครื่องเสียงค่อยๆ ทำความรู้จักกัน นั่นคือลำโพงที่เราอยากจะใช้ชีวิตอยู่ด้วย

ลำโพง เครื่องเสียง ชั้นดี ทำแต่ละช่วงเวลา มีคุณค่า และแนบแน่นขึ้นทุกครั้งที่ได้ฟัง นั่นคือสิ่งที่จะอยู่คู่หูเราได้นานวัน

การใช้เวลาฟัง พินิจพิจารณา ให้นานๆ และหลายครั้ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด อย่าใจเร็วด่วนได้

จงปล่อยให้ส่วนลึกในจิตใจ มีโอกาส ซึมซับไปทีละน้อย

เพลงบางเพลง ทำไมเราฟังได้ทุกครั้งไม่เบื่อหน่าย เพลงบางเพลงฟังสนุกที่สัมผัสแรก แล้วก็เสื่อมคลาย

เครื่องเสียงก็มีส่วนคล้ายกัน

แบบแรก ฟังสนุกตอนต้น กลับทุกข์ภายหลัง อีกแบบฟังแรกเรียบง่าย ยิ่งนานไปยิ่งไพเราะลึกซึ้ง จงเลือกมันด้วยเหตุผล และที่สุดควรตัดสินด้วยหัวใจ และที่สำคัญ ต้องให้ระยะเวลา มากพอสมควรครับ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here